ความเชื่อมั่นในอนาคตของเยาวชนรุ่นใหม่
เปิดผลสำรวจความพึงพอใจและความเชื่อมั่นในอนาคตของเยาวชนรุ่นใหม่ พบเด็กรุ่นใหม่พึงพอใจกับจังหวัดที่ตนเองอยู่อาศัย และต้องการให้มีมหาวิทยาลัยในจังหวัดของตนมากที่สุด ตามมาด้วยรถไฟฟ้า รถราง เทศกาลภาพยนตร์/คอนเสิร์ต สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ สนามกีฬาที่ทันสมัย อุทยาน และศูนย์การค้า
มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ร่วมกับเครือข่ายเสียงประชาชน เปิดเผยข้อมูลการสำรวจความพึงพอใจและความเชื่อมั่นในอนาคตของเยาวชนรุ่นใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายอายุระหว่าง 15-25 ปี จำนวน 2,750 คน ในพื้นที่ 20 จังหวัดทั่วประเทศ
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวถึงผลสำรวจของมูลนิธิในครั้งนี้ว่า ในภาพรวมนั้น เยาวชนรุ่นใหม่มีความพึงพอใจในชีวิตและความเชื่อมั่นในอนาคตในระดับสูง ค่าเฉลี่ยโดยรวมทั้งหมดออกมาในระดับที่สูงมาก และการเชื่อมั่นในอนาคตที่สดใสก็อยู่ในระดับที่สูงเช่นเดียวกัน โดยปัจจัยที่น่าสนใจพบว่า ครอบครัวเป็นแหล่งพลังใจที่สำคัญที่สุดในการช่วยให้เยาวชนรุ่นนี้มีความพึงพอใจในชีวิต
ส่วนผลการสำรวจที่น่าสนใจอีกหัวข้อหนึ่ง คือ ด้านความสัมพันธ์กับจังหวัดของตนเอง ดร.เดชรัตสรุปว่า เยาวชนรุ่นใหม่มีความพึงพอใจในสภาพแวดล้อมของจังหวัดที่ตนอยู่ถึง 8.30 เต็ม 10 และมีความภาคภูมิใจในจังหวัดของตน 8.73 เต็ม 10 เชื่อมั่นในอนาคตของการพัฒนาของจังหวัดที่ตนอาศัยอยู่ถึง 8.24 เต็ม 10 โดยเยาวชนที่อาศัยอยู่ในภูมิลำเนาบ้านเกิดจะมีความพอใจและภูมิใจมากกว่าเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในภูมิลำเนาบ้านเกิด
“เยาวชนรุ่นใหม่คิดว่าตนมีฐานะที่ขัดสนจะมีแนวโน้มของความพึงพอใจและความเชื่อมั่นในอนาคตของตนลดลงมาก เมื่อเทียบกับเยาวชนที่คิดว่าตนมีฐานะร่ำรวยหรือพอมีพอกิน ซึ่งปัจจัยเหลานี้เป็นปัจจัยที่น่าสนใจในการศึกษาพฤติกรรมการพึงพอใจกับฐานะของตน” ดร.เดชรัตกล่าว
ดร.เดชรัตเล่าต่อว่า ส่วนคำถามที่ว่าเยาวชนต้องการอะไรในจังหวัดของตนมากที่สุดนั้น พบว่า เยาวชนรุ่นใหม่ต้องการให้มีมหาวิทยาลัยในจังหวัดของตนมากที่สุด ตามมาด้วยรถไฟฟ้า รถราง เทศกาลภาพยนตร์/คอนเสิร์ต สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ สนามกีฬาที่ทันสมัย อุทยาน และศูนย์การค้า ตามลำดับ แต่เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายภาคจะพบว่า สิ่งที่เยาวชนส่วนใหญ่ต้องการให้มีในสิ่งที่จังหวัดของตนยังไม่มี เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก อยากให้มีมหาวิทยาลัย เด็กในภาคกลาง กรุงเทพฯ อยากให้มีสนามบิน และป่าไม้/อุทยาน เด็กในภาคเหนือต้องการรถไฟฟ้า รถราง เทศกาลดนตรี/ภาพยนตร์ เป็นลำดับแรก
ดร.เดชรัตกล่าวปิดท้ายว่า จากข้อมูลเป็นแค่จุดเริ่มต้นในการศึกษาความต้องการของเยาวชนในแต่ละจังหวัด ซึ่งก็มีความต้องการแตกต่างกันออกไป พร้อมกับยกระดับความเข้าใจในการแก้ปัญหาให้ถูกต้องและตรงจุดมากยิ่งขึ้น.
ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์