คาร์ฟรีเดย์ ปั่นสองล้อ รักษ์โลก
“คาร์ฟรีเดย์” เริ่มครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2537 ที่รวมกับประชาชนใน 848 เมืองของ 25 ประเทศทั่วโลกผนึกกำลังรณรงค์ให้เกิดการตื่นตัวเพื่อลดพลังงาน หันไปใช้รูปแบบการเดินทางอื่น ๆ แทนรถยนต์ส่วนตัว เช่น ใช้รถจักรยาน ใช้คาร์พูล ทางเดียวกันไปด้วยกัน (Car Pool) เดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้า ใช้รถขนส่งสาธารณะ เช่น รถประจำทาง แถมยังช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุ นับแต่นั้นมาวันที่ 22 ก.ย. ของทุกปี ก็เป็น “คาร์ฟรีเดย์”
สำหรับประเทศไทยเริ่มรณรงค์ “คาร์ฟรีเดย์” เมื่อปี 2543 และมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ด้วยริ้วขบวนคนรักจักรยานกว่าหมื่นคัน ขี่รณรงค์เป็นรูปธงชาติไทย สร้างปรากฏการณ์การตระหนักต่อการรักษ์โลก หันมาใช้การเดินทางในรูปแบบนี้ เพื่อช่วยประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม
นายมงคล วิจะระณะ อุปนายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย หรือน้าหมี ที่เป็นผู้ที่รู้จักของเหล่าคนวงการสองล้อ โดยน้าหมี กล่าวถึงกระแสการขี่จักรยานในประเทศไทยว่าเป็นไปในทิศทางที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ได้กระแสตอบรับจากผู้ใช้เป็นอย่างดี โดยยกตัวอย่างจากผู้ที่สสมัครเข้าร่วมกิจกรรมในปีนี้ถึงนับหมื่นคน
นายมงคลบอกว่า ปีนี้มีการจัดกิจกรรมทั่วประเทศ 77 จังหวัดรวมกรุงเทพฯ โดยกรุงเทพฯ มีผู้ลงทะเบียนร่วมกิจกรรมผ่านทางเว็บไซต์ 11,000 คน ส่วนในต่างจังหวัดประมาณ 5 หมื่นคน ปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเรามีการจัดกิจกรรมตั้งแต่ปี 2543 พบว่ามีผู้สนใจลงทะเบียนและร่วมกิจกรรมจากหลักร้อยเป็นหลักพัน หลักพันก็เป็นหลักหมื่นแล้ว และปีนี้ถือว่ามากที่สุด กระแสของคนที่ใช้จักรยานมาจากการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจากตัวอย่างเมืองที่ใช้จักรยานในยุโรป ส่งผลให้ดูแล้วอากาศดี คุณภาพชีวิตคนในเมืองดีขึ้น ผู้คนจึงให้ความสนใจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามขณะนี้สมาคมฯ เตรียมเสนอไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อให้จัดทำเส้นทางจักรยานในบริเวณเส้นทางวงแหวนรอบใน ประกอบด้วย จรัญสนิทวงศ์ทั้ง 3 เส้นทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา คลองเตย สุขุมวิท เพชรบุรีตัดใหม่ สี่แยก อสมท รัชดาฯ ทั้งสาย วิภาวดี วงศ์สว่าง พระราม 7 และไปบรรจบกับจรัญฯ อีกครั้ง รวมระยะทาง 46 กิโลเมตร เพื่อคืนคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น
“เส้นทางวงแหวนรอบในชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นวงแหวน ส่วนด้านในของวงแหวนก็เรียกว่าเมืองเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้า ส่วนด้านนอกก็เรียกว่าชานเมือง และคนส่วนหนึ่งก็อาศัยอยู่ชานเมือง หากใครที่ต้องการขี่จักรยานเข้ามาทำธุระในเมือง และเมื่อขี่ได้อย่างปลอดภัยก็จะได้ไปทุกที่ของกรุงเทพฯ เราจึงเริ่มที่เส้นทางวงแหวนรอบในก่อน ผมคิดว่าการจัดทำเส้นทางจักรยานดังกล่าวนั้นจะใช้งบประมาณที่ถูกกว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็หวังว่ากรุงเทพฯ จะเห็นความสำคัญในส่วนนี้ ผมว่ามันน่าจะทำให้ชีวิตเรามีความสุขมากกว่าที่มารอรถติดนานๆ อย่างไรก็ตามหากทำได้ก็เชื่อว่าการสร้างเส้นทางดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ปัญหารถติดเบาบางลง ซึ่งต้องทำควบคู่กับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด”
นายมงคล ยังยกตัวอย่างเมืองโบโกตา เมืองหลวงของประเทศโคลัมเบีย ที่มีรูปแบบคล้ายกับกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องของประชากร ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ เช่น รถติด อาชญากรรม คุณภาพชีวิต แต่เมื่อโบโกตา ปรับเปลี่ยนเพิ่มพื้นที่ทางเท้า เส้นทางจักรยานที่ปลอดภัย ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองดีขึ้น และปัญหารถติดก็ลดลงได้ถึง 40%
“ผมอยากยกตัวอย่างเมืองโบโกตา เมืองหลวงของประเทศโคลัมเบีย ลักษณะคล้ายกรุงเทพฯ และมีประชากรใกล้เคียงกันประมาณ 8.5 ล้านคน ขณะที่กรุงเทพฯ มีประมาณ 10 ล้านคน รถติด อาชญากรรมสูง ชุมชนแออัด แต่หลังจากที่เมืองโบโกตามีการปรับปรุงเส้นทางจักรยานเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชน มีทางเท้า ปรากฏว่ามีคนใช้จักรยานเพิ่มขึ้นเป็นแสนคน ปัญหารถติดลดลง 40% ประกอบกับมีการปรับปรุงพื้นที่ต่างๆ ได้ดีขึ้นซึ่งก็กลายเป็นต้นแบบให้กับหลายเมืองในการใช้จักรยาน สมาคมฯ จึงเห็นว่าในเมื่อโบโกตาคล้ายกรุงเทพฯ ดังนั้นเราน่าจะนำมาเป็นต้นแบบให้กับกรุงเทพฯ ได้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”นายมงคลกล่าว
ในระหว่างนี้แม้จะยังไม่มีเส้นทางจักรยานที่สมบูรณ์แบบเกิดขึ้นนั้น นายมงคล บอกว่า “ผมว่าคนที่ขี่จักรยานบนถนนต้องบอกว่าเป็นคนที่มีความกล้าหาญพอสมควร เพราะมันไม่ได้มีอะไรที่ปลอดภัยให้กับคนที่ใช้จักรยาน คนเหล่านี้เขามีความมุ่งมั่นอย่างมาก และอาจเป็นเรื่องของความจำเป็นในการกำหนดเวลาเดินทาง ซึ่งก็ต้องขอความกรุณาผู้ใช้รถใช้ถนน เมื่อเห็นคนขี่จักรยานบนถนนต้องขอความอนุเคราะห์ว่าเป็นเหมือนเพื่อนร่วมทาง อะลุ่มอล่วย และเอื้ออาทรต่อกัน ผมคิดว่าน่าจะมีความสุขอย่างมาก และที่สำคัญผู้ขับขี่เองก็ต้องสวมหมวกกันน็อคเพื่อลดการบาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนผู้ที่ขี่จักรยานประเภทฟิกเกียร์ ก็อยากขอให้ติดเบรกสักข้างหนึ่งเพื่อเพิ่มความปลอดภัยด้วย” นายมงคลกล่าวทิ้งท้าย
“จักรยาน” นับเป็นยานพาหนะที่มีความคลาสสิค และมีสเน่ห์อยู่ในตัวอย่างมาก หากประเทศไทยสามารถเพิ่มพื้นที่เส้นทางจักรยาน บวกเพิ่มกับน้ำใจที่แบ่งปันกันบนเส้นทาง เชื่อว่าเมืองไทยจะเป็นอีกหนึ่งเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลกแน่นอน
เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th