งานกาชาดปลอดเหล้า คนสุรินทร์ไม่กินสุรา
เยือนถิ่นเมืองช้าง ในงานช้างและงานกาชาดปลอดเหล้า พร้อมย้ำวลีเด็ดเป็นคนสุรินทร์ไม่จำเป็นต้องกินสุรา
มีหลายคนบอกว่าเมื่อนึกถึงเมืองสุรินทร์ที่ไร ต้องนึกถึงสุราตามมาด้วย…จริงหรือ? หากเป็นเมื่อก่อนนั้นอาจใช่ แต่ในปัจจุบันแล้วค่านิยมต่างๆที่เกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนที่นี่นั้นค่อยๆลดลงจำนวนมาก เมื่อประชาชนหันฟื้นฟูค่านิยม และหยิบยกเอารากทางวัฒนธรรมที่ดีกลับมาใช้เพื่อทำให้สุรินทร์ซึ่งเป็นถิ่นเมืองช้าง เป็นเมืองที่น่าหลงใหลและมีความสวยงามด้วยคุณค่าทางประเพณีแท้จริง
งานช้างและงานกาชาดของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งถือเป็นงานของจังหวัดที่ยิ่งใหญ่ เป็นงานระดับชาติ และมีชื่อเสียงแพร่หลายไประดับโลกที่นักท่องเที่ยวต่างพากันมาร่วมงานทุกๆปี แต่หลายปีก่อนนั้นนักท่องเที่ยวกลับลดลงจำนวนมาก จำนวนช้างก็ลดจำนวนตาม จนไม่มีใครอยากมาเที่ยวงาน สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่การจัดงานที่มักเกิดอุบัติเหตุทะเลาะวิวาทรุนแรงเป็นประจำ
จากการสำรวจพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณค่าของงานลดลงอย่างเห็นได้ชัดและทำให้งานที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลดทอนคุณค่าความสำคัญลงไปเรื่อยๆ คือ ปัญหาที่มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหลัก ค่านิยมของกลุ่มวัยรุ่นที่จับกลุ่มกันมาเพื่อทะเลาะวิวาทกันมากกว่าการมาเที่ยวในงานประเพณี หากมีการแสดงคอนเสิร์ตภายในงานด้วยก็ถือว่าเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงอย่างมากทีเดียว อีกทั้งยังมีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเอิกเกริกในงาน ก่อให้เกิดผลเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่มาร่วมงานตามมา
จนเมื่อมีการออกประกาศของจังหวัดสุรินทร์ นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศนโยบายเรื่องการจัดงานมหัศจรรย์งานช้างและงานกาชาดสุรินทร์ให้เป็นงานปลอดแอลกอฮอล์ ตั้งแต่ปี 2551 ได้เกิดการรณรงค์อย่างจริงจังมากขึ้น และพบว่า เมื่อมีการรณรงค์งานช้างและงานกาชาดให้ปลอดเหล้า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการจัดงานในจังหวัดแล้ว ยังสร้างความสุขและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวและคนที่มาร่วมงาน สถิติในแต่ละปีอัตราการตายและการบาดเจ็บลดลงอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงภายในงานลดน้อยลงตามมา
นายบำรุง เป็นสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานตอนล่าง กล่าวว่า กว่าที่จะมีการจัดงานช้างปลอดเหล้าได้นั้น ต้องผ่านอุปสรรคมาค่อนข้างมาก เพราะคนยังไม่ค่อยเห็นปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นมากนัก ทำให้หลายๆฝ่ายทั้งปราชญ์ชุมชน นักรณรงค์ต่างๆ และประชาคมจังหวัดสุรินทร์พยายามรณรงค์ ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในพื้นที่การจัดงาน โดยเริ่มรณรงค์มาตั้งแต่ปี 2551 หลังจากที่มี พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกมา มีการสร้างกระแสการรับรู้ในพื้นที่ มีการเฝ้าระวังของตำรวจ ทีมกู้ภัย เครือข่ายสื่ออาสา เยาวชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยกันเป็นหูเป็นตาและแจ้งเหตุแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจหากพบผู้กระทำผิด มีการการสำรวจจุดเสี่ยงภายในงานและรอบบริเวณจัดงาน การสร้างพื้นที่และกิจกรรมให้แก่เยาวชนที่ต้องการแสดงความสามารถของตนเองอย่างสร้างสรรค์ โดยพบว่าในปีนี้มีเยาวชนเข้ามาร่วมกิจกรรมกับทางเครือข่ายองค์กรงดเหล้ามากขึ้น และเชื่อได้ว่าจะเป็นกำลังสำคัญที่ดีที่ช่วยให้คนมาร่วมงานเปิดโอกาสให้เยาวชนมาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานปลอดภัยได้เช่นเดียวกันด้วยวิธีการต่างๆ ไม่จำเป็นต้องดื่มแอลกอฮอล์ก็สนุกและมีความสุขได้เช่นกัน
"เราอยากสร้างความสุขและความปลอดภัยให้คนที่มาร่วมงานด้วย โดยมีการประสานกับทางประชาคมจังหวัด นักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม ทีมตำรวจและสรรพสามิต พร้อมฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันทำให้งานช้างปลอดภัย เน้นการปฏิบัติหน้าที่และการบังคับกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่เข้มงวด นอกจากจะเชิญชวนให้คนมาเที่ยวงานอย่างมีความสุขโดยไร้แอลกอฮอล์ พร้อมตรวจ จับ ปรับจริงแล้ว ยังส่งคนกลับบ้านเมื่องานเลิกอย่างปลอดภัยอีกด้วย ตลอดจนมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างกระแส ส่งผลให้งานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์มุ่งสู่งานปลอดแอลกอฮอล์อย่างจริงจังมากขึ้น เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่นักท่องเที่ยวที่มาร่วมงาน เพื่อทวงศักดิ์ศรีความเป็นเมืองช้าง ที่คนเมืองช้างต้องช่วยกันนำอดีตและวัฒนธรรมดีงามกลับคืนมา นึกถึงเมืองสุรินทร์ต้องนึกถึงช้างที่เป็นสัตว์ประจำชาติ ไม่ใช่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นเจ้าของงาน"
ด้านนายแพทย์บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า หากเราผูกเหล้า เท่ากับ ทะเลาะวิวาทได้จะดี เพื่อเป็นการย้ำเตือนผลกระทบของการดื่มแอลกอฮอล์ให้คนได้รับรู้มากขึ้น เมื่อมาบวกกับการควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จิตสำนึกของคนที่มาร่วมงานมีความหวงแหนในวัฒนธรรมของตนเอง ตลอดจนการปลูกฝังให้ในท้องถิ่นหรือคนทั่วไปรักช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติไทยของเราให้มากขึ้น ก็จะช่วยให้เมื่อนึกถึงช้างแล้วต้องนึกถึงช้างที่จังหวัดสุรินทร์มากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างแน่นอน และถ้าหากเราเพิ่มปัจจัยสร้าง ในที่นี้คือสร้างสรรค์สิ่งที่ดี สร้างวัฒนธรรมที่ดีให้แก่ประชาชน ไม่นานปัจจัยเสื่อมที่จะทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราก็จะลดลงไปเองเรื่อยๆ
ปัจจุบันนี้ ภายหลังจากที่ได้มีการรณรงค์ลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานแสดงช้างของจังหวัดสุรินทร์ ชาวบ้านที่เห็นถึงผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะมาทำลายคุณค่าวัฒนธรรมเกิดความตระหนัก ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดงานที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดผลกระทบในงานอื่นๆตามมาได้ แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของคนในจังหวัดที่ร่วมกันสร้างและรักษาคุณค่าของประเพณีเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป จังหวัดสุรินทร์เป็นถิ่นช้างใหญ่ เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม มาถึงวันนี้จากที่เคยได้ยินว่ามาสุรินทร์ต้องกินสุรา ตอนนี้คงต้องไปเปลี่ยนความเสียใหม่แล้วว่า…มาสุรินทร์ ไม่กินสุรา เป็นเทวดาสุรินทร์ เสียแล้ว
ที่มา: สำนักงานเครือข่างองค์กรงดเหล้า
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต