‘จักรยานคือวัตถุที่งอกได้’

ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ 


‘จักรยานคือวัตถุที่งอกได้’ thaihealth


กระแสรักสุขภาพนับเป็นเทรนด์ใหม่ของคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองตามแต่ละภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพผุดขึ้นอย่างมหาศาล 


หนึ่งในเทรนด์ของคนรักสุขภาพคงหนีไม่พ้น “การปั่นจักรยาน” เพราะเป็นกิจกรรมที่คนไทยให้ความสนใจกันทั่วทุกหัวระแหง ซึ่งจากการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพนานไปก็กลายเป็นการสะสมจักรยานควบคู่ไปกับการออกกำลังกายและท่องเที่ยว


"บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์" ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งคนที่มีจักรยานไว้เพื่อตอบโจทย์ตัวเอง ทั้งเรื่องสุขภาพ ท่องเที่ยว และการสะสม "จริงๆ เข้ามาโลกของจักรยานเพราะอาจารย์ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพ ผมทำงานกับอาจารย์มาสักระยะหนึ่ง เมื่อปี 2554 อาจารย์ชวนไปปั่นจักรยานแถวบ้านที่ปทุมธานี ตอนนั้นเพิ่งทำงานเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในมาบตาพุด พอทำงานเสร็จก็ไปเที่ยวกัน ปั่นจักรยานครั้งนั้นประมาณ 20 กว่ากิโลเมตร จากนั้นมาช่วยให้เรากระตุ้นความทรงจำในวัยเด็ก วันนั้นอาจารย์พาไปวัดที่สมถะ ชาวบ้านที่ทำปลาทูใส่เข่งริมคลองรังสิต เราก็รู้สึกว่าขี่จักรยานมันได้บรรยากาศ รู้จักชีวิตคน และได้ในสิ่งที่ไม่เคยได้เมื่อเราขับรถยนต์


‘จักรยานคือวัตถุที่งอกได้’ thaihealth


อ.บัณฑูร เล่าถึงโมเมนต์ในการไปซื้อจักรยานช่วงแรกๆ ว่า หลังจากนั้นปีสองปีเริ่มมีประเด็นเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน เลยมาคิดว่าเราต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน ก่อนที่จะไปเรียกร้องให้คนอื่นเปลี่ยน เราเลยเอาจักรยานมาใช้เพื่อการเดินทางไปประชุมจากราชเทวีไปเทเวศร์ จักรยานคันแรกตอนนั้นราคา 8,000 บาท ยี่ห้อเปอโยต์ ไปซื้อที่ร้านแถวเชียงกงหลังจุฬาฯ จักรยานคันนั้นเป็นแนวทัวริ่งใส่ของใส่อุปกรณ์ไปทำงานทั้งที่ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) และ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)


“นานๆ ไปเริ่มสนุก และมารณรงค์กิจกรรม Bike Co2 Offset ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ทำซอฟต์แวร์สำหรับเก็บข้อมูลว่าเดิมคุณขับรถยนต์ใช้น้ำมันอะไร พอมาปั่นจักรยานก็ใส่ข้อมูลเข้าไป โปรแกรมจะคำนวณว่าการที่คุณปั่นจักรยานสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่”


จากนั้นนักวิชาการผู้หลงใหลกีฬาสองล้อ เริ่มเล่าถึงจักรยานที่ชื่นชอบว่า “ตอนนี้ทั้งของผมและภรรยาน่าจะมีจักรยานรวมกันประมาณ 20 คัน ส่วนใหญ่ผมชอบจักรยานที่มีที่มาที่ไป หรือมีเรื่องราวของมันเอง เช่น ผมจะมีจักรยานสมัยสงครามโลกยี่ห้อเปอโยต์เหมือนกัน คันนั้นจักรยานจะมีอานที่โค้งเพื่อให้ทหารที่กระโดดร่มลงสามารถแบกจักรยานมาด้วยได้ หรือจักรยานยี่ห้อคาดิลแลค (Cadillac) ผมมีอยู่สองคัน คันหนึ่งไปตามหาที่ จ.ตาก และจักรยานยี่ห้อซาบ (SAAB) ซึ่งเป็นยี่ห้อรถยนต์เหมือนกัน จักรยานซาบที่มีจะเป็นจักรยานใหญ่เรียกว่า 'ตัวพ่อ' กับจักรยานเล็ก 'ตัวลูก' ผมก็ไปเสาะหามาเพื่อให้ได้มาคู่กัน”


