งัดมาตรการชุมชนคุมน้ำเมา ทุกเทศกาล
มีข้อมูลที่น่าตระหนกจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เปิดเผยถึงรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย เพื่อนำเสนอให้สังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงปัญหาการดื่มสุราของคนไทยที่อยู่ในขั้นรุนแรง โดยข้อมูลระบุว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เฉลี่ยดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ คิดเป็น 7.1 ลิตรต่อคนต่อปี หรือเท่ากับ เบียร์ 61 ขวดใหญ่ ไวน์ 1 ขวด สุรากลั่น 18 กลม (ขวดใหญ่) รวมกัน
ทั้งนี้สัดส่วนการดื่ม เพศชาย ในวัยผู้ใหญ่และสูงอายุ มีอัตราการดื่มลดลง แต่กลับไปเพิ่มในเพศหญิงและกลุ่มวัยรุ่นหญิง เพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี จากข้อมูลข้างต้น สิ่งที่น่ากังวล และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ อัตราการดื่มที่เพิ่มในเพศหญิงและกลุ่มวัยรุ่นหญิงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นับเป็นสถานการณ์ที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้หญิงในพื้นที่ชนบท มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นถึงปัญหาสำคัญ จึงสนับสนุนให้มีการลด ละ เลิก พร้อมทั้งสำรวจสถานการณ์ที่น่าห่วงนี้ขึ้นในชนบท เพื่อนำข้อมูลมาเป็นฐานในการแก้ปัญหาต่อไป
นายพรณรงค์ ปั้นทอง ผู้ประสานงานศูนย์การเรียนรู้ชุมชนลด ละ เลิกเหล้า หมู่บ้านคำกลาง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้หญิงในชุมชนตำบลโนนหนามแท่ง จ.อำนาจเจริญ จำนวน 1,000 คน จากจำนวนประชากรผู้หญิงทั้งหมด 3,900 คน โดยกระจายทุกหมู่บ้านทั้ง 14 หมู่บ้าน ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานและวัยกลางคน อายุระหว่าง 31-50 ปี
นายพรณรงค์ ระบุว่า การสำรวจพบว่า ผู้หญิงที่มีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาสูงถึง 62.11% รองลงมาเคยดื่ม 21.94% และไม่เคยดื่มเลย 15.95% ข้อมูลพฤติกรรมการดื่ม พบว่า ครึ่งหนึ่งเริ่มดื่มครั้งแรก อายุ 10-20 ปี คิดเป็น 51.29% รองลงมาเริ่มดื่มครั้งแรก อายุ 21-30 ปี 30.85% โดยโอกาสที่ทำให้ดื่มครั้งแรกมาจากงานบุญประเพณีและงานเลี้ยง สูงถึง 62.57%
ซึ่งสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้ดื่มครั้งแรกเพราะเพื่อนชวนมากที่สุด คิดเป็น 25.57% ดื่มเพื่อเข้าสังคม 23.71% และดื่มเพื่อคลายทุกข์/คลายเครียด 10% และประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นิยมดื่ม ได้แก่ เบียร์ คิดเป็น 45.65% เหล้าสี 18.55% เหล้าขาว/เหล้าโรง 18.31%
“จากข้อมูลนี้ถือได้ว่า โอกาสที่ทำให้ดื่มครั้งแรก กับสาเหตุที่ทำให้ดื่มครั้งแรก มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน กล่าวคือ งานบุญประเพณีและงานเลี้ยงสังสรรค์ เป็นลักษณะงานนันทนาการทางสังคม มีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มเพื่อน และเป็นพื้นที่ให้ผู้หญิงได้พบปะพูดคุย คลายความทุกข์ คลายความเครียด และสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเป็นอิสระ”
เขาระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการดื่มของผู้หญิง คือความสะดวกในการซื้อหาในหมู่บ้านมากที่สุด ถึง 65.87% นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ ในเรื่องพฤติกรรมการดื่มของคนในครอบครัวของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า มีบุคคลในครอบครัวดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึง 80.81% ซึ่งจากการดื่มส่งผลกระทบต่อครอบครัว คือ การบ่น/การพูดที่ทำให้เสียความรู้สึก 37.57% รองลงมาการทะเลาะเบาะแว้งกับคู่สมรสหรือบุคคลในครอบครัว 16.18%
“สาเหตุในการดื่มนอกจากเพื่อนชวน การเข้าสังคมแล้ว ยังมีการดื่มเพื่อคลายความทุกข์/คลายเครียด ส่วนใหญ่ดื่มกับเพื่อน อาจสะท้อนให้เห็นว่า ผู้หญิงในชุมชนส่วนใหญ่ต้องการพื้นที่การพูดคุยที่เข้าใจ การได้ระบายความทุกข์ การแสดงออกที่ได้รับการยอมรับ เพราะในงานประเพณีและงานเลี้ยงทำให้ผู้หญิงได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนๆ ซึ่งในช่วงเวลาปกติผู้หญิงอาจไม่มีโอกาสได้พูดคุยระบายออกกับเพื่อนได้อย่างอิสระ ด้วยภาระในชีวิตประจำวันต้องดูแลครอบครัว ดูแลสามี ทำงานบ้าน” นายพรณรงค์ ระบุ
