คุมเข้มยานอนหลับ-แพ้ถึงตาย
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ชี้ ยานอนหลับ เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ห้ามมีขายในร้านขายยาทั่วไป พร้อมคุมเข้มการจ่ายยาตามความจำเป็นเท่านั้น แนะวิธีการทำให้ยาลดฤทธิ์ลงทำได้โดยดื่มน้ำเพื่อเจือจางความเข้มข้นของยา
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ อย.ได้ออกมาตรการยก ระดับยาอัลปราโซแลม หรือยากลุ่มยานอนหลับ ให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและห้าม มีขายในร้านขายยาทั่วไป และร.พ.เอกชน จะมีผลบังคับใช้ วันที่ 16 มิ.ย.นี้
ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. กล่าวว่า ยาดังกล่าวเป็นยาที่แพทย์จะใช้ดุลพินิจในการจ่ายยาและจ่ายให้ในปริมาณที่ไม่มาก เพราะหากได้รับในปริมาณที่มากหรือบางรายที่มีอาการแพ้ยา อาจไปกดทับการหายใจส่งผลให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ภายหลังจากการยกระดับในการจ่ายยาอัลปราโซแลม จะทำได้เฉพาะในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น เพื่อป้องกันการลักลอบใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย
“กลุ่มโรคที่ได้รับยาอัลปราโซแลม คือ กลุ่มที่มีอาการเครียดรุนแรง นอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือ คนไข้ที่ต้องได้รับการผ่าตัด เป็นต้น หากร.พ.ใดต้องการขอครอบครองยาไว้ สามารถไปยื่นหนังสือได้ โดยในกรุงเทพฯ สามารถไปยื่นหนังสือได้ที่กองควบคุมวัตถุเสพติด ส่วนในต่างจังหวัดให้ไปยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด” ภก.ประพนธ์กล่าว
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า เคยมีรายงานเกี่ยวกับการมอมยาในสถานบันเทิงโดยใช้ยาดังกล่าว จนเรียกว่า ยาเสียสาว ซึ่งยากลุ่มนี้หากผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1-2 เม็ด ยาก็จะออกฤทธิ์เร็วขึ้นกว่าปกติในเวลาเพียง 5-10 นาทีเท่านั้น บางรายเมื่อดื่มยาเข้าไปแล้วยังจำเหตุการณ์ขณะหลับไม่ได้ ซึ่งการเที่ยวสถานบันเทิงควรดื่มเครื่องดื่มที่มีฝาปิดและต้องเป็นคนเปิดฝาเอง เพื่อป้องกันการถูกผสมยานอนหลับ
ทั้งนี้เมื่อดื่มเครื่องดื่มไปแล้วรู้สึกมึน เบลอ สะลึมสะลือผิดปกติ ควรรีบให้เพื่อนหรือคนที่ไว้ใจได้พาส่งกลับบ้านหรือพาส่ง ร.พ. โดยยาอัลปราโซแลม ตรวจพบได้ภายหลังจากรับเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 2-4 ชั่วโมง โดยวิธีการทำให้ยาลดฤทธิ์ลงทำได้เพียงการดื่มน้ำเพื่อเจือจางความเข้มข้นของยา
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด