คุยเรื่องเพศและมุมมองสุขภาพ กับ’เก้า จิรายุ’

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


"สุขภาพดี" ไม่มีขาย อยากได้ต้องลงมือทำ และจะดีกว่าถ้าสามารถส่งต่อไปยังผู้อื่นให้ตระหนักถึงการสร้างสุขภาพที่ดี มีการสำรวจข้อมูลพบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมีภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า นอกจากนั้นยังมีเรื่องความเสี่ยงทางเพศ โรคที่เกิดจากสูบบุหรี่ การเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มสุราที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น


คุยเรื่องเพศและมุมมองสุขภาพ กับ'เก้า จิรายุ' thaihealth


ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม มูลนิธิยุวพัฒน์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มูลนิธิเอ็นไลฟ มูลนิธิเพื่อคนไทย และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดงาน "Good Society Expo : เทศกาลทำดีหวังผล" ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่พัฒนาต่อเนื่องจากงาน "คนไทยขอมือหน่อย" สร้างผลลัพธ์และร้อยเรียงความร่วมมือของภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมประเด็นต่างๆ กระตุ้นให้คนในสังคมมีความตระหนักและมีส่วนร่วมในการลงมือทำเพื่อพัฒนาสังคมมากขึ้น


จิรายุ ละอองมณี หรือเก้านักแสดงขวัญใจวัยรุ่น ร่วมพูดคุยผ่านเวทีสุขภาพดีมีทางเลือกว่า จุดเริ่มต้นของการคิดดี ทำดี รวมไปถึงการมีสุขภาพที่ดี สำหรับตนเริ่มต้นที่ครอบครัว โดยเฉพาะคุณแม่ที่สอนและแนะนำเรื่องต่างๆ ในการใช้ชีวิตตั้งแต่เด็ก สิ่งที่คุณแม่ย้ำเสมอคือต้องรู้จักหน้าที่ของตนเอง ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เนื่องจากยังเป็นเยาวชนต้องแบ่งเวลาเรียนกับทำงานให้พอดี สมัยที่ยังเรียนอยู่แม่ก็จะคอยดูงานที่เราสามารถรับได้โดยไม่กระทบเรื่องเรียนและสุขภาพ ขณะเดียวกันตัวเราเองก็ต้องขยันและเข้าใจสิ่งที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่ด้วย


เทคนิคการดูแลสุขภาพในแบบฉบับของ 'เก้า' มองว่า อย่าคิดว่าเราอายุยังน้อย เพราะหากใช้งานสุขภาพอย่างเต็มที่โดยไม่ดูแลก็เท่ากับเราเอาสุขภาพดีจากอนาคตมาใช้แล้ว การดูแลสุขภาพจึงเน้นการออกกำลังกายร่วมกับเพื่อน เพราะชอบกีฬาฟุตบอลและยังได้มิตรภาพดีๆ จากการเล่นร่วมกันในทีม


สำหรับเรื่องที่น่าเป็นห่วงของวัยรุ่นคงหนีไม่พ้น "เรื่องเพศ" เก้าให้ความคิดเห็นว่า แม่ย้ำเสมอว่าเราต้องเป็นสุภาพบุรุษต่อผู้หญิง ในส่วนของเรื่องเพศแม่ก็จะสอนและเล่าเรื่องต่างๆ ว่าผู้หญิงเขาคิดแบบนี้ ถึงเวลาเจอปัญหาและต้องแก้ปัญหา สิ่งที่แม่เคยพูดไว้ก็จะอยู่ในหัวเรา อยากฝากพ่อแม่ว่า บางทีวัยรุ่นอาจไม่เชื่อในตอนนั้น แต่เขาไม่ลืมหรอก บางทีต้องใช้เวลาหน่อย เมื่อเขาเจอกับเหตุการณ์จริงแล้วเขาจะเรียนรู้ว่ามันจริงและไม่ทำอีก หรือหากทำอีกก็อยากให้พูดต่อไป อย่างน้อยเขาได้รู้ว่าพ่อแม่หวังดี


ปัจจุบันมีกฎหมายวัยรุ่นที่เพิ่งออกมาใหม่อย่าง พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งท้องในวัยรุ่น ซึ่งมีสิ่งที่น่าสนใจคือ การให้ความรู้เรื่องเพศแก่เด็กและเยาวชนรอบด้าน


เก้ามองว่า เป็นเรื่องดี เพราะเรื่องเพศศึกษาเป็นสิ่งที่เราต้องปรับตัวตามยุคสมัย เดิมสังคมไทยมีค่านิยมของการรักนวลสงวนตัว แต่ด้วยการที่ทุกคนเข้าถึงสื่อออนไลน์กันหมด สามารถหาความรู้อะไรก็ได้ในนั้น ซึ่งความรู้ที่เขาหาเองในอินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้ถูก 100% ถ้าให้เขาเลือกศึกษาเองก็จะถามจากเพื่อน แต่จะดีกว่าไหมถ้าเขาได้รู้ข้อมูลที่ถูกต้องใส่ในหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่ใช่สอนเพียงแค่พื้นฐาน เพราะไม่ได้เป็นการสร้างความตระหนักในเรื่องเพศ แต่ยิ่งทำให้เด็กอยากรู้อยากลองมากขึ้นไปอีก


"แม้ว่าปัจจุบันเราจะได้รับสื่อด้านลบค่อนข้างมาก แต่ใช่ว่าจะไม่มีสื่อที่ดีเลย มีหลายหน่วยงานที่พยายามสร้างสรรค์สื่อดีๆ และโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่นเดียวกับ สสส. ที่พยายามผลักดันให้สังคมน่าอยู่ด้วยการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งสุขภาพไม่ได้หมายถึงเรื่องของการดูแลร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงจิตใจ ปัญญา และสังคม โดยงาน "Good Society Expo : เทศกาลทำดีหวังผล" ก็เป็นหนึ่งในโครงการดีๆ ที่สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยน่าอยู่เกิดขึ้นได้จากการร่วมมือของทุกคน การทำดีเพื่อสังคม จะต้องไม่เป็นการทำแล้วผ่านไป แต่ต้องทำแล้วเกิดผลดีต่อสังคมแบบยั่งยืน" เก้า จิรายุ ฝากทิ้งท้าย.


 

Shares:
QR Code :
QR Code