ผู้ประสานงานศูนย์การเรียนรู้ชุมชนลด ละ เลิกเหล้าฯ ระบุถึงการนำข้อมูลคืนให้ชุมชนรับรู้ รับทราบของปัญหา เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาว่า มีการเชิญผู้นำชุมชนทั้ง 14 หมู่บ้านมาประชุม และหามาตรการในร่วมมือกันแก้ไข ซึ่งได้มีการทำข้อตกลงแก้ปัญหาเรื่องแอลกอฮอล์และความรุนแรง โดยเฉพาะผู้หญิงแนวโน้มการดื่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเฉลี่ยแล้วอายุต่ำลงคือดื่มตั้งแต่อายุ 13 ปี
ตอนนี้ชุมชนเข้าใจปัญหามากขึ้น และทราบถึงต้นเหตุของปัญหาว่าเกิดขึ้นในงานประเพณี จึงเกิดข้อตกลงงานประเพณีปลอดเหล้า โดยให้ผู้นำชุมชนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการนำไปบอกลูกบ้าน โดยมีการประกาศข้อตกลงงานเทศกาลปลอดเหล้า โดยเริ่มจาก งานศพ งานบวช งานกฐิน และกำลังไปสู่งานแต่งงาน ให้งานเทศกาลเหล่านี้ปลอดเหล้าทั้งหมด นอกจากนี้ อบต.โนนหนามแท่ง ก็เป็นหน่วยงานสนับสนุนที่สำคัญในการรณรงค์หาความร่วมมือของคนในชุมชน มีมาตรการสำคัญว่า ในการสนับสนุนงบประมาณประเพณีเทศกาลต่างๆ จะต้องมีคำว่า ปลอดเหล้า ต่อท้ายทุกงาน และที่สำคัญควรมีศูนย์ให้คำปรึกษาผู้หญิงให้ครบทั้ง 14 หมู่บ้าน รวมถึงให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วม มีพื้นที่ได้ปรับทุกข์ระบายความเครียด
นอกเหนือจากนั้น ยังมีหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญอย่างผู้นำชุมชน ที่ต้องการลด ละ เลิก เหล้า และความรุนแรงในชุมชน อย่าง “กำนันสมควร ในทอง”กำนันตำบลโนนหนามแท่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ
“เราทำ mou กับหมู่บ้าน 14 หมู่บ้าน เพื่อให้มีเทศกาลหรือกิจกรรมต่างๆ ปลอดเหล้า ซึ่งชาวบ้านในชุมชนตื่นตัวกับการรณรงค์เรื่อง ลด ละ เหล้า เรียกได้ว่า ได้รับความร่วมมืออย่างกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านเขาเริ่มเข้าใจ และเห็นถึงข้อดีอย่างชัดเจนในการไม่มีเหล้าเข้ามาข้องเกี่ยว หากมีการจัดงานต่างๆ เพราะหนึ่ง มันประหยัด ไม่ต้องมานั่งจ่ายค่าเหล้าเป็นหมื่นๆ แสนๆ เมื่อก่อนจัดงาน ต้องเตรียมเงินไว้จ่ายค่าเหล้า เบียร์ เยอะมาก แต่ตอนนี้ไม่ต้องกังวล ค่าใช้จ่ายลดลงครึ่งหนึ่ง แถมเป็นบุญเป็นกุศล เขาก็ชอบกัน”
กำนันสมควร ยังบอกอีกว่า ยังมีมาตรการสำคัญอีกอย่างที่ทำควบคู่กันไปเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนนอกเหนือจากการนำกฎหมายมาใช้ หากมีการฝ่าฝืนข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้ ซึ่งถือเป็นสัญญาประชาคมนั้นคือ งัดมาตรการปรับเป็นสองเท่า ชาวบ้านคนใดฝ่าฝืนเขาต้องถูกปรับเสียเงินเป็นจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านพากันไม่อยากเสียเงิน จึงต้องระวังกันไปโดยปริยาย
เขาระบุว่า ผลของการใช้มาตรการทางสังคมอย่างมาตรการปรับเงิน ควบคู่ไปกับการใช้กฎหมาย ได้ผลที่ดี และเห็นผลอย่างชัดเจนในการปลอดเหล้าในชุมชน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ความต่อเนื่อง ของการ ลด ละ เลิก เหล้า ตนจึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมช่วยกันหนุนและส่งเสริมชาวบ้าน สร้างแรงกระตุ้นให้เขาทำความดีอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในชุมชน และขยายให้กว้างออกไป
“ผมคิดว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม หรือภาครัฐเอง ก็ต้องสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านให้เขาทำกิจกรรมนี้ต่อไป เช่น อาจจะมีรางวัลให้เขา ที่เขาทำดี หรือมีใบประกาศให้เขาภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ วิธีนี้มันจะช่วยให้เรารักษากิจกรรมดีๆ เหล่านี้ไว้ได้อย่างยั่งยืน” กำนันสมควร ระบุ
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง