คุยกับผู้จัดการ สสส. (เดือนกันยายน 2566)

สวัสดีครับเพื่อนร่วมสร้างสุขทุกคน

              แนวทางหลักในการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกของ สสส. จะมุ่งเป้าสู่การยกระดับสุขภาพในระดับประชากร ซึ่งจะมีความซับซ้อนและยากลำบากกว่า การสร้างสุข ภาพรายบุคคล หรือรายกลุ่มมากนัก เพราะนอกจากต้องคำนึงถึงปัจจัยระดับบุคคลและกลุ่มแล้วยังต้องคำนึงถึงโครงสร้างและปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ นโยบายทางการเมือง และอีกหลากหลายปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่จะขับเคลื่อนสู่การปรับเปลี่ยนสุขภาวะด้านต่าง ๆ ของประชากรให้ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ทรุดลงจนเป็นวิกฤตสุขภาวะ

              บทเรียนการสร้างเสริมสุขภาพในระดับประชากร โดยเฉพาะระดับประเทศ ไม่ได้มีบทเรียนศึกษาไว้มากนัก และการนำมาเปรียบเทียบ หรือประยุกต์ใช้ข้ามประชาชาติก็ไม่อาจกระทำได้ง่ายนัก แต่ก็เป็นงานวิชาการที่ สสส. ได้พยายามสะสมปัญญาระดับนี้เพื่อมาใช้เป็นฐานการขับเคลื่อนงานในประเทศไทย และต่อมา หลายบทเรียนของงาน สสส. ก็ได้เข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงการวิชาการสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ

              เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ วารสาร British Medical Journal (BMJ 2023 เล่ม 8, ฉบับที่ 5) ได้ตีพิมพ์บทความวิจัยเรื่อง “คุณลักษณะของโครงการภาครัฐที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเสริมสุขภาพประชากร : การศึกษาเริ่มต้นในกลุ่มตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ” (Characteristics of successful government-led interventions to support healthier populations : a starting portfolio of positive outlier examples by Peter Bragge, Alex Waddell, Paul Kellner et al) ที่สนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลกและองค์กรระดับโลกหลายองค์กร โดยได้ถอดบทเรียน การจัดตั้ง สสส. ของไทยร่วมกับมาตรการระดับรัฐในอีกสี่ประเทศในห้าทวีป (ชิลี สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ และสวีเดน) ถึงปัจจัยความสำเร็จในการสร้างเสริมสุขภาพระดับประชากรเพื่อตอบโจทย์ของปัญหาวิกฤตทางสาธารณสุขในเรื่องโรคไม่ติดต่อและความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ

              ผลการศึกษานี้ ได้สรุปบทเรียนถึงปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จ ประกอบด้วย ภาวะผู้นำทางการเมือง การสื่อสารความรู้สาธารณะการสนับสนุนทุนที่มั่นคง และการวางแผนรับมือฝ่ายตรงข้าม ขณะที่อุปสรรคสำคัญได้แก่ การขัดขวางจากอุตสาหกรรม ธรรมชาติอันซับซ้อนของปัญหาสาธารณสุข และความประสานที่ไม่ดีของการทำงานข้ามหน่วยงานและระหว่างภาคส่วน

              ผลการศึกษาได้ช่วยตอกย้ำสนับสนุนเส้นทางเรียนรู้ตลอดการเดินทางกว่าสองทศวรรษของ สสส. ที่นำทางการทำงานระดับมหภาคของคณะกรรมการ ผู้บริหาร และภาคีสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. ที่ยังคงต้องพัฒนาบทเรียนใหม่ ๆ เพื่อรับสถานการณ์ใหม่ของวิกฤตสุขภาพของอนาคต และร่วมกับนานาชาติในการยกระดับสู่การแก้ปัญหาสุขภาวะโลก หรือ Healthy Planet ที่มนุษย์บนโลกได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในศตวรรษที่ผ่านมาแล้วว่า “สุขภาวะที่ยั่งยืน” ต้องคำนึงไม่เฉพาะสุขทุกข์ของมนุษย์ แต่ต้องรวมถึงสัตว์ สิ่งมีชีวิตและสรรพสิ่งในโลกควบคู่ไปอย่างสมดุล

              ดังที่กฎบัตรเจนีวา ที่เพิ่งออกมาขององค์การอนามัยโลกในปี 2565 ชี้ว่า สุขภาวะยุคใหม่ ต้องก้าวไปเชื่อมโยงกับระบบนิเวศโลก การพัฒนาสังคมที่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางสุขภาวะ ด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง

Shares:
QR Code :
QR Code