`งานวัดลอยฟ้า` มหรสพทางธรรมะ
พระนิพนธ์ จิตตนคร ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นหนึ่งในงานทรงคุณค่าที่เล่าเรื่องของ “เมืองแห่งจิต” ผ่านตัวละครสมมุติ อาทิ “นายมโน” ผู้ควบคุมการสื่อสารของเมือง, “นายสมุทัย” ผู้มีนิสัยอยากได้ใคร่ดีตลอดเวลา เป็นธรรมนิยายที่อ่านสนุกและเข้าใจง่าย ซึ่งมีการเผยแพร่มาตั้งแต่ พ.ศ.2511 แต่น่าเสียดายที่คนส่วนหนึ่งอาจยังไม่เคยสัมผัส
ล่าสุดเมื่อ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้ร่วมมือกับองค์กรภาคีทางธรรมอีกกว่า 100 องค์กร คิดจัดงานเพื่อน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงได้นำใจความสำคัญใน “จิตตนคร” มาเป็นแกนหลัก แล้วจัดเป็น “งานวัดลอยฟ้า ญาณสังวร 101 จิตตนคร The Hidden Capital” จำลองห้องรอยัลพารากอนฮอลล์ของห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนให้เป็นไตรภูมิโลก ที่ประกอบด้วยบูธวัฏจักรเกิด แก่ เจ็บ ตาย, จิตตนิทรรศน์ พระนิพนธ์ที่ถูกแสดงในรูปนิทรรศการ, กองทัพมรรค เสวนาจากเหล่าภาคีธรรมะ และห้องบริหารจิต
แต่ที่ดูจะเป็นไฮไลต์อยู่ที่ โรงแสดงธรรมที่จะหยิบจับเนื้อหาทางธรรมะมาปรุงแต่งเพื่อเชิญชวนต่อการเสพ โดยที่ใจความสำคัญหลักยังคงเดิมครบถ้วน โดยจะสื่อสารผ่านละครเวที “จิตตากับนคร” ที่เขียนบทและกำกับการแสดงโดย นิกร แซ่ตั้ง ศิลปินศิลปาธร “เคยได้ยินว่างานของท่านมีหลายชิ้น แต่ไม่เคยอ่าน พอมาอ่านในฐานะคนทำงานก็รู้สึกว่ายากจัง เหตุผลนั้นเป็นเพราะพระนิพนธ์ของพระองค์ท่านเป็นการสอนธรรมะที่ลึกซึ้ง เนื้อหาพูดถึงกิเลสพันแปด มีตัวละครซับซ้อน การจะเล่าโดยใช้เวลาแค่ 30-40 นาที คงยกมาทั้งหมดไม่ได้สุดท้ายเลยดัดแปลงบทละครโดยมีพระนิพนธ์เป็นแรงบันดาลใจ”
นิกรว่า เนื้อเรื่องเล่าถึง 2 สามีภรรยายุคใหม่ ที่ต้องเผชิญปัญหาภายในไม่ต่างจากครอบครัวโดยทั่วไป เหตุเพราะเหล่าสมุนร้ายต่างๆ ที่คอยรบกวนจิตใจจนก่อให้เกิดความเข้าใจผิด โดยเฉพาะ “เจ้าสมุทัย” ที่หมายถึงสาเหตุแห่งทุกข์ตามหลักอริยสัจ 4
“คงไม่ถึงขั้นดูแล้วบรรลุธรรม แต่ละครมีหน้าที่ทำให้คนฉุกคิดและย้อนสติกลับมา อย่าพลุ่งพล่าน ถ้ามองพระนิพนธ์ในแง่จิตวิทยาคือการอธิบายว่าทำไมคนถึงเกิดความรู้สึกแบบนี้ ซึ่งการพูดเรื่องประสาทรับรู้ทั้ง 5 มันคือหลักวิทยาศาสตร์เลยละ” เจ้าของรางวัลศิลปาธรเล่า
