ความต่างระหว่างนมถุงกับนมกล่อง

 


 


ผู้บริโภคทั่วไปอย่างเราๆ อาจไม่เคยนึกถึงมาก่อนว่า “นมถุง” กับ “นมกล่อง” มีนัยที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงอย่างน่าสนใจ เริ่มตั้งแต่ความแตกต่างเรื่องความสด และคุณค่าทางโภชนาการระหว่างนมพาสเจอร์ไรซ์กับ สเตอริไลซ์ ขั้นตอนกระบวนการผลิตโยงไปจนถึงเกษตรกรโคนมซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และผลประโยชน์เชิงการค้าจำนวนมหาศาลที่กระทบไปจนถึงเด็กๆ ในโรงเรียนที่ต้องพบกับภาวะนมบูดที่เราเคยได้ยินข่าวกันครึกโครม


ดร.ดำรง ลีนานุรักษ์ คณะสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “เกษตรกรโคนมของไทยน่าเห็นใจมาก โดยเฉพาะผู้เลี้ยงโคนมรายย่อย พวกเขาต้องแบกภาระความเสี่ยงในการเลี้ยงโคนมไม่ต่างจากอาชีพเกษตรกรรมอื่นๆ เลย ทั้งที่ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับโครงสร้างที่โยงถึงนโยบายของรัฐ แต่ก็ถูกปล่อยให้เกิดขึ้นมานานจนกลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อนอย่างที่เคยเห็นในข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งราคาน้ำนมดิบตกต่ำ โควตานมโรงเรียน ปัญหานมล้นตลาดต้องถูกนำไปเททิ้ง แม้ว่าเกษตรกรในหลายพื้นที่จะพยายามรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการต่อรอง โดยตัวเลขเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยประมาณ 2-3 หมื่นครอบครัว มีวัวรีดนมประมาณ 3 แสนตัว ยอดน้ำนมดิบประมาณ 2,700 ตัน/วัน (หรือประมาณ 2,700,000 กก.) จำนวนหนึ่งใช้ไปกับนมโรงเรียนประมาณ 1,200 ตัน/วัน นมพาณิชย์ 1,500 ตัน/วัน แต่ที่น่าสังเกตคือยอดขายนมพาณิชย์สูงกว่า โดยส่วนหนึ่งคือสาเหตุเรื่องการใช้นมผงนำเข้าจากต่างประเทศมาละลายเป็นนมพร้อมดื่มแบบคืนรูป ซึ่งมุ่งให้บรรจุภัณฑ์สวยงามทันสมัยกว่า เก็บรักษาได้นานกว่า เพราะราคานมผงที่นำมาใช้ละลายน้ำอยู่ที่ 8 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่น้ำนมดิบจากนมสดจำหน่ายราคากิโลกรัมละ 12-14 บาท แต่รสชาติแยกไม่ออกเลย โดยมองข้ามเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ และทาง อย.เองก็ไม่ได้พยายามเน้นให้ผู้บริโภคเห็นความแตกต่างจากนมทั้ง 2 ประเภทนี้แต่อย่างใด”


ดร.ดำรง อธิบายต่อว่า “แคมเปญรณรงค์ที่เราเคยได้ยินมาตั้งแต่สมัยนายกฯ ชวน ที่ว่า “วันนี้คุณดื่มนมแล้วหรือยัง” ประกอบกับนโยบายส่งเสริมให้เยาวชนดื่มนม ทำให้ตลาดนมในประเทศเกือบ 90% เป็นกลุ่มนมโรงเรียน ซึ่งไต่ระดับจากเม็ดเงิน 2 พันล้านบาทกลายเป็น 3 พันล้านบาท และสูงถึง 13,000 พันล้านบาทภายใน 1 ปี จนเกิดการล็อบบี้ระหว่างกลุ่มนายทุนท้องถิ่นกับสหกรณ์โคนมท้องถิ่น เช่น มีการตั้งโรงงานเพื่อรองรับข้อเสนอการจำหน่ายนมโรงเรียนกันมาเป็นทอดๆ ทำให้เม็ดเงินกลับเข้าถึงเกษตรกรได้น้อยมาก จนเกิดเป็นข้อสงสัยว่าถ้าเราดื่มนมแล้วประโยชน์ที่ได้จริงๆ นั้นเกิดกับใคร เพราะแม้แต่คุณค่าทางโภชนาการยังถูกบั่นทอนด้วยนมผงนำเข้าที่กลับถูกกว่าราคาน้ำนมดิบในท้องถิ่น ที่สำคัญคือนมสดถุงมีอายุการจำหน่ายได้เพียงแค่ 3 วัน หรือหากแช่เย็นก็อยู่ได้ไม่เกินสัปดาห์เท่านั้น ร้านค้าจำหน่ายจึงถูกจำกัดในพื้นที่ชุมชน เพราะการกระจายสินค้าเป็นไปได้ยากต่อการขนส่งในภาวะน้ำมันแพง จึงไม่แปลกหากเราอาจนึกขึ้นได้ว่าไม่ค่อยเห็น “นมถุง” ซึ่งเป็นนมที่สดกว่า มีคุณค่ากว่า ให้เลือกซื้อดื่มในซูเปอร์มาร์เกต


กลุ่มผู้เลี้ยงโคนมต่างๆ เรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือเรื่องนี้มาตลอด โดยเฉพาะปัญหานโยบายเชิงโครงสร้างตั้งแต่บอร์ดคณะกรรมการที่ต้องการให้มีการแก้ไขหลายๆ เรื่อง ไปจนถึงการรณรงค์ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการดื่มนม เพราะข้อมูลงานวิจัยพิสูจน์ให้เห็นในเชิงกายภาพแล้วว่าทั้งคนญี่ปุ่นและคนมาเลเซียดื่มนมมากกว่า 40 ลิตร/คน/ปี ขณะที่คนไทยดื่มเพียง 14-15 ลิตร/คน/ปี ปัจจุบันรูปร่างและความสูงเฉลี่ยของเยาวชนไทยจึงต่างกับคนญี่ปุ่น คนมาเลเซีย และชาติอื่นๆ ที่เห็นความสำคัญของการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะวิธีคิดเรื่องการดื่มนมของเราที่ควรมอง “นม” เป็นอาหารสำคัญสำหรับเยาวชนของชาติ”


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code