ครูไม่พอทำเด็กอ่อนคำนวณ

ชี้!! นร.ขาดพื้นฐานคณิตฯ ต้องแก้ที่ต้นตอ

 

ครูไม่พอทำเด็กอ่อนคำนวณ

          คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการเห็นว่าสาเหตุที่นักศึกษาในคณะ/สาขาที่ต้องใช้พื้นฐานวิทยาศาสตร์มีผลการเรียนต่ำ เพราะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานรวมวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ให้อยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ทำให้เนื้อหาวิชาขาดความต่อเนื่องและไม่เข้มข้นว่า สำหรับเด็กที่จะเรียนสายวิทยาศาสตร์สามารถเรียนลงลึกในกลุ่มสาระเพิ่มเติมได้

 

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ของเด็กไทยอ่อนมาตั้งแต่เล็กๆ ดังนั้น จึงต้องแก้ไขกันตั้งแต่ต้นตอของปัญหา ไม่ใช่การแก้ไขที่ปลายทาง หรือแก้ไขที่หลักสูตรเพียงอย่างเดียว เพราะวิชาคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานของวิชาวิทยาศาสตร์อื่นๆ จึงทำให้ผลการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ต่ำลงไปด้วย

 

          ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโครงการร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนให้สูงขึ้น

 

          นอกจากนี้คงต้องหารือร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา เพราะหากฟังเพียงการวิจารณ์ผ่านๆก็ไม่ทราบว่าเด็กที่มีปัญหาเป็นเด็กกลุ่มไหน ซึ่ง สพฐ. ยินดีที่จะรับฟังและร่วมแก้ไขปัญหา เพราะยังสามารถแก้ไขได้ เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างนำร่องใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 และจะใช้จริงพร้อมกันทั่วประเทศในปีการศึกษา 2553

 

          ส่วนที่มีการมองว่าคุณภาพนักเรียน นักศึกษาของไทยต่ำลงทั้งระบบนั้น ส่วนหนึ่งมีผลมาจากปัญหาขาดแคลนครู ทั้งครูที่เกษียณอายุออกไปแล้วไม่ได้บรรจุกลับเข้ามา และภาระงานของครูที่มากเกินไป ประกอบกับปัญหาด้านการศึกษาที่สะสมมาตั้งแต่เด็กเล็ก ซึ่ง สพฐ. พยายามแก้ไข โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเป็นรายบุคคล เพื่อให้ทราบว่าเด็กแต่ละคนมีปัญหาด้านการศึกษาอย่างไร

 

          บางประเทศที่มีการปฏิรูปการศึกษาก็พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไม่ได้ดีขึ้นเป็นเวลาถึง 10 ปี เพราะปัญหาด้านการศึกษาเกิดจากหลายมิติ ทั้งปัญหาความยากจน การขาดแหล่งเรียนรู้ ตลอดจนการจัดห้องเรียนเพื่อช่วยพัฒนาเด็กเรียนอ่อน เพื่อให้ผ่านเกณฑ์มากขึ้น ดังนั้น การหาแพะขึ้นมารับผิดเป็นเรื่องง่าย แต่สิ่งที่ต้องทำคือทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยให้ดีขึ้นทั้งระบบคุณหญิงกษมากล่าว

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

 

 

update 11-03-52

 

Shares:
QR Code :
QR Code