คลอดเกณฑ์มาตรฐานเดียว 3 กองทุน ผู้ป่วยเอดส์/ไตวายเรื้อรัง

 

สปสช.คลอดหลักเกณฑ์มาตรฐานเดียว 3 กองทุน ให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายฟอกเลือด-ล้างไตได้สิทธิเดิมแม้เปลี่ยนสิทธิการรักษา และหากไตกรองปัสสาวะน้อยกว่า 6 ซีซีต่อนาที ให้เข้าข่ายป่วยระยะสุดท้าย ด้านผู้ป่วยเอดส์ทุกสิทธิให้รับยาบัญชียาหลักฯ ต่อเนื่อง

นพ.ประทีป ธนเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานเดียวทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ ในการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ว่า มาตรฐานผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายดำเนินการโดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ข้อ คือ 1.เกณฑ์วินิจฉัย เช่น หากผู้ป่วยใช้สิทธิประกันสังคมในการฟอกเลือดเมื่อย้ายสิทธิมาใช้ 30 บาท ก็จะยังได้สิทธิในการฟอกเลือดเช่นเดียวกับการล้างไตทางช่องท้อง 2.การกำหนดกรณีเป็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ให้ใช้มาตรฐานของสมาคมโรคไตฯ โดยกำหนดไว้ 2 กรณี ได้แก่ กรณีความสามารถในการกรองปัสสาวะของไตน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6 ซีซีต่อนาที และกรณีมีความสามารถในการกรองปัสสาวะของไตมากกว่า 6 ซีซีต่อนาทีแต่ไม่เกิน 15 ซีซีต่อนาที และมีภาวะอื่นที่เกิดจากไตแทรกซ้อน ซึ่งในกรณีนี้ยังเกิดข้อถกเถียงอยู่ แต่ภายในเดือน พ.ย.นี้จะมีการหารืออีกครั้ง

นพ.สรกิจ ภาคีชีพ ผู้จัดการอาวุโสโรคเอดส์เพื่อบริการผู้ติดเชื้อไอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยวัณโรค สปสช. กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จะมีการทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในเรื่องการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ เช่น การให้ยาจะให้ยาที่ต่อเนื่องโดยเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมถึงการเจาะเลือดเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้ง 3 กองทุนจะได้สิทธิในการเจาะตรวจเท่ากัน คือ สิทธิในการตรวจปีละ 1-2 ครั้ง ทั้งนี้ ผู้ป่วยเอดส์จะมีการใช้ฐานข้อมูลในการรักษาเดียวกันของ 3 กองทุน ซึ่งในเดือน พ.ย.นี้ จะมีการอบรมการใช้โปรแกรมที่มีฐานข้อมูลของผู้ป่วยเป็นโปรแกรมเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคม (สปส.) สปสช.จะมีเกณฑ์ในการเก็บฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน ขณะที่ของข้าราชการไม่มี ซึ่งจากนี้จะมีการใช้ฐานข้อมูลเดียวกันทั้งหมด

“จากการที่เริ่มใช้มาตรฐานเดียวกันในการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา เปรียบเสมือนการติดกระดุมเม็ดแรก มาตรการดังกล่าวก็เช่นกันที่ออกมาเฟสแรกแล้วต้องมีการพัฒนาต่อไปในเฟส 2 การจะออกมาครั้งแรกให้สมบูรณ์แบบเลยคงเป็นไปไม่ได้ ต้องมีการปรับมาตรฐานกันไป” นพ.สรกิจ กล่าว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์astvผู้จัดการ

Shares:
QR Code :
QR Code