ค่ายวิถีชีวิตไตรสิกขา บทพิสูจน์เด็กพิเศษก็ “มีดี”
ผสานธรรมะ ฝึกฝนจิตอาสาเป็นประโยชน์กับสังคม
ความบกพร่องทางกายภาพอาจยัดเยียดข้อห้ามบางอย่างในสิ่งที่ต้องแสดงออกทางร่างกาย แต่สำหรับกิจกรรมที่มุ่งพัฒนา ‘จิตใจ’ เป็นสำคัญ
ในขณะที่เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เริ่มมีพื้นที่เรียน รู้เพื่อพัฒนาตัวเองผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่มากขึ้นตามโอกาสและฐานะทางสังคม ทว่า ‘เด็กพิเศษ’ ที่บกพร่องทางสติปัญญา หรือกลุ่มเด็กที่เรียกกันว่า ‘ออทิสติก’ แทบไม่มีสิทธิ์ได้รับโอกาสเช่นนั้นเลยแม้แต่น้อย
“เด็กพิเศษถูกผลักออกจากสังคม ถูกละเลยในเรื่องการบ่มเพาะที่เด็กทุกคนควรจะได้รับ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องคุณธรรม อาจเป็นเพราะสังคมเห็นว่าเด็กเหล่านี้เป็นคนไร้ความสามารถ พิการ เป็นเด็กปัญญาอ่อน ไม่สามารถเรียนรู้หรือเข้าถึงหลักธรรมที่ลึกซึ้งเป็นนามธรรมได้ โดยเฉพาะเรื่องความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเสียสละ” โต้ง พรมกุล พ่อพิมพ์โรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล โรงเรียนประจำสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญาและออทิสติก สะท้อนปัญหา
จริงอยู่ที่สารพัดปัจจัยซึ่งถูกยกเป็นเหตุผลพร้อมกับทำหน้าที่แบ่งคั่นระหว่าง ‘เด็กปกติ’ กับ ‘เด็กพิเศษ’ ในเวลาเดียวกันจะเป็นจริงอยู่บ้าง แต่หากสังคมรู้จักสร้างสรรค์และจริงใจที่จะพัฒนากลุ่มเยาวชนเหล่านี้ การเกิดกิจกรรมดีๆ เพื่อเด็กพิเศษเหล่านี้ไม่น่าจะยากเกินกำลัง
‘ค่ายวิถีชีวิตไตรสิกขา’ ที่โรงเรียนฉะเฉิงเทราปัญญานุกูลได้ริเริ่มขึ้น โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนและเครือข่ายพุทธิกาเป็นพี่เลี้ยง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี
“ค่ายวิถีฯ คือกิจกรรมที่ต้องการสร้างให้เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและเด็กออทิสติก มีทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่น รู้จักสร้างวิถีชีวิต การกินอยู่ ดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม รู้จักเกื้อกูลกันระหว่างเพื่อนโดยเน้นกระบวนการเรียนรู้เพื่อปลูกฝังคุณธรรมที่บูรณาการระหว่างบ้าน วัด และโรงเรียน ทั้งการ อยู่ค่ายพักแรม ที่ใช้ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน และการให้เด็กได้ร่วมทำบุญและบำเพ็ญประโยชน์ที่วัดทุกวันพระ โดยใช้ระยะเวลาตลอดปีการศึกษา เพื่อฝึกจนเป็นนิสัย” ครูโต้งในฐานะผู้จัดการโครงการ ให้นิยาม
เขามองว่า กิจกรรมที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นย้ำถึงการทำความดี เพื่อให้เด็กพิเศษพัฒนาตนเองผ่านการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่ม ผสมผสานระหว่างการบรรยายธรรม การฝึกสติ ตระหนักและรู้จักฝึกฝนให้มีจิตที่เป็นประโยชน์กับสังคม ปฏิบัติศาสนพิธีเพื่อเป็นชาวพุทธที่ดี รวมถึงช่วยสร้างเสียงหัวเราะ และความสุขให้แก่เด็กๆ ด้วย
“การทำค่ายให้แก่เด็กกลุ่มพิเศษสำคัญคือต้องมีความยืดหยุ่น มีกระบวนการที่เข้าใจง่าย สนุก ไม่น่าเบื่อ ลักษณะของกิจกรรมมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพความพร้อมและจริตนิสัยของเด็ก เช่น เราต้องจัดวางขั้นตอนของกิจกรรมให้เหมาะสมเป็นขั้นตอน ให้รู้จักประเมินตัวเอง ฝึกสติ รู้จักปล่อยวางแล้วจึงแทรกเนื้อหา รวมไปถึงการให้เด็กนั่งสมาธิก่อนการเริ่มกิจกรรมหลักในแต่ละช่วงทั้งภาคเช้า บ่าย และภาคค่ำเพื่อให้จิตใจของเขาสงบ ขณะเดียวกันตารางกิจกรรมต้องไม่เร่งรัดเพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และไม่เครียด”
