ความดัน-เบาหวาน-กระดูกและข้อ 3 โรคฮิตวัยทอง
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยหญิงชายวัยทองป่วยด้วยโรคประจำตัวมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคกระดูกและข้อ จึงจัดประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพวัยทอง เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพประชากรวัยทองในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
นายแพทย์ดนัย ธีรวันดา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพประชากรวัยทอง ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ บางพลัด กรุงเทพมหานครว่า ประชากรวัยทองประกอบด้วยหญิงวัยทองหรือหญิงวัยหมดระดูอายุระหว่าง 45– 59 ปี ชายวัยทอง อายุ 40-59 ปี เป็นช่วงวัยสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ที่มีผลจากความเสื่อมของร่างกาย และเกิดการลดลงของฮอร์โมนเพศทำให้มีปัญหาสุขภาพที่แตกต่างจากวัยอื่น
โดยข้อมูลด้านภาวะสุขภาพพบว่า หญิงและชายวัยทอง ร้อยละ 41.3 มีโรคประจำตัว โดยพบมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคกระดูกและข้อ นอกจากนี้ ในหญิงวัยทอง ยังตรวจพบภาวะอ้วนลงพุง ร้อยละ 57.4 ส่วนชายวัยทอง พบร้อยละ 28.9 ซึ่งจากการประเมินอาการวัยทองพบว่า หญิงวัยทองร้อยละ 27.8 มีความสี่ยงต่อการมีอาการวัยทอง ในขณะที่ชายวัยทอง ร้อยละ 36.7 มีอาการวัยทองเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า ผลการศึกษาภาวะสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพในหญิงและชายวัยทองของสำนักส่งเสริมสุขภาพกรมอนามัย ปี 2554 พบว่า หญิงและชายวัยทองยังมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์พบในผู้หญิงวัยทอง ร้อยละ 39.9 และผู้ชายวัยทอง ร้อยละ 68.3 ส่วนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในหญิงวัยทองมีเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 2.7 โดยพบมากในผู้ชายวัยทอง ร้อยละ 40.6 พฤติกรรมไม่ออกกำลังกาย พบว่า ผู้หญิงวัยทองไม่ออกกำลังกาย ร้อยละ 23.6 ผู้ชายวัยทองไม่ออกกำลังกาย ร้อยละ 15.3 ด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารยังพบว่าส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มันจัด เค็มจัด และหวานจัด ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสภาวะสุขภาพทำให้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับ metabolic syndrome ได้
“ทั้งนี้ ประชากรวัยทองเป็นวัยที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ จึงควรได้รับการดูแลสุขภาพให้เหมาะสมกับวัย หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้หญิงและชายวัยทองมีสุขภาพดี ลดโรค ที่สามารถป้องกันได้ ชะลอการเสื่อมถอยของร่างกายและก้าวสู่วัยสูงอายุที่มีคุณภาพไม่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังสามารถพึ่งพาตนเองได้และสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป” ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริม กล่าวในที่สุด
ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข