ควันพิษจราจรติดขัดมีส่วนก่อโรค ไส้ติ่งอักเสบ

เผย คนแก่เสี่ยงสุด

 ควันพิษจราจรติดขัดมีส่วนก่อโรค ไส้ติ่งอักเสบ

          นักวิจัยชาวแคนาดาชี้ มลภาวะทางอากาศมีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการไส้ติ่งอักเสบได้ แม้รับควันพิษเข้าสู่ร่างกายเพียงช่วงระยะเวลาไม่นาน

 

          “คนที่รับไนโตรเจนออกไซด์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ในช่วงที่เกิดมลภาวะทางอากาศสูงที่สุดในแคนาดา ระหว่าง เดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม มีโอกาสป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบสูงกว่าคนที่ไม่ได้รับมลภาวะเป็นพิษถึงเกือบ 2 เท่า และถ้าคนมีอายุ 64 ปีขึ้นไปได้รับมลพิษทางอากาศในช่วงเวลาดังกล่าว จะเสี่ยงเป็นไส้ติ่งอักเสบเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า” ผลวิจัย ระบุ

 

          นักวิจัยศึกษาข้อมูลจากประชากร 5,191 คน ที่เข้ารับการรักษาอาการไส้ติ่งอักเสบในโรงพยาบาล 3 แห่ง ในเมือง กายารี รัฐแอลเบอร์ตา ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 52.5 จะเข้าโรงพยาบาลช่วงเดือนเมษายน-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่อุณหภูมิอบอุ่นที่สุดในแคนาดา ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ออกมาใช้ชีวิตอยู่นอกบ้าน จึงมีโอกาสสูดเอาควันไอเสียไนโตรเจนออกไซด์จากยวดยานพาหนะเข้าสู่ร่างกายสูงขึ้นตามไปด้วย

 

          มลภาวะในอากาศกับการเป็นไส้ติ่งอักเสบจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อาจเป็นไปได้ว่าผู้ชายทำงานกลางแจ้งที่ต้องเจอกับมลภาวะมากกว่าผู้หญิง อย่างไร ก็ตาม นักวิจัยต้องการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความเชื่อมโยงนี้

 

          ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า น่าสังเกตว่า สถิติผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบเพิ่มขึ้นมากในประเทศอุตสาหกรรมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 แต่ลดลงช่วงกลางและปลายทศวรรษที่ 20 ภายหลังจากทั่วโลกตื่นตัวออกกฎหมายดูแลสภาพอากาศ นอกจากนั้น ปัจจุบันยังพบผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบเพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นชาติอุตสาหกรรมหน้าใหม่มากขึ้น โดยนอกจากมลภาวะเพิ่มโอกาสเป็นไส้ติ่งอักเสบแล้ว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ เช่น โรคหอบหืด โรคเส้นเลือดสมอง และมะเร็ง

 

 

 

 

 

 

ที่มา/ภาพ: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

 

update: 09-10-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย

Shares:
QR Code :
QR Code