จริงหรือไม่…บุหรี่กับวัยทีน “ติดง่าย ฝังลึกถึงยีนส์”
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย สสส.
'ปัญหานักสูบเยาวชนหน้าใหม่' เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงจากการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 "Tobacco and Lung Health" ที่จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย
โดยมีหนึ่งเวทีเล็ก ๆ ยังเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนรุ่นใหม่นักคิดและกลุ่มผู้ใหญ่มากประสบการณ์ที่ต่างมา Talks แบบเจาะลึก เพื่อระดมแนวคิดและเพื่อหามาตรการทางออกปัญหาสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชน ที่ค้นลึกถึงระดับยีนส์!!
เริ่มเปิดปมโดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ระบุข้อมูลน่าสนใจว่า การสูบบุหรี่นั้นไม่เพียงติดง่าย แต่ยังฝังลึกได้ถึงระดับจิตใต้สำนึก และระดับยีนส์ไปแล้ว นอกจากบุหรี่ไฟฟ้าจะมีการพัฒนารูปแบบหรือลูกเล่นมาล่อลวงใจนักสูบหน้าใหม่มากมาย อาทิ การเผาเข้าปอด การพ่นควันที่เรียกว่า Cloud Contest ที่กำลังเป็นกระแส บุหรี่ไฟฟ้าบางประเภทสามารถเป็นเครื่องเล่นเพลงผ่านบลูทูธได้ด้วยเรียกว่าเป็นการฝังลึกเข้าถึงระดับจิตใต้สำนึก ทั้งยังมีการพิสูจน์ด้วยว่าการมีบุคคลที่สามสูบบุหรี่ในบ้านที่มีคนตั้งครรภ์ ไม่เพียงแต่แม่ที่จะได้รับควันบุหรี่มือสอง แต่ลูกในท้องเอง นิโคตินสามารถผ่าน เข้าสู่สายรกไปที่ต่อมเพศ แล้วเปลี่ยนยีนส์ Methylated Genes ซึ่งจะทำให้เกิดยีนส์โน้มนำในลูก พูดง่ายๆ หมายถึงว่า เมื่อเด็กคลอดออกมาก็จะมียีนส์โน้มนำในการที่พร้อมหรือ ต้องการเสพนิโคตินเรียบร้อย และเมื่อมีครอบครัวต่อไปแล้วยังคงอยู่ในวงจรแบบนี้ต่อ ก็จะเป็นเสมือนการถ่ายทอดพันธุกรรมสืบทอดรุ่นต่อไปอีก
"สิ่งที่กำลังสะท้อนคือ ทุนชีวิตของเด็ก ๆ มีครอบครัวเป็นทุนสำคัญมาก เพราะเป็นระบบนิเวศน์ของเด็ก เรามีงานวิจัยชัดเจน โดยในเวทีจิตวิทยาระดับโลกมีการสังเคราะห์ความเป็นมนุษย์ไว้ 5 เรื่อง แต่เรากำลังทำลายเด็กทุกเรื่อง คือ หนึ่ง ระบบการศึกษากำลังทำลายจินตนาการ ระบบผลักเด็กออกมา สอง เรื่องคุณธรรมจริยธรรม เราท่องกันแบบนกแก้วนกขุนทองแต่ไม่ได้มีการปฏิบัติ และพ่อแม่ที่เป็นแบบอย่างเองก็ไม่ได้เป็นตัวอย่างให้ลูก สาม เรื่องจิตสำนึกเด็กไทยลดลง ซึ่งอยู่แค่ระดับพอใช้ สี่ สายใยรัก เพราะปัจจุบันพ่อแม่เลี้ยงลูก โดยย้ายหนีระบบนิเวศน์ เรามักเจอปัญหานี้ในชนชั้นกลางและชนชั้นสูง ที่พ่อแม่มีกำลังซื้อ
รศ.นพ.สุริยเดว ทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังเจอสถานการณ์ ที่เกือบครึ่งหนึ่งของ 20 ล้านครอบครัว ที่กำลังเลี้ยงลูกแบบสำลักความรัก ทุกวันนี้เด็กไม่มีใครถูกสอนให้ทำงานบ้าน ซักผ้า กวาดบ้าน ทำให้เด็กยุคใหม่เห็นแก่ตัวมากขึ้น ไม่สนใจส่วนรวม จึงอย่าแปลกใจที่บุหรี่ไฟฟ้าจะเข้าถึง เด็กกลุ่มนี้ง่าย และยังติดลึกถึงระดับยีนส์ เพราะปัจจุบันระบบนิเวศป่วยยิ่งกว่าตัวเด็ก และไม่ใช่เฉพาะครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ยากจน ไม่มีการศึกษาอีกต่อไป แต่นี่คืออุบัติการณ์ใหม่ของครอบครัวสำลักความสุข
