ควบคุมความเร็วรถ ลดอุบัติเหตุ

เครือข่ายลดอุบัติเหตุยื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงคมนาคม เรียกร้องใช้มาตรการควบคุมความเร็วบนท้องถนน ให้วิ่งในเมืองไม่เกิน 50 กม./ชม. และนอกเมืองไม่เกิน 90 กม. ระบุไทยจ่อขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก คนตายจากอุบัติเหตุทางถนน


ควบคุมความเร็วรถ ลดอุบัติเหตุ thaihealth


แฟ้มภาพ


วันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยภายหลังการหารือและยื่นหนังสือการใช้มาตรการควบคุมความเร็วบนท้องถนน กับนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ว่า องค์การอนามัยโลกได้มีการสำรวจอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก โดยในปี 2557 พบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก คือ 44 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี ขณะที่ข้อมูลการเกิดคดีอุบัติ เหตุจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า พฤติกรรมการขับขี่เร็วเป็นสาเหตุสำคัญอันดับแรกของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และมีข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่มกราคมสิงหาคม 2550 จากจำนวนทั้งสิ้น 7,297 ครั้ง เกิดจากการขับรถเร็วเกินกำหนดถึง 4,562 ครั้ง (62.5%) ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาจำกัดความเร็ว เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยอย่างจริงจัง


ทั้งนี้ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ รวบรวมข้อมูลสถานการณ์และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความเร็วที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มีรายละเอียดดังนี้คือ สาเหตุของคดีอุบัติเหตุจราจรในประเทศไทย มากกว่า 1 ใน 3 เกี่ยวข้องกับการใช้ความเร็ว เกิดขึ้นบนทางหลวงแผ่นดินถึงร้อยละ 75 และที่น่ากังวลคือ 1/3 คนไทย มีทัศนะว่าขับเร็วไม่อันตรายหากระมัดระวัง การบังคับใช้กฎหมายมีข้อจำกัด กล้องตรวจจับมีเพียง 1-2 กล้องต่อจังหวัด และการตรวจจับ-ปรับยังขาดระบบบันทึกประวัติการกระทำความผิดซ้ำ ไม่มีการเพิ่มโทษตามจำนวนครั้ง การส่งอายัดต่อทะเบียนผู้ที่ไม่มาจ่ายค่าปรับ ที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างตำรวจและกรมการขนส่งทางบก จำเป็นต้องเร่งให้สามารถดำเนินการได้จริง


ดังนั้นจึงมีข้อเสนอ คือ 1.ควรสนับสนุน กล้องตรวจจับความเร็วให้เพียงพอ โดยเฉพาะในเส้นทางที่พบมีอุบัติเหตุและความรุนแรงที่เกิดจากความเร็ว 2.การก่อสร้าง/ซ่อมสร้างในเส้นทางกรมทางหลวง โดยเฉพาะเส้นทาง Asian Highway ควรพิจารณาให้มีมาตรฐานการจัดการความเร็ว ตั้งแต่กระบวนการออกแบบและก่อสร้าง ส่วนเรื่อง  "ความเร็วรถสาธารณะ" จากการสำรวจรถสาธารณะ (รถตู้) โดย Thai Roads พบส่วนใหญ่ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด จึงเสนอให้รถสาธารณะทุกคันมีการติดตั้ง GPS และมีระบบควบคุมกำกับพร้อมบทลงโทษ ที่ครอบคลุมทั้งคนขับและผู้ประกอบการ มีการจัดทำทะเบียนประวัติ เพิ่มบทลงโทษ ตลอดจนทบทวนและกำหนดให้การออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (ทั้งรถสาธารณะ และรถบรรทุก) ต้องมีเงื่อนไขด้านความปลอดภัยที่ชัดเจน นอกจากนี้ สคอ.ยังเสนอทิศทางการรณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์มาตรการควบคุมความเร็วบนท้องถนน คือควรส่งเสริมการใช้ความเร็วไม่เกิน 50 กม./ชม.ในเขตเมือง และไม่เกิน 90 กม./ชม. นอกเขตเมือง การรณรงค์ลดความเร็วคู่กับการประหยัดพลังงาน การสร้างความตระหนักรับรู้การใช้ความเร็ว ขับเร็วเป็นพฤติกรรมเสี่ยง สร้างความสูญเสียต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code