คุณค่าโภชนาการ มื้อกลางวันเด็กไทย
โภชนาการที่ดีย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยน แปลงชีวิตเด็กโดยเสริมพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ
แต่จากการสำรวจเด็กไทยทั่วประเทศ 2.29 ล้านคน ในปี 2557 พบว่าเด็กไทยมีปัญหาโภชนาการทั้งขาดและเกิน สาเหตุมาจากพฤติ กรรมการกินที่ไม่เหมาะสม และอยู่ในสิ่งแวด ล้อมที่ไม่เอื้อต่อการมีพฤติกรรมโภชนาการที่ดีโดยเฉพาะอาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดบริการให้กับนักเรียนมีคุณภาพต่ำ
แม้ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 จากวันละ 13 บาทต่อคน เป็นวันละ 20 บาทต่อคน รวมงบประมาณเกือบ 25,000 ล้านบาท โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บริหารจัดการงบฯอาหารกลางวันดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้
การจัดการอาหารดีขึ้น แต่ยังขาดสารอาหารที่จำเป็นและอาจยังไม่เพียงพอ เพราะต้องยอมรับว่าการควบคุมคุณภาพอาหารให้ได้มาตรฐานนั้นทำได้ยาก โดยเฉพาะโรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่สังกัด อปท. ขนาดเล็ก ยังขาดความรู้ความเข้าใจการบริหารจัดการที่ถูกต้อง
นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่ากรมอนามัยให้ความสำคัญกับโภชนา การเด็กเป็นอันดับต้นๆ โดยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวันนักเรียนตั้งแต่พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องการ จัดบริการอาหารที่ได้มาตรฐานโภชนาการ โดย งบฯอาหารกลางวันที่ ครม.มีมติเพิ่มเป็น 20 บาทนั้น จะส่งผลให้นักเรียนทั่วประเทศเกือบ 6 ล้านคนได้รับประโยชน์ อย่างไรก็ตามหากจะให้งบประมาณเหล่านี้เกิดประโยชน์สูงสุด อปท. ที่จะรับไปบริหารจัดการต้องคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก
ทั้งนี้จากการติดตามของกรมอนามัยพบว่า มีโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับการโอนเงินค่าอาหารกลางวันนักเรียนมื้อละ 20 บาทจาก อปท. หรือโอนเงินล่าช้ามาก ทำให้นักเรียนขาดโอกาส ไม่ได้กินอาหารที่มีคุณภาพหรือบางแห่งยังจัดบริการอาหารกลางวันที่ไม่ได้คุณภาพอย่างที่ควร จะเป็น เนื่องจากข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ความพร้อมของแม่ครัว ระบบการจ้างเหมาที่โรงเรียนไม่สามารถควบคุมคุณภาพและวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารได้ หรือครูผู้ดูแลยังไม่มีความรู้การจัดการอาหารที่ดีพอทั้งเรื่องคุณค่าอาหารและปริมาณที่เพียงพอ ทำให้อาหารไม่ได้คุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนา การครบถ้วน
"กรมอนามัยค้นพบรูปแบบการบริหารจัดการงบประมาณโครงการอาหารกลางวันให้มีประสิทธิผลคือ การมีครัวกลาง หรือครัวประจำท้องถิ่นที่มีแม่ครัวและนักโภชนาการประจำอยู่ โดยนำงบประมาณทั้งหมดมารวมกัน และควบคุมคุณภาพเบ็ดเสร็จในจุดเดียว เมื่อปรุงอาหารเสร็จก็จัดส่งไปตามโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต่อไป เช่น อบต.เมืองแก จ.สุรินทร์ ที่ได้ตั้งครัวกลางขึ้นจนประสบความสำเร็จไปแล้ว" นพ.ณรงค์กล่าว
องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางเสาธง จ.สมุทรปราการ เป็น อปท. ขนาดใหญ่ มีทั้งเขตเมืองอุตสาหกรรมและเขตชนบท การบริหารจัดการอาหารกลางวันให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 5 แห่ง ให้มีมาตรฐานเดียวกันจึงทำได้ยาก
นายเกษม แซ่ลี้ นายก อบต.บางเสาธง กล่าวถึงการจัดการอาหารกลางวันในเขตที่รับผิดชอบว่า บริบทพื้นที่ของ อบต.บางเสาธงแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือเขตเมืองและชนบท เรื่องการตั้งครัวกลางจึงเป็นไปได้ยาก การบริหารจัดการคือให้กองการศึกษาเป็นศูนย์กลาง แต่ละศูนย์มีหัวหน้าศูนย์ดูแล มีขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน
สำหรับเมนูอาหารกลางวันใช้โปรแกรมสำเร็จรูปการจัดอาหารของกรมอนามัย แต่ละเมนูจะทำเท่าที่ทำได้แต่จะไม่ให้ซ้ำกันใน 2 สัปดาห์ และพยายามเลือกใช้วัตถุดิบในพื้นที่ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งไม่ทำให้ต้นทุนอาหารเพิ่มขึ้น บางครั้งก็ซื้อได้ในราคาต้นทุน บางคนก็เอามาให้ บางอย่างแม่ครัวซึ่งใช้ระบบจ้างเหมาแบบตกลงราคา ในงบ 20 บาทต่อคน ต้องมีอาหารและขนมหวานหรือผลไม้ควบคู่ด้วย
ขณะที่ นายเชาวลิตร บุญรอด นายก อบต.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ กล่าวว่าทางอบต.จะตกลงกับผู้รับเหมาว่าแต่ละเมนูต้องได้ตามหลักโภชนาการ มีข้าวกับผลไม้ และต้องเข้ารับการอบรมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) นอกจากนี้จะมีคณะกรรมการแต่ละศูนย์ตรวจรับอาหาร เพื่อให้เด็กได้รับโภชนาการที่ถูกต้องสมวัย
การแก้ปัญหาคุณภาพอาหารกลางวันโดยให้ท้องถิ่นเข้ามาขับเคลื่อนนั้น นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ชี้ว่า สิ่งที่ท้องถิ่นต้องเร่งรัดคือ 1. พัฒนาบุคลากรท้องถิ่นและชุมชนให้ตระหนักและมีศักยภาพในการบริหารจัดการงานโภชนาการในชุมชน 2.เร่ง รัดการพัฒนาคุณภาพอาหารในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างจริงจัง โดยส่งเสริมให้มีครัวกลางในท้องถิ่นที่มีความพร้อมและจัดจ้างให้มีนักการจัดการด้านอาหารและโภชนาการในระดับตำบลและเทศบาล และ 3.ควรบรรจุงานอาหารและโภชนา การเข้าไว้ในแผนพัฒนาตำบล และหันมาลงทุนสร้างลูกหลานตนเองให้มีโภชนาการสมวัย ไม่ผอม เตี้ย อ้วน อีกต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต