งดเหล้า เซาหวย ลดรายจ่าย สู้วิกฤตโควิด-19

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจาก สสส.


งดเหล้า เซาหวย ลดรายจ่าย สู้วิกฤตโควิด-19 thaihealth


กระแสข่าวการกลับมาระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่กำลังเกิดในหลายประเทศขณะนี้ กำลังทำให้คนไทยเริ่มกลับมาหวาดวิตกอีกครั้ง อาจจะมีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะต้องรับมือกับสถานการณ์ "แพร่ระบาดรอบสอง" ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ซึ่งไม่เพียงต้องเผชิญความเสี่ยงต่อสุขภาพ แต่ยังสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศอย่างใหญ่หลวง เนื่องจากเราอาจต้องยอมรับความเป็นจริงที่ว่า แม้จะไม่เกิดวิกฤตโควิด-19 แต่ชีวิตปกติของคนไทยส่วนใหญ่ ก็มีฐานะทางการเงินขั้น "ยอบแยบ" อยู่แล้ว


ข้อมูลดังกล่าวนี้ ยังสอดคล้องกับผลการสำรวจล่าสุดจากเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน 10 จังหวัด ภายใต้การสนับสนุนโครงการรณรงค์หยุดพนัน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ร่วมกันสำรวจสถานการณ์และความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ปกติใหม่ทางการเงินในยุคโควิด-19" ระหว่างวันที่ 15-30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 1,060 คน


โดยผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ในวัย 15-60 ปี ส่วนใหญ่เป็นหญิง 62% ซึ่งจากการสอบถามด้านสถานะการเงิน พบว่ามีแค่ 1 ใน 5 ที่มีรายรับมากกว่ารายจ่าย และ 34% ที่รายรับไม่พอรายจ่าย แต่ทันทีที่สถานการณ์โควิด-19 มาเยือน ดูเหมือนจะยิ่งทำให้ปัญหาปากท้องทวีความรุนแรงขึ้น เพราะกว่า 56% ในกลุ่มนี้ยอมรับว่ามีรายได้ลดลง เวลาเดียวกันกว่า 52% กลับต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นด้วย ไม่นับรวมไปถึงอีก 36% ที่ยอมรับว่าโควิดทำให้มี "หนี้สินเพิ่ม"และแน่นอนว่าเงินออมในกระเป๋าพวกเขาย่อมลดลง ถึงกว่า 62%


ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวเสริมในงานแถลงข่าวการรณรงค์ "งดเหล้า เซาหวย ช่วยประหยัด สู้โควิด เริ่มที่เข้าพรรษานี้" เกี่ยวกับการปรับตัวทางการเงินขณะเผชิญโควิด-19 ของคนไทย ว่าส่วนใหญ่ 40% ใช้วิธีลดรายจ่าย ขณะที่ 29% พยายามหารายได้เพิ่ม โดยยังมี 13% ที่มีการปรับตัวด้านการออม แต่ที่สำคัญคือมี 15% เลือกวิธีก่อหนี้เพิ่ม


นอกจากนี้ เมื่อให้ผู้ตอบแบบสำรวจให้คะแนนความสามารถตัวเองในการจัดการการเงินช่วงโควิด มีเพียง 22% ที่ให้คะแนนตัวเองในเกณฑ์ดี-ดีมาก ที่เหลือ 57% ให้คะแนนตัวเองออกมาทางพอใช้-น้อย ซึ่งถือว่าน่าจะไม่พึงพอใจผลงานของตนเอง


"ในด้านการลดค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ คือการงดจับจ่ายสินค้าประเภทเสื้อผ้า 47% และลดซื้อสลากกินแบ่ง 40%  ส่วนหวยใต้ดิน 36% ตามด้วยลดค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 32% และ 11% ยอมลดบุหรี่" ธนากร เผยพฤติกรรมการรัดเข็มขัดของคนไทยในยุคโควิด


อย่างไรก็ดี หากไทยต้องเผชิญโควิดระบาดรอบ 2 จริง การสำรวจพบว่าคนไทยกลุ่มที่มีเงินสำรองอยู่ได้ถึง 1 ปี เพียง 9%  นอกนั้นอยู่ได้ไม่เกิน 1 เดือน 14% อยู่ได้ไม่เกิน 2 เดือน 29% และอยู่ได้ไม่เกิน6 เดือน 17% และนี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมคนไทยต้องลุกขึ้นมาสร้าง "ความปกติใหม่ทางการเงิน" ของตัวเอง


เอือก ผลเจริญ ภาคีเครือข่ายมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จ.สุรินทร์ คนต้นแบบที่เคยผ่านชีวิตทุกข์ระทมเพราะเหล้าและการพนันแชร์ประสบการณ์ชีวิตให้ฟังว่า  ในอดีตสามีติดสุรา บุหรี่ และเล่นหวยอย่างหนัก จนทำให้ครอบครัวลำบาก ประสบปัญหาทางการเงิน จนเกือบถึงขั้นต้องเลิกรากัน แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้รูรั่วในครอบครัวหายไปและทำให้สามีปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คือความเป็นห่วงอนาคตของลูกที่กำลังไม่ได้เรียนหนังสือ