"เมื่อก่อนมีสมมติฐานเดิมว่า ครอบครัว ที่หย่าร้าง ยากจน หรือพ่อแม่ที่ไร้การศึกษา ลูกมีแนวโน้มเสี่ยงติดสารเสพติด แต่จากการที่เรามีการวิเคราะห์ประเมิน โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานเดิม มีข้อสุดท้ายที่เราแยกกลุ่มออกมา คือการพบว่าพ่อแม่ที่มีความมั่งคั่ง มีการศึกษา และยังอยู่พร้อมหน้า ไม่ได้หย่าร้าง กลับพบค่าความเสี่ยงที่ลูกจะติดบุหรี่หรือสารเสพติดมากถึง 3-4 เท่า เพราะพ่อแม่กำลังเลี้ยงลูกให้มีต้นทุนชีวิตต่ำ"
อีกความเห็นจากฝั่งเยาวชนตัวจริง พชรพรรษ์ และ เมธชนนท์ ประจวบลาภ จากเครือข่ายยุวทัศน์ ที่ร่วมแสดงความเห็นถึงสถานการณ์นักสูบวัยทีน พร้อมนำเสนอแนวทางแก้ไขแบบคนรุ่นใหม่
เมธชนนท์ ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจพฤติกรรมเยาวชนในสถาบันยุวพัฒน์แห่งประเทศไทย พบว่า เด็กและเยาวชนมีการเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่จากมวนปกติไปเป็นบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น สาเหตุเพราะเข้าถึงง่าย หาได้ทุกที่ ซึ่งทุกวันนี้บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าเองได้พยายามเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น เช่นการเข้ามา อยู่ในช่องทางสื่อออนไลน์มานานแล้ว
"หากใคร ลองเสิร์ชคำว่าบุหรี่ไฟฟ้าในเว็บชอปปิงออนไลน์ คุณแทบจะไม่เจอ แต่เป็นที่รับรู้ในวงการว่า ถ้าค้นหาคำว่าผลิตภัณฑ์สารให้ความสุข หรือน้ำยาให้ความสุขในเว็บจำหน่ายสินค้าออนไลน์ เราจะพบบุหรี่ไฟฟ้าทุกยี่ห้อ" เมธชนนท์เล่า
เขา กล่าวต่อว่า จากเดิมเด็กและเยาวชนจะซื้อบุหรี่ที่ร้านสะดวกซื้อ ก็ต้องยื่นบัตรประชาชนก่อนจะซื้อ บางครั้งก็อายทำให้ไม่กล้าซื้อ แต่ปัจจุบันช่องทางออนไลน์มันลดช่องว่างตรงนั้นออกไป ทุกวันนี้เยาวชน สามารถซื้อได้โดยไม่ต้องยื่นบัตรประชาชน หรือถูกถามว่าอายุ 20 ปีแล้วหรือยัง
"ผมเคยมีโอกาสไปทำงานประเทศลาว เห็นว่าเด็กไทยข้ามไปซื้อบุหรี่ไฟฟ้าที่ประเทศเพื่อนบ้านเยอะมาก"
ด้านแฝดผู้พี่ พชรพรรษ์ เสนอแนวทางการรณรงค์เยาวชนเลิกบุหรี่ว่า อยากให้ศึกษาและนำแนวทางการสื่อสารการตลาด นำการศึกษาพฤติกรรมประชากรตามช่วงวัยมาใช้ การจะทำให้การรณรงค์ มีประสิทธิผลมากขึ้น เพราะมองว่าไม่ควรใช้วิธีการสื่อสารแบบเดียวกันกับทุกคน
"สิ่งแรกที่มองคือน่าจะต้องรู้จักความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย อย่างวัย 15-18 ปี เป็นวัยที่เชื่อเพื่อน ต้องการความตื่นเต้น อยากรู้อยากลอง มีเรื่องเพศถ้าเราสื่อสารไปว่าสูบบุหรี่แล้วไม่สวยไม่หล่อก็มีแนวโน้มที่จะสนใจมากกว่า ส่วนวัย 25-35 ปี เป็นวัยที่ต้องการความมั่นคง และการเติบโตในหน้าที่การงาน ถ้าจะทำเรื่องบุหรี่ต้องบอกว่า สูบบุหรี่แล้วมีผลต่อหน้าที่การงาน ถ้าอายุ 35-50 ปี เป็นวัยที่มักคิดถึงครอบครัว เป็นหลัก ก็ต้องพูดถึงเรื่องการให้ความสำคัญหรือครอบครัว"
เมธชนนท์ เล่าต่อว่า ปัจจุบันเขาเป็นผู้บริหารโรงเรียนจุทารัตน์วิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนการศึกษาทางเลือกด้วย โดยจะ รับเด็ก ๆ ที่ถูกผลักหรือหลุดออกนอกระบบมาแล้ว
"เด็กส่วนใหญ่ที่อยู่กับผมมาจากโรงเรียนประจำจังหวัดทั้งนั้น ปัญหาไม่บุหรี่ก็เหล้า ไม่เหล้าก็มีปัญหาท้องในวัยเรียน
ที่สำคัญพบว่า เด็กส่วนใหญ่ทุกคนมีประเด็นเรื่องบุหรี่หมด แต่เมื่อเด็กเกิดปัญหา สถานศึกษา หรือครูคือสถาบันสำคัญที่จะช่วยเหลือเด็ก แต่กลับไม่สามารถจัดการหรือแก้ปัญหานี้ได้ และมักใช้แต่มาตรการลงโทษ หรือผลักเด็กออกจากระบบ ซึ่งความจริงเราไม่ควรผลักเด็กออก แต่ควรให้เขาอยู่ในระบบเหมือนเดิม แต่เราต้องสร้างความรู้บางอย่างให้กับเขา เช่น การสอนเรื่องวินัยเชิงบวก ปัญหาเด็กสูบบุหรี่ วันนี้ไม่ใช่เด็กในระบบ แต่คือเด็กที่อยู่นอกระบบ"
อีกหนึ่งบุคคลที่ทำงานคลุกคลีกับ วัยรุ่นวัยเรียนอย่างต่อเนื่อง ครูยุ่น มนตรี สินทวิชัย แห่งมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ยอมรับว่า ตนเองเคยผ่านประสบการณ์ เป็นนักสูบมาก่อน
"เดิมใจจริงผมไม่อยากเลิก แต่ผมเริ่มมารู้สึกรักชีวิตตัวเอง เป็นห่วงสุขภาพจึงตัดสินใจเลิกมา 8 ปี ตอนผมเป็นเด็ก สมัยนั้นเรื่องบุหรี่เป็นเรื่องธรรมดา เราก็สูบได้หมดทั้งบนรถเมล์ โรงหนังทุกที่ แต่ปัจจุบันเรามีมาตรการมากขึ้น เช่นการใช้สถานที่กำหนดจำกัดเพื่อให้ลดการสูบบุหรี่ ผมมองว่ามันสะท้อนว่าอะไรที่มันธรรมดาก็จะแก้ยาก อะไรที่เราทำให้มันไม่ธรรมดาก็จะแก้ได้ง่ายกว่า"
ครูยุ่น เล่าว่า เด็กที่มูลนิธิฯ มีสูบบุหรี่ 7 คน จากเป็นพันคน สาเหตุเพราะเขาปลูกฝังค่านิยมและไม่เคยปล่อยให้เรื่องบุหรี่เป็นเรื่องปกติในมูลนิธิฯ ตนเอง
"คือมีติดจริงแค่ 2 คนเท่านั้น เพราะเด็กจะรู้ว่าถ้าผมทราบจะเป็นเรื่องใหญ่มาก ผมว่าเด็กที่สูบบุหรี่จริง ๆ คือเด็กที่ไม่รักตัวเอง และอาจไม่ได้พบความลำบากมากนัก ดังนั้น "ความรัก" กับ "ความจน" บางที ก็ทำให้คนหยุดสูบบุหรี่ได้ แต่แค่ความรักตัวเองอย่างเดียวช่วยไม่ค่อยได้นะ คือเด็กที่อยู่กับผมเป็นเด็กที่ไม่มีฐานะร่ำรวย เราต้องปลูกฝังให้เด็กคิดเป็น ศรัทธาตัวเอง รู้จักคุณค่าตัวเอง รู้จักการอยู่เพื่อคนอื่นและ มีชีวิตอยู่เพื่อไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน ถ้าสูบบุหรี่จะทำให้คุณยืนลำบากขึ้น"
ฝั่งคนทำงาน ธนเดช ใจสบาย เครือข่ายมหาวิทยาลัยปลอดเหล้า และยังรับบทบาทเยาวชนรุ่นใหม่ที่ทำงานรณรงค์เรื่องบุหรี่ ด้วย เอ่ยว่า เดิมเน้นทำงานมหาวิทยาลัยปลอดเหล้าทั่วประเทศ แต่เกิดเหตุการณ์ที่พ่อป่วยเป็นมะเร็งเพราะสูบบุหรี่ ซึ่งทราบว่าเริ่มสูบบุหรี่มาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เนื่องจากมีผู้ใหญ่เชียร์ให้สูบ ทำให้คิดอยากทำงานบุหรี่ควบคู่ โดยใช้เรื่องราวตัวเองมาจับเข่าคุยกับรุ่นน้อง ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง
"คือในรามคำแหงจะมีซุ้มเยอะ แต่ละซุ้มมีน้องมาจากหลากหลายคณะ เราเริ่มจากถ่ายทอดเรื่องของเราเองให้น้อง ๆ ฟังแล้วจึงมอบหมายให้น้องแต่ละคน ถูกแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลหมู่บ้าน (ซุ้ม) ของตน ซึ่งจะมีการสำรวจสมาชิกว่ามีใครสูบบุหรี่ไหม และเป็นบุหรี่ธรรมดาหรือบุหรี่ไฟฟ้า ติดระดับไหน รวมถึงสังเกตพฤติกรรม แล้วหามาตรการช่วยให้เลิก จากนั้นนำคะแนนมาเปรียบเทียบกัน แต่ละกลุ่ม รวมถึงให้เขามาประชุมเป็นประจำทุกเดือน เสนอวิธีการว่าทำไมถึงสามารถลดลงได้เพื่อแลกเปลี่ยนกัน โดยปัจจุบันกำลังขยายแนวการรณรงค์ ไปที่องค์การนักศึกษา" ธนเดช กล่าว