ความแตกต่างระหว่างเกลือและโซเดียม
ที่มา : SOOK Magazine No.62
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ในทางวิทยาศาสตร์ เกลือ คือสารประกอบทางเคมีที่เรียกว่า โซเดียมคลอไรด์ คำว่าเกลือและโซเดียม จึงมักใช้แทนกันและกันจนทำให้ หลายคนคิดว่าเกลือกับโซเดียมคือสารเดียวกัน แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเกลือคือสารประกอบที่มีโซเดียมร้อยละ 40 และคลอไรด์ร้อยละ 60 โดยน้ำหนัก ดังนั้นเมื่อพูดถึง เกลือ 1 กรัม จึงหมายถึงโซเดียม 0.4 กรัม
โซเดียมมีอยู่ในอาหารแทบทุกประเภท
1. อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส อาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารเค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักผลไม้ดอง ซุปก้อน ผงชูรส เครื่องปรุงรส เป็นต้น
2. อาหารธรรมชาติ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ผลไม้ทุกชนิด ผัก ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง มีปริมาณโซเดียมที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยไม่จำเป็นต้องปรุงเพิ่มเลย
3. ขนมที่มีการเติมผงฟู เค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง และแป้งสำเร็จรูป ซึ่งผงฟูที่ใช้ในการทำขนมเหล่านี้จะมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ
4. เครื่องดื่มเกลือแร่และน้ำผลไม้ มีการเติมสารประกอบของโซเดียมลงไปด้วย เพราะมีจุดประสงค์จะให้เป็นเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่สูญเสียเหงื่อมาก ส่วนน้ำผลไม้บรรจุกล่อง ขวดหรือกระป๋องก็มักจะมีการเติมสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) ลงไป ทำให้น้ำผลไม้เหล่านี้มีโซเดียมสูง
ความเค็มใน 1 ช้อนชา
– เกลือ 1 ช้อนชา = โซเดียม 2,000 มิลลิกรัม
– ผงปรุงรส 1 ช้อนชา = โซเดียม 500 มิลลิกรัม
– ปลาร้า 1 ช้อนชา = โซเดียม 500 มิลลิกรัม
– กะปิ 1 ช้อนชา = โซเดียม 400-500 มิลลิกรัม
– ผงชูรส 1 ช้อนชา = โซเดียม 490 มิลลิกรัม
– น้ำปลา 1 ช้อนชา = โซเดียม 400 มิลลิกรัม
กินเค็มให้เหมาะสม ปริมาณโซเดียมที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ ไม่ควรเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน หรือคิดเป็นปริมาณโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม สำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันสูง ควรลดเหลือเพียง 3 ส่วน 4 ช้อนชาต่อวัน หรือไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัม