งดถวายอาหาร หวาน-มัน-เค็ม สร้างสุขภาวะที่ดีแด่พระสงฆ์

“อาหารตักบาตร” ถือเป็นสาเหตุหลักของโรคอ้วนลงพุงในพระภิกษุสงฆ์ เพราะจากผลสำรวจสุขภาวะของพระสงฆ์ไทยในปัจจุบัน พบว่าร้อยละ 45 ป่วยเป็นโรคอ้วน จากการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันและน้ำตาลในปริมาณที่สูง ซึ่งปัญหาน้ำหนักเกินนั้นยังเป็นต้นเหตุในอีกหลายโรค ไม่ว่าเป็นไขมันในเส้นเลือด เบาหวาน ความดัน หัวใจ ฯลฯ ขณะเดียวกันการขาดการออกกำลังกายในพระสงฆ์นั้น ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นในพระสงฆ์เช่นกัน

ในงานเสวนา “สถานการณ์เร่งด่วน สุขภาวะพระสงฆ์: ระเบิดที่รอเวลา” ที่จัดขึ้นโดยนักวิชาการด้านโภชนาการอาหารพระสงฆ์ เครือข่ายภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมถึงพระสงฆ์ที่มีประสบการณ์ตรงในการควบคุมน้ำหนักจากการงดอาหารมัน และบริโภคอาหารสุขภาพอย่างข้าวกล้อง ได้ออกมาสะท้อนปัญหา ตลอดจนแนวทางในการเลือกเมนูอาหารที่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้กับพระภิกษุสงฆ์ ในการเผยแผ่คำสอนและสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป

เริ่มจาก พระมหาเฉลิม ปิยทส.สี พระภิกษุสงฆ์ต้นแบบในโครงการพัฒนาวัดวิถีพุทธ มูลนิธินันทาราม เผยให้ทราบว่า “ทุกขภาวะทางกายหรือปัญหาโรคอ้วนในพระสงฆ์นั้น อาหารที่ญาติโยมถวายนั้นมีส่วนโดยตรง เพราะปัจจุบันจะสังเกตได้ว่าอาหารที่นำมาถวายพระนั้น นอกจากจะเป็นอาหารที่มีไขมันสูงยังมีน้ำตาลในปริมาณมากแล้ว บางครั้งเป็นอาหารสำเร็จรูปซึ่งค้างคืนและใกล้หมดอายุอีกด้วย ดังนั้นแม้พระสงฆ์จะไม่สามารถปฏิเสธอาหารที่ผู้มีจิตศรัทธานำมาถวายได้ แต่การมีสติรู้ประมาณในการเลือกบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม เน้นใช้หลักการเลือกบริโภคที่ว่า “ฉันเนื้อเหลือน้ำ” ก็เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันโรคอ้วนลงพุง และช่วยให้พระสงฆ์มีอายุยืนยาวต่อไปได้” พระมหาเฉลิมกล่าว

แม้ว่าอาหารที่ดีที่สุดสำหรับพระภิกษุสงฆ์นั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่แพงที่สุดอย่างขาหมู เป็ดย่าง ทุเรียน ดังนั้นอาหารสำเร็จรูปหรือ “บุญด่วน” นั้น ถือเป็นปัจจัยที่พุทธศาสนิกชนยุคใหม่เลือกใช้ทำบุญตักบาตร อันเนื่องจากภารกิจที่รัดตัว

ดังนั้นเกี่ยวกับกรณีนี้ รศ.ดร.พินิจ ลาภธนานนท์ ผู้เข้าร่วมโครงการร่วมแรงร่วมใจสร้างเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ไทย เผยให้ทราบว่า “ปัจจุบันอาหารสำเร็จรูปอย่าง “ไข่พะโล้” เป็นอาหารถุงที่พระสงฆ์ควรเลือกเลี่ยงมากที่สุด เพราะเสี่ยงต่อโรคอ้วน และที่สำคัญเป็นอาหารที่สำรวจพบว่าค้างคืนและเสียง่ายมากที่สุด ขณะเดียวกันขนมหวานอย่าง “ครองแครงน้ำกะทิ” ก็เป็นเมนูที่ควรเลือกเลี่ยงเช่นกัน เพราะอุดมไปด้วยน้ำตาล ไขมัน และเกลือในปริมาณที่สูง ดังนั้นก่อนที่ญาติโยมจะนำมาถวาย หรือพระสงฆ์เลือกที่จะรับประทานนั้น ก็ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ”