“การสอดแทรกเนื้อหา หากเด็กเริ่มที่จะเบื่อ ไม่มีสมาธิ เราต้องไม่ยัดเยียดจนเกินไป แต่อาจจะใช้วิธีอื่นหรือช่วงเวลาอื่นสอดแทรกเนื้อหาแทน เช่น พระวิทยากรอาจจะสอนในขณะที่นักเรียนเจริญสติระหว่างพักผ่อน ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร เดินแถวกลับมายังโรงอาหาร เป็นต้น”ครูโต้งอธิบาย
‘มะเหมี่ยว’ ด.ญ.วรรณศา นักเรียนชั้นมัธยมต้น หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมบอกผ่านครูประจำชั้นที่ขณะนี้แปรสภาพเป็นล่ามจำเป็นว่า รู้สึกสนุกมากเพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมกิจกรรมเช่นนี้ ชอบที่พระอาจารย์ได้เล่านิทานให้ฟัง ได้ช่วยเหลือคนอื่นที่มาทำบุญ เช่น ช่วยจัดดอกไม้ เตรียมอาหารถวายพระ ยกของให้คนแก่ “รู้สึกดีที่ได้ช่วยคนอื่น รู้ว่าตัวเอง มีประโยชน์กับคนอื่น การทำดีนั้นทำได้ง่าย” เธอเล่า
เช่นเดียวกับ ‘พุธ’ ด.ช.สุพุธ อีกหนึ่งผู้ร่วมกิจกรรมที่บอกว่า ตลอดเวลาที่เข้าร่วมมีแต่ความรู้สึกสนุก เพราะทั้งหมดคือประสบการณ์ใหม่ที่ไม่ค่อยจะได้รับในชีวิตประจำวัน “ทำแล้วมีแต่คนชม อยู่ที่วัด พระและชาวบ้านก็ชม อยู่ที่โรงเรียนครูก็ชม กลับไปบ้านใหม่ๆ แม่ก็แปลกใจและถามว่าไปทำอะไรมา แปลกจัง เล่าให้ใครฟังเขาก็ชื่นชมเหมือนกัน” พุธ เล่าที่มาของความสุขด้วยน้ำเสียงที่ไม่ปะติดปะต่อ หากแต่สายตาคู่นั้นบ่งบอกว่าเขาพยายามจะสื่อสารความรู้สึกนั้นด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่แน่นอน มันเป็นความตั้งใจที่ไม่ต่างจากเด็กปกติ
“หลัง ‘ค่ายวิถีชีวิตไตรสิกขา’ ได้เริ่มและสิ้นสุดลง ความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นได้ทันทีเลยคือเด็กมีความกระตือรือร้นในการทำความดีมากขึ้น เขาเริ่มมีความเชื่อมั่นในตัวเอง จากที่ยังคิดว่าเป็นผู้รับเขาเริ่มจะเป็นผู้ให้กับคนใกล้ชิด” ครูโต้ง เล่าสิ่งที่สังเกตเห็น ค่ายนี้จึงเป็นอีกหนึ่งของการเรียนรู้กิจกรรมจากภายนอกให้แก่กลุ่มเด็กพิเศษเพิ่มเติ่มจากการเรียนปกติในโรงเรียน ที่ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
รศ.น.พ.กำจร ตติยกวี กรรมการบริหารแผน (คณะ 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฟันเฟืองสำคัญของโครงการนี้ให้ข้อมูลหลังการประเมินว่า ‘ค่ายวิถีชีวิตไตรสิกขา’ มีผลตอบรับที่ดี ต้องชื่นชมผู้ดำเนินกิจกรรมที่มีกลวิธีให้เด็กพิเศษเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมได้
สำหรับแนวทางการสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มพิเศษนั้น รศ.น.พ.กำจร มองว่า ต้องแยกประเภทความบกพร่องก่อน โดยแบ่งปัญหาของเด็กเหล่านี้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บกพร่องด้านปัญญา และกลุ่มที่บกพร่องด้านร่างกาย
“เด็กที่บกพร่องด้านปัญญา ต้องเสริมสร้างกิจกรรมที่ปลูกฝังให้เขารู้จักช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้อย่างเข้มแข็งและมีความสุข ขณะที่กลุ่มที่มีปัญหาทางด้านร่างกายในส่วนใดส่วนหนึ่งแต่อวัยวะอื่นใช้งานได้ดี ต้องสร้างกระบวนการที่ดึงส่วนที่มีประสิทธิภาพให้เขาสามารถดำเนินชีวิตได้เทียบเท่าคนปกติได้” ตัวแทนจากภาคีขับเคลื่อนด้านสุขภาพอธิบายคร่าวๆ
หมอกำจร ยืนยันว่า สสส. ในฐานะองค์กรหนึ่งในสังคมจะเป็นอีกส่วนหนึ่งของสังคมที่ให้โอกาสแก่เด็กกลุ่มพิเศษเหล่านี้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับที่ภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมที่จะให้โอกาสแก่พวกเขาเทียบเท่ากับคนปกติด้วย โดยเฉพาะโอกาสทำความดี ที่ปัญหาทางร่างกายไม่ใช่อุปสรรค
ที่มา: สำนักข่าวเนชั่น
update 14-08-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก
อ่านเนื้อหาทั้งหมดในคอลัมน์คลิกที่นี่