"จากไม่มีจะกิน บ้านอยู่กระต๊อบ ฝนตกทีหลังคารั่วก็ไม่มีเงินอุด ต้องเป็นหนี้สินเพราะกู้มาเป็นค่าเหล้าค่าหวย แต่วันนี้เรามีสวนไร่นา ทำการเกษตรมีรายได้ มีเงินสะสม และยังได้ทำงานเพื่อสาธารณะ เพราะสามารถลด เลิกอบายมุขทั้งหมด" ส่วนวิธีเก็บเงินของป้าเอือก คือ ต้องวางแผนการเงิน เช่นถ้าได้ค่าตอบแทนหรือมีรายได้พิเศษเข้ามา จะแบ่งเงินส่วนหนึ่งออม สมมติมี 300 บาทเราจะเก็บ 100 บาท ที่เหลือถึงเอาไปซื้อกับข้าว และให้หลานไปโรงเรียน เราใส่กระปุกไว้ตั้งเป้าปี 2564 ถึงจะทุบกระปุกนั้น"  ป้าเอือกบอกเล่า


อีกหนึ่งตัวอย่างที่ปรับวิถีสู้จนได้ทั้งชุมชนคือ "บ้านหนองคูน้อย" สุนทร ธรรมนานบ้านหนองคูน้อย จ.สุรินทร์ เผยว่าชุมชนมีกว่า 100 หลังคาเรือน มีประชากรประมาณ 500 คน ก่อนหน้านี้คนในชุมชนส่วนใหญ่ไม่นิยมทำมาหากิน และใช้ชีวิตเมามายกับอบายมุข


"หมู่บ้านนี้เขาเรียกว่า หมู่บ้านสาละวันเพราะได้รับรางวัลยอดจำหน่ายเหล้าสูงในพื้นที่ ผมเองแต่งงานแล้วย้ายมาอยู่ก็เมาตามเขาไปด้วย คนสมัยก่อนยังไม่มีใครคิดเรื่องหารายได้เสริม หมดหน้านาก็มาตั้งวง ต้มเหล้ากินต้มขาย ไม่ก็พนัน" สุนทร เปิดปากเล่า


นานวันเข้า อบายมุขเริ่มกลายเป็นปัญหาชุมชน ช่วงปี 2545-2546 สถานการณ์เลวร้ายหนักสุด เพราะวัยรุ่นทั้งหมู่บ้านยกพวกตีกัน "เราพบว่ารากปัญหาทุกเรื่องมาจากเหล้า คือพอศีลข้อ 5 มันถูกละเมิดศีลข้ออื่นๆ ก็หายหมด ในพื้นที่มีทั้งเมามาย ลักเล็กขโมยน้อย ทะเลาะวิวาท เป็นผลพวงจากการดื่ม"


สุนทรกล่าวต่อว่า แม้จะมีหลายคนเคยคิดจะเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าไม่มีคนนำ ชวนคิดชวนทำก็จะเดินหน้าไปไม่ได้ "พอดีมีสถาบันครอบครัวเข้มแข็งเข้ามาชวนทำโครงการ พาเราไปดูงาน เราก็กลับมาสร้างกติกาชุมชนที่ต้องปฏิบัติได้จริง เริ่มจากประชาคมปลอดเหล้า แล้วขยายต่อโดยให้ อบต.ตั้งงบประมาณลงไปแต่ละชุมชน รณรงค์เอาประชาชนมารู้เรื่องผลกระทบการดื่ม ทั้งข้อเสียสุขภาพและเศรษฐกิจ"


"ในช่วงโควิดเราเองไม่มีปัญหาเรื่องขาดเงินเหมือนคนอื่น เพราะในชุมชนเรา นอกจากมีเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ยังมีการออมประจำเดือน โดยแรงจูงใจคือการปันผลเป็นทุนการศึกษาลูกหลานในชุมชน และสวัสดิการผู้สูงอายุที่ติดเตียงสมาชิกทุกคนต้องออมคนละไม่น้อยกว่า 30 บาท ตอนนี้รวมแล้วเฉลี่ยมีเงินออมกว่า 70,000-80,000 บาท ซึ่งเดือนไหนสมาชิกรายได้ดีเงินออมก็จะขึ้นสูงถึงแสนบาท" ประหยัดสู้โควิด


ธนากร ช่วยเสริมทิ้งท้ายว่า หนองคูน้อยเป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่า ถ้าชุมชนไหนมีระบบการช่วยเหลือทางการเงิน จะเปรียบเสมือนเป็นอ่างเก็บน้ำหรือระบบชลประทานชุมชนที่จะช่วยพยุงสมาชิกให้อยู่รอดในยามที่โอ่งของครัวเรือนเหือดแห้งได้ ซึ่งทั้งหมดใช้กระบวนการเติมความรู้ ผ่านการชวนคิดชวนคุย จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง


"สิ่งสำคัญคือเราเชื่อมั่นในพลังชุมชน เรามองว่าเกิดจากการระเบิดจากข้างใน เพราะทุกคนรู้โทษของอบายมุขอยู่แล้ว แต่บทบาทเราคือชี้ให้เขาค้นพบทุกข์ของเขาเอง และเจอทางออกของเขาเอง" ธนากร กล่าว


 

Shares:
QR Code :
QR Code