ส่วนอาหารที่เหมาะสำหรับการถวายพระสงฆ์นั้น รศ.ดร.พินิจ ระบุว่า “หลักๆ เลยควรเลี่ยงอาหารมันจัด เค็มจัด หวานจัด ของหมักของดอง และน้ำอัดลม แต่ควรเน้นเป็นเมนูที่จืดและอุดมไปด้วยโปรตีนและเกลือแร่จากผัก เช่น แกงเลียง แกงส้ม แกงจืด

ข้าวกล้อง หรือถวายน้ำนมวัวและโยเกิร์ตแทนน้ำผลไม้สำเร็จรูป ถ้าไม่สามารถเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปได้ ก็ควรเลือกแบบที่ปรุงสุกใหม่ๆ และเพิ่มโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมันเช่นเนื้อปลาลงไป เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าอาหารที่ดีสำหรับพระสงฆ์ไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป”

แม้อาหารหวานจัดและไขมันสูงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ทว่าอาหาร “รสจัด” และการขาดการออกกำลังกาย โดยการงดปฏิบัติกิจวัตรประจำวันในพระภิกษุนั้น ก็สามารถก่อให้เกิดทั้งโรคอ้วนและโรคกระเพาะอาหารที่พบได้ในพระสงฆ์จำนวนมากเช่นกัน

อาจารย์ลัดดาวรรณ แก้วสว่าง หัวหน้าโครงการพัฒนาวัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตพุทธบริษัทสี่ บอกว่า “ปัจจุบันมีพระภิกษุในต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อยที่นิยมบริโภคอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารเผ็ดอย่างแกงเผ็ด แกงคั่ว น้ำพริก ฯลฯ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสงฆ์ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารและโรคลำไส้ ขณะเดียวกันการที่พระสงฆ์ให้เวลาไปกับการศึกษาพระธรรมคำสอน จึงเป็นเหตุให้ต้องงดเว้นกิจวัตรประจำวันอย่างการบิณฑบาต การกวาดลานวัด การทำความสะอาดศาสนสถาน ก็ทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วน ดังนั้นการหันกลับมาปฏิบัติภารกิจหน้าที่ประจำวัน ตลอดจนการงดบริโภคอาหารเผ็ดจัด ก็น่าจะช่วยลดโรคที่อาจกระทบต่อสุขภาพของพระสงฆ์ ในการเผยแผ่คำสอนในพระพุทธศาสนาได้”

ด้านพระภิกษุธนิต สุจินโน จากวัดสุทธิวราราม ผู้ประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักรอบเอวและน้ำตาลในเลือด จากการเลือกบริโภคข้าวกล้องภาย 4 เดือน ระบุว่า “ข้าวกล้องเป็นข้าวที่มีประโยชน์ แต่หารับประทานได้ยาก และเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้รู้สึกอิ่มง่ายหรืออยู่ท้องกว่าการรับประทานข้าวขาวปกติ จากปกติที่กินข้าวสวยมื้อละ 3-4 ทัพพี แต่ปัจจุบันกินข้าวกล้องมื้อละ 2 ทัพพี ก็ช่วยลดความอยากอาหารในช่วงบ่ายได้ ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย ด้วยการเดินรอบวัดแบบเร็วๆ วันละประมาณ 30 นาที ก็สามารถช่วยลดรอบเอวที่เกิน 90 เซนติเมตรได้ภายในระยะเวลา 4 เดือน”

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code