`จอมบึงมาราธอน`งานวิ่งชาวบ้าน มาตรฐานสากล
การ “วิ่งมาราธอน” ในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นการออกกำลังกายที่เรียกเหงื่ออย่างได้ผล ประหยัด สะดวก มีสนามวิ่งมากมายให้ร่วมวิ่ง ซึ่งหนึ่งในสนามวิ่งที่นักวิ่งมาราธอนทุกคนพลาดไม่ได้นั้นคือ 'จอมบึงมาราธอน'
แฟ้มภาพ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง สมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าวกิจกรรม สสส. จอมบึงมาราธอน 2559 ปีที่ 31 “Thai Health Chom Bueng Marathon 2016” ภายใต้คำขวัญ “งานวิ่งประเพณีของชาวบ้านที่มีมาตรฐานสากล” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงงานวิ่งจอมบึงมาราธอนในปีนี้ว่า มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยทันทีที่มีการรับสมัครผ่านทางออน ไลน์ก็มีผู้สมัครเข้าร่วมเต็มอัตราภายในไม่ถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าสมัครทุกประเภทรวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 คน โดยเฉพาะประเภทมาราธอนที่เพิ่มถึง 1 เท่าของผู้สมัครในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มทีมอาสาสมัครด้านต่างๆ มาคอยช่วยเหลือภายในงาน ได้แก่ ทีมอาสาแพทย์ที่นำโดย นพ.ภัทรภณ อติเมธิน หนึ่งในแพทย์อาสาจากบอสตันมาราธอน ที่จะมาร่วมดูแลความปลอดภัยและปฐมพยาบาลให้กับนักวิ่งเมื่อได้รับบาดเจ็บ
ทีมเพซเซอร์ (Pacer) กลุ่มนักวิ่งนำเวลา โดยจะมีสัญลักษณ์เป็นลูกโป่งบอกเวลาให้นักวิ่งในสนามสามารถวิ่งตามที่ตั้งเป้าไว้ได้ และทีมสวีปเปอร์ (Sweeper) กลุ่มนักวิ่งรั้งท้าย ที่คอยช่วยให้กำลังใจและดูแลนักวิ่งทุกคนจนนักวิ่งคนสุดท้ายเข้าสู่เส้นชัย ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการรับอาสาสมัครสวีปเปอร์
อาจารย์ณรงค์ยังได้ขยายความหมายของ “งานวิ่งประเพณีของชาวบ้านที่มีมาตรฐานสากล” ว่า สิ่งที่จอมบึงมาราธอนโดดเด่นคือ การต้อนรับและการเชียร์จากชาวบ้านตลอดเส้นทางวิ่ง จึงได้รับการขนานนามว่า “งานวิ่งประเพณีของชาวบ้าน” ซึ่งผู้นำชุมชน โรงเรียน ชาวบ้าน มีบทบาทสำคัญในการช่วยเสริมสร้างให้บรรยากาศของงานวิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นแรงดึงดูดนักวิ่งส่วนใหญ่ให้กลับมาวิ่งในสนามจอมบึงอีกครั้ง และในด้านมาตรฐานสากล จอมบึงมาราธอนยังได้รับการประเมินทั้งเรื่องของการจัดงาน รวมถึงเส้นทางวิ่งที่ตรงตามมาตรฐานรับรองจากสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสหพันธ์กรีฑานานาชาติ
“ทั้งนี้ จากความสำเร็จของจอมบึงมาราธอน สสส.ได้เกิดแนวคิดที่จะช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้านการวิ่งให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยชุมชนจอมบึงเป็นต้นแบบ มีการถอดบทเรียนเป็น 4 แรงผลักดันหลัก ได้แก่ องค์กร ชุมชน นักวิ่ง และผู้สนับสนุน ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตเราจะได้เห็นงานวิ่งเกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมาย” อาจารย์ณรงค์กล่าว
ด้าน วิเชียร ผิวแดง กำนันตำบลเบิกไพร บอกว่า ชาวจอมบึงให้ความสนใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิ่งในทุกปี โดยได้มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ทั้งด้านความสะดวกในการสัญจร ที่พัก อาหาร ซึ่งเมื่อถึงเวลาเตรียมงานชาวบ้านต่างเข้ามาช่วยเหลือกันคนละเล็กคนละน้อยอย่างเต็มใจ
“นอกจากนี้ ยังทำให้ชาวบ้านตื่นตัวและให้ความสำคัญเรื่องของการออกกำลังกาย มีหลายคนจากที่เป็นผู้ให้กำลังใจนักวิ่งอยู่ข้างทางก็หันมาร่วมวิ่งไปด้วยกัน เมื่อสุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้น ความสุขในการดำรงชีวิตก็ดีตามไปด้วย” วิเชียรกล่าว
ขณะที่ อุษณีย์ วีระพงษ์วัฒนกุล หนึ่งในนักวิ่งที่ร่วมกิจกรรม กล่าวว่า ตนหันมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งมา 3 ปี และได้ร่วมวิ่งกับจอมบึงมาราธอนเป็นครั้งที่ 2 แต่ในปีนี้จะเป็นการเริ่มต้นวิ่งประเภทมาราธอน (42.195 กม.) เป็นครั้งแรก เหตุผลที่เลือกสนามจอมบึงเป็นจุดเริ่มต้นของการวิ่งมาราธอน เพราะจอมบึงคือ สนามในฝัน เป็นสนามวิ่งที่มีแต่รอยยิ้มตลอดสองข้างทาง
“การเริ่มต้นวิ่งระยะทางที่เพิ่มขึ้นจากที่เคยทำ และมีความท้าทาย เชื่อว่าความอบอุ่นจากชาวจอมบึงตลอดเส้นทางวิ่งจะเป็นหนึ่งแรงผลักดันให้สามารถก้าวผ่านความท้าทายนั้นไปได้ ลองออกมาสัมผัส ออกมาวิ่งกับจอมบึงมาราธอนดูสักครั้ง นอกจากสุขภาพที่ดีแล้วยังได้ความสุขใจกลับไปแน่นอน” อุษณีย์กล่าวทิ้งท้าย
แล้วพบกันในงาน สสส.จอมบึงมาราธอน 2559 วันที่ 16-17 มกราคม 2559 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์