“ค่ายสารคดี” เปิดเวทีเยาวชนสู่งานสร้างสรรค์
ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ปิดฉากไปอย่างสวยงามกับกิจกรรมค่ายนักเขียนสารคดี ที่ทางนิตยสารสารคดีจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี โดยเน้นถึงความสำคัญของภารกิจ “สร้างคนบันทึกสังคม” (สสส.) และภาคีเครือข่าย ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีนักเขียนและช่างภาพรุ่นใหม่ ต่อการสร้างสรรค์สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีคุณภาพของน้องๆ เยาวชนเพื่อวงการหนังสือไทย
แฟ้มภาพ
โดยปีนี้เป็นการจัด “ค่ายสารคดีครั้งที่ 11: 11 ปีค่ายสร้างคนบันทึกสังคม” เพื่อสร้างทีมคนทำงานสารคดีรุ่นใหม่ 25 คู่ 1 นักเขียนควงคู่ 1 ช่างภาพ มาร่วมเรียนรู้วิธีผลิตงานเขียนและการถ่ายภาพสารคดี ซึ่งผู้สมัครทุกคนได้ผ่านการคัดกรองและอบรมจนสามารถเข้าใจมุมมองการถ่ายภาพสารคดี และได้เรียนรู้การเขียนงานสารคดีอย่างลึกซึ้ง โดยมีทีมงานกองบรรณาธิการและทีมช่างภาพจากนิตยสารสารคดีเป็นผู้ให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงตลอดหลักสูตร ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดพิธีปิดโครงการค่ายสารคดีครั้งที่ 11 ลงไปเป็นที่เรียบร้อย พร้อมทั้งการมอบรางวัลงานสารคดีดีเด่น และภาพถ่ายสารคดีดีเด่น ตลอดจนรวบรวมผลงานที่ผ่านการคัดสรร ทั้งงานเขียนและภาพถ่ายสารคดี จัดพิมพ์เป็นพ็อกเกตบุ๊กและ e-Book เพื่อเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักทั่วไปในวงกว้าง
นายสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการนิตยสารสารคดี กล่าวว่า ในวาระโอกาสที่นิตยสารสารคดีเดินอยู่บนถนนสายหนังสือมาเข้าปีที่ 30 เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีนักเขียนและช่างภาพรุ่นใหม่ ต่อการสร้างสรรค์สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีคุณภาพเพื่อวงการหนังสือ จึงประสงค์จะเปิดอบรมผู้สนใจงานสารคดีทั้งการถ่ายภาพและการเขียนให้สามารถพัฒนาตนเองไปสู่เส้นทางสายนี้อย่างมีคุณภาพ
การจัดค่ายสารคดี ครั้งที่ 11: 11 ปีค่ายสร้างคนบันทึกสังคม จึงเกิดขึ้น เนื่องจากสังคมไทยยังขาดคนทำงานด้านสื่อที่จะถ่ายทอดความจริงในแง่มุมต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจให้แก่สังคมในประเด็นต่างๆ เพื่อให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของการเคารพในความหลากหลาย โดยผู้เข้าร่วมโครงการมีทั้งสิ้น 50 คน แบ่งเป็นกลุ่มด้านงานเขียน 25 คน และด้านถ่ายภาพ 25 คน เพื่อร่วมเรียนรู้การทำงานสารคดี ระยะเวลากว่า 4 เดือน โดยแบ่งออกเป็น 8 ครั้ง ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้ผ่านการบรรยายบนเวทีโดยครูผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็นและความสามารถผ่านการลงพื้นที่จริง เพื่อให้ได้เรียนรู้วิถีชุมชนหลากหลาย ที่ชุมชนสองฝั่งคลองบางกอกใหญ่ และชุมชนบ้านเขายี่สาร จ.สมุทรสงคราม อีกด้วย
โดยเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมิได้จำกัดเฉพาะผู้ที่เรียนด้านการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสนใจด้านงานเขียนและการถ่ายภาพได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ทำงานตั้งแต่ต้นจนถึงกระบวนการสุดท้าย ทั้งคิดหัวข้อ ลงพื้นที่ สัมภาษณ์ เขียน และถ่ายภาพ ซึ่งจะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด เพื่อจะนำไปพัฒนาให้ผลงานที่ออกมามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยผลงานทั้งหมดจะถูกรวบรวมเป็นหนังสือชื่อว่า “CAPTION จังหวะความทรงจำ วิถีชีวิต ศาสนา ชาติพันธุ์ สองฟากคลองหลวง หลากหลายอย่างกลมกลืน” มอบให้กับชุมชน และเผยแพร่ทางเว็บไซต์สารคดี
“มีเยาวชนจำนวนมากที่สนใจงานด้านสารคดี ทั้งการเขียนและการถ่ายภาพ ที่ยังมีความกังวลว่าจะใช่ทิศทางและอนาคตตนเองหรือเปล่า ซึ่งหากพวกเขาได้สัมผัสการทำงานอย่างจริงจัง ได้ตอบคำถาม ลิ้มรสอุปสรรคของคนทำงาน เขาก็จะตอบได้ว่าใช่ทิศทางของตนเองหรือไม่ และเชื่อว่าหลังผ่านการเรียนการสอนจนจบโครงการ พวกเขาส่วนใหญ่จะสามารถพัฒนาความคิด มีทัศนคติที่ถูกต้องต่องานสารคดี จนสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างสมบูรณ์ และนำไปต่อยอดในงานด้านต่างๆ ได้” บรรณาธิการนิตยสารสารคดี กล่าว
ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีรัชย์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การสร้างแรงบันดาลใจด้วยมุมมองที่หลากหลายในชุมชนทั้งจากการเรียนรู้จากชุมชน วิถีชีวิต ที่หลากหลายและสะท้อนมุมมองผ่านการเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนและภาพถ่ายความรู้เหล่านี้สามารถนำไปสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคตได้ จึงเป็นเรื่องที่ดีในการปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจ และเปิดโอกาสให้พวกเขาเหล่านั้นได้สัมผัสกับประสบการณ์จริงเพื่อสามารถนำมาถ่ายทอดออกสู่สังคม เมื่อใดที่ผู้รับสารเกิดความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญ แล้วนำไปต่อยอด ย่อมเกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศอย่างแน่นอน
สำหรับผลรางวัลงานสารคดีดีเด่นมีดังต่อไปนี้ รางวัลงานเขียนสารคดีดีเด่นอันดับ 1 ได้แก่ “มาผลิบานในบ้านเพื่อน : สำรวจโลกตะปุ่มตะป่ำของนักเรียนเมียนมาแห่งตลาดไท” โดยนลิน สินธุประมา, อันดับ 2 ได้แก่ “ความเชื่อระดับพิมพ์เขียว : ตี่จู้เอี๊ย” โดยชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์, อันดับ 3 ได้แก่ “นักบิดไต่ฟ้า-คนกล้าท้าแรงโน้มถ่วง” โดยโทรนัด เทียนอุดม รางวัลชุดภาพสารคดีชมเชยอันดับ 1 ได้แก่ “ถนนกีบหมู : ละครชีวิตแรงงานอิสระ” โดยวรรณิดา อาทิตยพงศ์ และชมเชยอันดับ 2 ได้แก่ “ตั้งโต๊ะกัง” เสือทองคำ ผู้ยืนหยัดแห่งราชวงศ์ โดยเจนบุภา จันทร์ตรี
ผลรางวัลภาพถ่ายสารคดีดีเด่นมีดังต่อไปนี้ รางวัลชุดภาพสารคดีดีเด่นอันดับ 1 ได้แก่ “ไอซ์ : ผมมองไม่เห็นและ (กำลัง) จะเป็นครู” โดยศุภสิน พูนธนาทรัพย์, อันดับ 2 ได้แก่ “บ้านไร่ไออรุณ : มากกว่าบ้านคือชีวิต (ที่ออกแบบ) ของวิโรจน์ ฉิมมี โดยแพรวนภางค์ กัปตัน, อันดับ 3 ได้แก่ “ถนนกีบหมู : ละครชีวิตแรงงานอิสระ” โดยจุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต รางวัลภาพถ่ายสารคดีชมเชยอันดับ 1 ได้แก่ “มาผลิบานในบ้านเพื่อน : สำรวจโลกตะปุ่มตะป่ำของนักเรียนเมียนมาแห่งตลาดไท” โดยพานิตา ขุนฤทธิ์ และชมเชยอันดับ 2 ได้แก่ “ข้าวหลามหนองมน ตัวตนในกระบอกไม้ไผ่” โดยณัฐพร แสงอรุณ.
นลิน สินธุประมา อายุ 20 ปี นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของรางวัลงานเขียนสารคดีดีเด่น อันดับ 1 บอกถึงความรู้สึกหลังจากเข้าร่วมโครงการค่ายสารคดี ครั้งที่ 11 ว่า ประโยชน์ที่ได้รับมานั้นไม่ใช่ความรู้จากทฤษฎี แต่เป็นประสบการณ์ การลงพื้นที่ และการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ที่ตำราไม่สามารถให้ได้ อาจจะมีคนสอนเราถึงหลักการสัมภาษณ์ แต่เมื่อเราไปลงพื้นที่จริง หากไม่มีประสบการณ์ เราก็จะไม่รู้เลยว่าควรรับมือกับอุปสรรคนั้นอย่างไร ซึ่งการลงพื้นที่แต่ละครั้ง ปัญหาก็จะแตกต่างกันออกไป ทำให้เรารู้จักการแก้ปัญหาที่หลากหลาย นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญในงานเขียนของเรา เวลาถ่ายทอดเรื่องราวออกไปนั้นต้องพยายามยึดข้อมูลเป็นหลัก โดยไม่ใส่ความคิดเห็นของตนเองลงไป แต่ต้องเป็นข้อมูลรอบด้าน หลากหลายมุมมอง เพื่อสร้างความตระหนักให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดกับงานเขียนที่เผยแพร่ออกไป
แพรว-แพรวนภางค์ กัปตัน อายุ 23 ปี นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะเภสัชศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ผู้คว้ารางวัลชุดภาพสารคดีดีเด่น อันดับ 2 เล่าให้ฟังว่า ถึงแม้จะเรียนคณะเภสัชฯ แต่มีความสนใจด้านงานเขียนและการถ่ายภาพ เพราะคิดว่างานประจำก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ส่วนงานอดิเรกก็เป็นสิ่งที่จะเติมเต็มความฝัน ซึ่งวันข้างหน้าตนอาจจะเป็นเภสัชกรที่สามารถเขียนและถ่ายภาพสารคดีได้ โดยการถ่ายภาพจะถ่ายตามที่เรารู้สึก ใช้ใจสัมผัส เพื่อให้ได้ภาพที่สามารถสื่ออารมณ์ได้โดยไม่ต้องจัดฉาก และเราก็อยากเก็บความรู้สึกนั้นไว้ให้คนอื่นได้เห็นเช่นกัน นอกจากนี้ การทำสารคดียังสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้ เช่น การมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง จากปัจจุบันที่เราอาจมองบางเรื่องเป็นความจริงในความคิดของเรา แต่ยังมีอีกหลายมุมมองที่ยังไม่ถูกสะท้อนออกมาให้เห็น ซึ่งทำให้มีความรอบคอบมากขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์