คุณธรรมสร้างชาติ-เยาวชนสร้างคุณธรรม
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เมื่อได้เห็นผลสำรวจ "เรื่องคุณธรรมในคนไทย"ของ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ระหว่างวันที่ 1-20 ส.ค. 2559 จาก กลุ่มตัวอย่าง 2,166 คน พบว่า วิกฤติด้านคุณธรรมที่รุนแรง อันดับหนึ่งคือ ปัญหาความซื่อสัตย์สุจริต มีถึงร้อยละ 20.73 ต่อมาคือขาดความสามัคคี ร้อยละ 19.3 อันดับสามคือปัญหาจิตสำนึกสาธารณะร้อยละ 14.69
ขณะที่ร้อยละ12.51 ขาดระเบียบวินัย ไม่เคารพกฎหมาย ซึ่งหากให้ วิกฤติทางด้านคุณธรรม ขยายวงกว้างต่อไป คนไทย หรือประเทศไทยจะอยู่ได้อย่างไร "ปานมณี" บอกได้เลยว่า "ถ้าไม่มีการยับยั้ง ประเทศไทยจะเข้าสู่ "แดนมิคสัญญี" ที่หมายถึง แผ่นดินจะเต็มไปด้วยคนเลวที่ทำให้แผ่นดินลุกเป็นไฟ ซึ่งทางความเชื่อทางศาสนาจะบอกให้รู้ถึงเวลาแห่งกาลแตกดับของโลกแล้ว
ดังนั้นเพื่อเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม เราควรช่วยกันปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตอยู่ในเวลานี้ให้เป็นคนดี เพื่อเป็นหัวหอกในการนำสังคมสู่ความสงบสุขแล้วมีคุณธรรมส่วนใดเล่าที่เราจะปลูกฝังให้กับเด็กไทย
พบได้จากการสำรวจคุณธรรม ถึงเรื่องที่เยาวชนไทยควรได้รับการปลูกฝัง ใน 5 อันดับ คือ เรื่องระเบียบวินัยมาเป็นอันดับหนึ่ง คือ ร้อยละ 76.59 รองลงมาคือ ความซื่อสัตย์ สุจริต ร้อยละ 75.35 เรื่องน้ำใจ/เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ร้อยละ 57.94 ความกตัญญูกตเวที และความขยัน หมั่นเพียร ร้อยละ 52.82 และ 47.51 ตามลำดับ
และเพื่อเป็นการส่งเสริมคุณธรรมในตัวเด็กและหาทางป้องกันความเสื่อมทางคุณธรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้คัดเลือกตัวแทนของสภาเด็กและเยาวชน 70 จังหวัด และแกนนำเยาวชนจาก 4 ภูมิภาค กว่า 160 คน เข้าร่วมกิจกรรม "ค่ายเยาวชนปิดเทอมสร้างสรรค์ ตอน "เปิดกล่องแห่งการเรียนรู้ ผู้นำคุณธรรม 4.0" โดยใช้เวลา 2 วัน 1 คืน ณ บ้านผู้หว่าน อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมคาแร็กเตอร์ของเด็กรุ่นใหม่ ตามโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีสร้างคนไทยที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการเป็นผู้นำด้านคุณธรรม 4.0 กิจกรรมดังกล่าวจะเปิดมุมมองพร้อมการเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนให้มีค่านิยมที่พึงประสงค์ เพื่อก้าวสู่การเป็นคนไทยที่มีศักยภาพในอนาคต
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า โจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดสมรรถนะคนไทยในศตวรรษที่ 21 ให้เน้นการปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัย คุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี การจัดกิจกรรมค่ายฯ ครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอด ขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม ในการสร้างผู้นำในสภาเด็กและเยาวชน สู่การเปลี่ยนแปลงในการทำงานระดับพื้นที่ เพราะเราเชื่อในพลังของเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ผ่านค่ายนี้จะเป็นผู้นำหรือเป็น Change Agent ที่สำคัญ โดยหวังว่าเด็กๆ จะนำแนวคิดและ รูปแบบที่ได้จากค่ายจะเป็นตัวอย่างกิจกรรมในการขยายผลต่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชน
ทางด้าน คุณสุทธิ จันทรวงษ์ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ให้ความเห็นว่า หัวใจของการพัฒนาทุกสังคม ก็คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือบุคคลที่อยู่ในสังคม นั้นๆ การจะทำให้คนในสังคมมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์หรือมีคาแร็กเตอร์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยรัฐบาลชุดนี้ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 และวางเป้าหมายการพัฒนาคนไทยมีคุณธรรมที่พึงประสงค์ 5 ประการคือ ความพอเพียง มีวินัย สุจริต จิตอาสา และความรับผิดชอบ
คุณสุทธิ จันทรวงษ์ ยกตัวอย่างแม่แบบในการสร้างประชากรที่พึงประสงค์ของประเทศเพื่อนบ้านให้ทราบว่า มีให้เห็นได้จากประเทศมาเลเซีย ที่ได้กำหนดคุณลักษณะของคนในชาติไว้ใน "พิมพ์เขียวยุทธศาสตร์ชาติมาเลเซีย" หรือ Malaysia Blueprint เน้นความสามัคคีของคนในชาติ กำหนดวิสัยทัศน์ 2020 ไว้ว่า เสริมสร้างความสามัคคี และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเป็นระบบ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ ที่กำหนดคุณลักษณะของคนในชาติในแผนการศึกษาชาติไว้ว่า "โรงเรียนนักคิด ชาติแห่งการเรียนรู้" ดังนั้นการสร้างคนของประเทศให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญที่จะช่วยพัฒนาให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นสังคมสะท้อนให้เห็นถึงระเบียบวินัย ความรัก ความสามัคคี ได้ชัดเจนโดยไม่ต้อง สงสัย
สำหรับประเทศไทยจะไปสู่จุดนั้นได้ ก็ด้วยการเริ่มต้นจากคนรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะ แกนนำเยาวชนโดยเชื่อมั่นว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่ความยั่งยืน อันเป็นการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ขยายผลสู่สังคมและประเทศให้เติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป ซึ่งเมื่อกล่องคุณธรรมถูกเปิดออก คนที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วย วิถีแห่งคุณธรรม ก็จะก้าวย่างออกมา แล้ว ขยายงานด้านคุณธรรมออกไปสู่หมู่บ้านหรือชุมชน โดยทุกคนมีเป้าหมายเหมือนกันคือการสร้างเครือข่าย และนำสิ่งที่ได้รับกลับไปพัฒนาชุมชนของตนให้ดีขึ้น
กิจกรรมเปิดกล่องเรียนรู้ครั้งนี้ จึงเป็นกิจกรรมที่มีส่วนร่วมกับเพื่อนหลายๆ จังหวัด เหมือนมาศึกษากิจกรรมและสร้างเครือข่ายเพื่อไปพัฒนาต่อยอดต่อไป