ในส่วนของนักแสดงนั้นก็ได้ เบนซ์-พรชิตา หิรัณยัษฐิติ กับ โอ๊ต-วรวุฒิ นิยมทรัพย์ และ ปุยฝ้าย-ณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูล กับ แม็ค- วีรคณิศร์ วัฒนกานต์กุล มาจับคู่รับบทนำกัน ในขณะที่ อ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์ กับนักแสดงอีกกว่า 10 ชีวิตจะปรากฏในทุกรอบ โดยนักแสดงทั้งหมดนั้นเคลียร์คิวให้ทันทีที่ทราบข่าวกิจกรรม และมาด้วยใจแบบไม่ต้องมีค่าตัว
“และด้วยคอนเซ็ปต์งานที่ถูกคิดโดยคนรุ่นใหม่ ถ่ายทอดในแบบใหม่ๆ ที่อาจไม่หวือหวานัก แต่ก็ไม่เหมือนการเทศนาทั่วไป ฉะนั้น มั่นใจได้ว่า วัยรุ่นรับชมได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ พอเป็นงานเกี่ยวกับพุทธศาสนาคนจะคิดว่าเชย งมงาย มันต้องเปลี่ยนความคิดนะ เพราะความคิดแบบนั้นต่างหากที่คร่ำครึ” นิกรกล่าว
อีกงานที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ละครหุ่นสายสื่อผสม “จิตตนคร : พุทธจินตนิทาน” โดยการควบคุมของ นิมิตร พิพิธกุล จากมูลนิธิหุ่นสายเสมา ศิลปะเพื่อสังคม ที่เพิ่งคว้ารางวัลศิลปะสื่อสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมในเทศกาลหุ่นโลกที่อินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว มาครั้งนี้เขาได้นำศิลปะการแสดงหุ่นสายมาผสมผสานกับสื่อมัลติมีเดียสมัยใหม่อย่างภาพยนตร์ หุ่นเงา และการใช้จอโปรเจ็กเตอร์ร่วมกับการแสดงหุ่นสายครั้งแรก
“พยายามทำฉากเรียบง่ายที่สุด ถึงแม้คนอ่านพระนิพนธ์แล้วจะจินตนาการว่าฉากต้องอลังการมาก แต่เราไม่อยากให้คนหลงใหลในความเก๋ไก๋มากเกินไป” นิมิตรเล่า
ตลอด 3 เดือนของการเตรียมการ นิมิตรต้องย่อยตัวละครนับร้อยในเรื่องให้เหลือเพียง 14 ตัวหลัก ที่ทำหุ่นขึ้นใหม่หมด โดยใช้งบประมาณกว่าแสนบาท จากการสนับสนุนเงินของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และเหล่าอาสาสมัครมาลงแรงช่วย ซึ่งรวมถึง คณะหุ่นสายนานา ด้วย และแม้ไม่ได้คาดหวังให้ผู้ชมเข้าใจสิ่งที่สื่อสารทั้งหมด แต่นิมิตรเชื่อว่าผู้ชมต้องได้บางสิ่งติดตัวกลับไปแน่นอน เพราะ “เวลาดูสื่อหลายมิติเราจะจำภาพและซีนที่ชอบ อาจดูไม่เข้าใจทั้งหมด แต่อยู่ที่ว่าคุณจับอะไรได้” นิมิตรกล่าว
นอกจากนี้ยังมีคอนเสิร์ตจากเหล่านักดนตรีชั้นนำ เช่น ปาน-ธนพร แวกประยูร, มาลีวัลย์ เจมีน่า, ป๊อด-ธนชัย อุชชิน ฯลฯ และวงมโหระทึกจากค่ายเป่าจินจงที่อำนวยเพลงโดย ธเนศ วรากุลนุเคราะห์, ตู่-นพพล โกมารชุน, ปรียานุช ปานประดับ รวมทั้งการเดินแฟชั่นโชว์แฝงธรรมะจาก 9 ห้องเสื้อชั้นนำ
“จิตตนคร” นั้นจะเปิดให้ชมฟรีตั้งแต่วันที่ 3-7 เม.ย. เวลา 10.00-21.30 น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “งานวัดลอยฟ้า : จิตตนคร”