คิดดี Care+ สื่อสารช่วยเหลือ เติมพลังใจบนโซเชียลมีเดีย
ที่มา : ไทยโพสต์
ภาพประกอบจาก สสส.
นอกจากเว็บไซต์ เพจเฟสบุ๊คแล้ว โซเชียลมีเดียอย่างแอปพลิเคชันติ๊กต๊อก (TikTok) เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มสุดอินเทรนด์ที่จะดึงพลังคนรุ่นใหม่มาร่วมผลิตคอนเทนต์ดีๆ ช่วยสร้างสรรค์สังคมได้ เหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับนักสื่อสารสุขภาวะภาคใต้และภาคีเครือข่าย เดินหน้าโครงการคิดดีชีวิตวิถีใหม่ สื่อเท่าทันสุขภาวะ ภายใต้ชื่อแคมเปญ "คิดดี Care+" ออกแบบกิจกรรมบนโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ผลิตสื่ออย่างมีความผิดชอบ ช่วยสร้างเสริมสุขภาวะด้านจิตใจของคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ให้ดีขึ้นในยามวิกฤตโควิด
ใครๆ ก็เล่นติ๊กต๊อก แคมเปญนี้ นำร่องจัดอบรมออนไลน์ "บ่มเพาะนักสื่อสารสุขภาวะ" เพื่อปั้นนักสื่อสารสุขภาวะใน 14 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ รังสรรค์สื่อออนไลน์ช่วยเหลือและส่งต่อความรู้ดีๆ หนุนการดูแลกายและใจ ซึ่งได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ร่วมผลิตสื่อคลิปวิดีโอส่งกำลังใจคนไทยในแคมเปญ "คิดดี Care+" เผยแพร่บนแอปติ๊กต๊อกแล้วกว่า 1,000 ชิ้น ภายในระยะเวลาเพียงเดือนเดียว มีการแชร์เรื่องราว ทำให้"คิดดี Care+" เป็นที่พูดถึง ในฐานะแพลตฟอร์มกระตุ้นให้เด็กไทยเกิดความฉลาดทางดิจิทัล มีศักยภาพจัดการกับสุขภาวะใจของตัวเอง และเกิดไอเดียใช้สื่อได้อย่างปลอดภัยสร้างสรรค์
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลประชาชนต้องใช้ชีวิตอยู่บ้าน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เรียนผ่านระบบออนไลน์ มีโอกาสใช้สื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น จากข้อมูลการใช้สื่อดิจิทัลของเด็กและเยาวชนไทยในอนาคต ปี 2564 โดยสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) พบว่า เด็กไทยใช้สื่อออนไลน์มากถึง 6-8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อการศึกษา 61% และเพื่อการเข้าสื่อสังคมออนไลน์ 39%
ที่น่าห่วง ดร.ไพโรจน์ บอกว่า เด็กใช้สื่อสังคมออนไลน์โดยไม่รู้เท่าทัน เพราะขาดการยับยั้งชั่งใจ เสี่ยงได้รับสื่อที่มีเนื้อหารุนแรง หยาบคาย ลามกอนาจาร ประกอบกับการเรียนออนไลน์และใช้ชีวิตอยู่บ้านเป็นหลักต้องเผชิญกับความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า กระทบทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ส่งผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ในระยะยาว โครงการคิดดีชีวิตวิถีใหม่ สื่อเท่าทันสุขภาวะ เป็นเครื่องมือปลูกฝังเด็กไทยให้รู้เท่าทันสื่อ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีวิธีการจัดการความเครียดที่เหมาะสม และสามารถยกระดับเป็นนักสื่อสารสุขภาวะผ่านกิจกรรมต่างๆที่ออกแบบมา สื่อออนไลน์ที่ผลิตออกมาจะมีความรับผิดชอบต่อสังคม และพัฒนาพื้นที่สื่อสร้างสรรค์นำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ
ฮาริส มาศชาย ผู้จัดการโครงการคิดดีชีวิตวิถีใหม่ สื่อเท่าทันสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า โครงการฯ มุ่งออกแบบและสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อร่วมฝ่าวิกฤต โควิด-19 บนแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ โดยแบ่งเป็น 5 กิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย 1.คิดดี Help ให้ความช่วยเหลือ อาสาร่วมปักหมุดสื่อสารช่วยเหลือในชุมชน ร่วมกับศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา ออกแบบและผลิตสื่อสำหรับแจ้งจุดตรวจโควิด-19 และแจ้งพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อในภาคใต้ เพื่อสื่อสารและเปิดรับอาสาสมัครในพื้นที่
2.คิดดี Club Health สื่อสารให้กำลังใจ ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จ.สงขลา จัดตั้งคลับเฮลท์ ร่วมพูดคุยให้กำลังใจดีๆ เติมพลังใจในยามวิกฤตโควิด-19 เพื่อส่งต่อพลังบวก ให้ประชาชนในพื้นที่ 3.คิดดีต้าน Fake News ร่วมกับ โคแฟค ประเทศไทย ตรวจสอบข้อมูลข่าวปลอมจากโควิด และสร้างพลเมืองที่รู้เท่าทันสื่อ หยุดการส่งต่อข่าวปลอม รวมถึงผลิตสื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง เช่น ข้อดีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงโรคโควิด-19
4.คิดดีสู้โควิด-19 สื่อสารสร้างความรู้ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา ผลิตสื่อสำหรับการดูแลตนเอง เพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ เน้นส่งต่อสาระความรู้ดี ๆ และเรื่องราวที่น่าสนใจสู่สังคม และ 5.คิดดีช่วยชาวบ้าน ร่วมกับอุทยานการเรียนรู้ยะลา (TKpark Yala) ระดมไอเดียส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชาวใต้ เป็นการแก้ปัญหาปากท้อง ช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนเมื่อเผชิญวิกฤต
"การออกแบบการสื่อสารผ่าน 5 กิจกรรม เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ผลิตผลงานอย่างสร้างสรรค์ มุ่งพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาสื่อสารอย่างมีพลังและเท่าทันสุขภาวะ ถือเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ ส่งเสริมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ท่ามกลางวิกฤต พลังเล็กๆ คิดดี Care+ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. จะสร้างนักสื่อสารสุขภาวะเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมในวงกว้าง ภายในปีนี้มีเป้าหมายจะขยายโครงการไปใน ภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ" ฮาริส กล่าว
ทั้งนี้ ติดตามรายละเอียดกิจกรรมภายใต้โครงการคิดดีชีวิตวิถีใหม่ สื่อเท่าทันสุขภาวะ สสส. ได้ที่ www.คิดดี.com และเฟซบุ๊กแฟนเพจ KiddeeiDOL