‘จักรยานคือวัตถุที่งอกได้’ thaihealth


เคยได้ยินยี่ห้อจักรยานราเล่ย์ (Raleigh) ไหม เป็นของอังกฤษ เข้าเมืองไทยสมัยที่ประเทศไทยให้สัมปทานป่าไม้แถวภาคเหนือ จักรยานยี่ห้อนี้ผมได้ยินมานานแล้ว เป็นจักรยานทรงแม่บ้านที่แข็งแรงมาก คนไทยตอนนั้นเอาไปขนท่อนไม้ ผมอยากได้มากและก็ต้องไปหาจนได้มา 4 คัน ทุกวันนี้ถึงจะมีขายอยู่แต่ก็ไม่ได้เป็นรุ่นโบราณแล้ว มีแต่รุ่นใหม่


“สำหรับคนปั่นจักรยานจะมีสุภาษิตว่า 'จักรยานคือวัตถุที่งอกได้' ของผมก็งอกประมาณ 20 คันได้ แต่ผมก็ขายให้เพื่อนด้วยนะ เพื่อส่งเสริมให้คนใช้จักรยานและขายให้ ผมจะขายให้กับคนที่รู้จักกันเท่านั้น ไม่ได้ขายทั่วไป ภรรยาก็เป็นนักปั่นจักรยานด้วย ทำให้เวลาเราซื้อจักรยานมาไม่สามารถปิดบังเขาได้ เพราะเขาจะรู้ (หัวเราะ) ส่วนลูกช่วงแรกๆ ก็มาร่วมด้วย แต่พอมาตอนนี้เริ่มเป็นสาวเต็มที่ก็เริ่มห่วงเรื่องความสวยความงาม เลยไม่ได้ไปด้วยเท่าไหร่”


อ.บัณฑูร ยกทริปปั่นจักรยานที่ประทับใจที่สุด คือ จ.อ่างทอง และโปแลนด์ “ประทับใจที่สุดเห็นจะเป็นทริปที่ จ.อ่างทอง เป็นการปั่นเลียบแม่น้ำน้อย วิวสวยมาก ดูทุ่งนา แวะไหว้พระนอน ไปถึงสิงห์บุรี ปั่นไปเรื่อยๆ กินข้าวตามร้านของชาวบ้าน ประมาณ 100 กว่ากิโลเมตรเห็นจะได้ หรืออีกทริปที่โปแลนด์ที่ได้ไปดูประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามโลก ได้เห็นบาดแผลของสงครามและค่ายกักกัน”


“ปีนี้อาจารย์ธงชัยชวนไปเนเธอร์แลนด์เพื่อร่วมประชุมวิชาการเกี่ยวกับจักรยาน ซึ่งครอบคลุมถึงการออกแบบผังเมือง การออกใบขับขี่ ไปดูว่าประเทศอื่นพัฒนาให้จักรยานเป็นระบบขนส่งหลักได้อย่างไร และเมื่อจบการประชุมก็จะออกทริปขี่จักรยานที่เนเธอร์แลนด์ 5 วัน วันละ 8 กิโลเมตร”


‘จักรยานคือวัตถุที่งอกได้’ thaihealth


อ.บัณฑูร อธิบายว่า “จักรยานมีเสน่ห์ตรงที่มันเป็นตัวเชื่อมผู้คนหลายวงการ ตอนเราปั่นแรกๆ ก็ไปออกทริปกับชาวบ้าน หรือกลุ่มซิตี้ 99 ทุกวันอาทิตย์ต้นเดือนจะนัดไปเจอกันที่สวนรถไฟ และพากันไปเส้นทางใน กทม. ซึ่งเราไม่เคยรู้ว่ากรุงเทพฯ มีอุโมงค์ต้นไม้ และมีถนนเลียบคลองที่สวยมาก มันก็ทำให้เห็นสังคมที่แตกต่างออกไป จักรยานจึงเป็นตัวสร้างสัมพันธ์ที่ดี


แล้วจะเสาะหาจักรยานอีกหรือไม่ อ.บัณฑูร ตอบว่า “ถึงตอนนี้เราใช้หลักความเพียงพอ เพราะเริ่มจะไม่มีที่เก็บแล้ว จักรยานคลาสสิกกับโมเดิร์นให้คุณค่าต่างกัน ถ้ารุ่นคลาสสิกจะเป็นลักษณะของสะสม เพราะการใช้งานคงสู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ได้อยู่แล้ว ก็เหมือนผู้ชายสะสมนาฬิกา ผู้หญิงสะสมกระเป๋าหรือรองเท้า มันก็จะมีความชอบแตกต่างกัน ชอบเพราะโหยหาอดีต และเริ่มมาสู่ความสนใจใหม่อย่างการเป็นของสะสม”


“จักรยานที่ซื้อมาผมได้ปั่นทุกคันนะ แต่มากบ้างน้อยบ้าง แต่หลักจะมี 4 คันสำหรับตอบโจทย์ของเราแต่ละด้าน เช่น ทัวริ่งทางไกลยี่ห้อราเล่ย์ เสือหมอบจะเป็นยี่ห้อแคนนอนเดล (Cannondale) ทางขรุขระจะใช้เสือภูเขาก็จะมีแคนนอนเดลอีกคัน ถ้าเป็นการปั่นในเมืองก็จะเป็นจักรยานอีกคัน อย่างน้อยก็มี 4 คันที่ตอบโจทย์เราได้ 4 แบบ”


ช่วงท้ายการสนทนาไปถึงเรื่องความเป็นไปได้หรือไม่ที่กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองหนึ่งที่จักรยานจะกลายมาเป็นหนึ่งในพาหนะหลักในการเดินทาง


“เมืองที่เปลี่ยนมาเป็นเมืองจักรยานก็เริ่มจากคำถามนี้เหมือนกัน เช่น เมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย พอร์ตแลนด์ สหรัฐอเมริกา แต่เริ่มขึ้นได้เพราะจากบนสู่ล่าง คือเป็นเมืองที่มีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ที่ดีที่รู้สึกว่ายิ่งสร้างถนนยิ่งทำให้รถมีมากขึ้น จนต้องลุกขึ้นมาทำเมืองจักรยาน หรือ จากล่างสู่บน คือเมื่อมีคนใช้จักรยานมากขึ้นจนเมืองต้องมาทำอะไรเพื่อให้เมืองอยู่กับจักรยาน”


“สำหรับกรุงเทพฯ แล้ว การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกสมัยทุกคนต้องเอาจักรยานมาเป็นนโยบายหาเสียง เพราะเห็นว่าคนกรุงเทพฯ สร้างดีมานด์จนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ต้องมาตอบว่าถ้าเขาได้เป็นผู้ว่าฯ เขาต้องทำอะไร แต่สำหรับผมแล้วกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองจักรยานได้ไหม ก็ยังเชื่อว่าเป็นไปได้ เพียงแต่ต้องมีปัจจัยหลายอย่างที่เอื้อกัน คือ ความสะดวก ความปลอดภัย และการเชื่อมต่อ” อ.บัณฑูร ทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code