งานประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลีต้นศรีมหาโพธิ์ ปี๋ใหม่เมือง ปี 62
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สยามรัฐ
คณะศรัทธาชาวชุมชนจากชุมชนต่าง ๆ ร่วมกับวัดศรีพันต้น จังหวัดน่าน จัดขบวนแห่งานประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลีต้นศรีมหาโพธิ์ในเทศกาลปี๋ใหม่เมือง ประจำปี 2562
ที่ วัดศรีพันต้น ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน ร่วมกับเทศบาลเมืองน่าน นำพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาแต่ละชุมชน หมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดน่าน ร่วมงานประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลีศรีมหาโพธิ์ในประเพณีปี๋ใหม่เมือง ประจำปี 2562 โดยแต่ละชุมชนประกอบด้วยชุมชนบ้านศรีพันต้น ชุมชนบ้านศรีมหาโพธิ์ ชุมชนบ้านพวงพะยอม ชุมชนบ้านพญาวัดชาวบ้านบ้านปางค่ำ ชุมชนตำบลถืมตอง เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สสส.) คณะสายบุญครูบาธรรมชัยศิษย์ เอกหลวงปู่ขันธ์ วัดศรีพันต้น นำรถไม้ค้ำสะหลีฯ เข้าร่วมคลื่อนขบวนแห่ออกจากวัดศรีพันต้นไปตามถนนในเขตเทศบาลเมืองน่านและกลับสู่จุดเริ่มต้นโดยมีดนตรีแห่ไม้ค้ำสะหลีที่มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่สูงกว่า 2 เมตร แห่ไปตามถนนเขตเทศบาลเมืองน่านสร้างความคึกคักเป็นอย่างมากทำให้คนที่มาเห็นครั้งแรกรู้สึกได้ความสนุกสนานและความสามัคคีของคนในชุมชน ทั้งเด็กวัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้เฒ่าผู้แก่จะมาร่วมขบวนแห่ฟ้อนรำอย่างสนุกสนานตามจังหวะเสียงดนตรีท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด โดยมีรถน้ำเทศบาลเมืองน่านฉีดพ่นละอองน้ำสร้างความชุ่มชื้นเมื่อถึงวัดศรีพันต้นทุกคนจะร่วมกันถวายไม้ค้ำสะหลีค้ำต้นโพธิ์ให้มั่นคงแข็งแรง โดยทางวัดได้จัดตั้งพระพุทธรูปไว้เพื่อให้ประชาชนร่วมสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย
ทางด้าน พระครูสุชัย ธรรมนันท์ ประธานฝ่ายสงฆ์ สำนักสงฆ์ธรรมชัย เจ้าอาวาสวัดศรีพันต้น กล่าวว่า ทางวัดศรีพันต้นได้จัดประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลีสรีมหาโพธิ์เป็นประเพณีเก่าแก่มาแต่โบราณอีกทั้งให้ชาวชุมชนได้ถ่ายทอดเรื่องราวสืบทอดสู่เยาวชนรุ่นลูกหลานมิให้สูญหายเพื่อนำมาถวายทานไม้ค้ำโพธิ์-ไม้ค้ำสะหลี ตามความเชื่อของชาวพุทธต้นไม้ใหญ่มักมีเทวดาอารักษ์สิงสถิตอยู่โดยเฉพาะต้นโพธิ์ซึ่งนอกจากจะเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ส่วนมากจะปลูกไว้ในวัดแล้วยังเป็นต้นไม้ในพุทธประวัติโดยพระพุทธเจ้าได้ประทับใต้ต้นโพธิ์เมื่อตรัสรู้อีกด้วย ต้นโพธิ์เมื่อเจริญเติบโตจะมีกิ่งก้านสาขาทอดยาว บางกิ่งโน้มเอียงจนเกรงว่าจะหักโค่นยามลมพัดแรงจึงมีคนนำไม้ง่ามมาค้ำยันกิ่งไว้ไม้ง่ามนั้นเรียกว่า “ไม้ค้ำโพธิ์” หรือ “ไม้ค้ำสะหลี” ซึ่งนอกจากจะเป็นการค้ำยันกิ่งไม่ให้ล้มแล้วยังมีความหมายไปถึงการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบต่อไป อีกทั้งเชื่อกันว่ากุศลในการถวายไม้ค้ำโพธิ์จะช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เจริญขึ้นไม่ตกต่ำมีคนช่วยเหลือค้ำชูไปตลอด ความเชื่อดังกล่าวเป็นที่ศรัทธาเชื่อถือโดยทั่วไปในกลุ่มชาวล้านนาทางภาคเหนือของไทยวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือหากมีต้นโพธิ์ใหญ่ก็มักจะมีผู้นำไม้ค้ำสะหลีไปค้ำยันไว้และในภาคกลางหรือในกรุงเทพฯ ก็ยังพบเห็นภาพความเชื่อดังกล่าวด้วยเช่นกัน