‘ครูโจ่ย’ กับโครงการครูตำรวจข้างถนน
ที่มา : เว็บไซต์ปลุกพลังเปลี่ยนไทย
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ปลุกพลังเปลี่ยนไทย
“ครูโจ่ย”ประกาศชัด…ขอดูแลเด็กเร่ร่อนจนกว่าทำไม่ไหว ร้อยตำรวจโท ชาติชาย โจ่ยสา หรือ ‘พ่อของเด็กเร่ร่อน” ที่อุทิศตนเป็นครูสอนเด็กเร่ร่อน มานานกว่า 15 ปีกับโครงการ“ครูตำรวจข้างถนน”
เข้าเป็นนักเรียนตำรวจตั้งแต่ปี 2526 ที่นครปฐม บ้านเกิด จากนั้นในปี 2527 ได้บรรจุเป็น ‘ตำรวจรถไฟ’ ประจำอยู่ สถานีตำรวจ นพวงศ์ ปัจจุบันนี้ ร้อยตำรวจโท ชาติชาย โจ่ยสา หรือ ‘พ่อของเด็กเร่ร่อน” ที่อุทิศตนเป็นครูสอนเด็กเร่ร่อน มานานกว่า 15 ปีกับโครงการ“ครูตำรวจข้างถนน” ยอมรับว่าโครงการดีๆ แม้จะเปลี่ยนผู้บังคับบัญชา ซึ่งปัจจุบันคือ พล.ต.ต.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผบก.รฟ ท่านทราบว่าตำรวจรถไฟชุดนี้ทำงานกับเด็กด้อยโอกาสอย่างทุ่มเทแรงกายแรงใจจึงสนับสนุนชุดครูอยากได้อะไรจัดหาให้ เพื่อโครงการเดินหน้าต่อยอดอย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะขาดปัจจัย หากครูโจ่ย หรือ พ่อโจ่ย ที่เด็กเร่ร่อนเรียกขานจนติดปากก็ทำงานด้วยรอยยิ้มจริงใจ โอกาสนี้ครูโจ่ยได้สละเวลาให้สัมภาษณ์ถึงโครงการตำรวจข้างถนนด้วยรอยยิ้มยามเอ่ยถึงพวกเด็กเร่ร่อนที่ดูแลและรักเสมือนลูก
จุดเริ่มต้นของโครงการตำรวจข้างถนน
โครงการที่ผมทำอยู่ปัจจุบันนี้เรียกว่า โครงการครูตำรวจข้างถนน เป็นโครงการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเขาเริ่มให้ตำรวจในท้องที่ๆ มีเด็กเร่ร่อน หรือเด็กด้อยโอกาสเยอะๆ เช่น ท้องสนามหลวง หัวลำโพง ให้ตำรวจในพื้นที่เข้าไปๆ ลองดูซิ ลองไปเพื่อนเขา ไปเป็นพี่เขา ไปเป็นพ่อแม่เขา ลองไปทำดูซิว่าปัญหาเด็กเร่ร่อนพวกนี้จะน้อยลงไหม
ตอนไปสัมผัสเด็กเร่ร่อนไปทั้งเครื่องแบบหรือเปล่า?
ครั้งแรกไปในภาพตำรวจ สวมชุดเด็กยศ สรุปแล้วเด็กวิ่งหนีออกหมดเลยครับ ไม่เข้ามาหาเรา เพราะว่าเขารู้ว่าเราเป็นตำรวจ เด็กกลุ่มนี้ก็ค่อนข้างที่จะมีความผิดติดตัวบ้าง แล้วพอเราทำงานไม่ได้เนี่ย เราก็ไปศึกษาว่า ครูข้างถนนที่เขาทำประเภทเนี่ย ทำแบบไหน เราก็พึ่งรู้จากคนที่เราไปปรึกษา ‘เขาบอกครูโจ่ยจะเข้าหาเด็กครูโจ่ยต้องถอดเครื่องแบบออก ครูโจ่ยจะต้องมีขนม นมเนย มีเสื้อผ้าให้เขานะครับ เพื่อไปล่อใจให้เขามาเป็นเพื่อนเราให้ได้’ ก็ทดลองทำดู ตอนแรกเขาก็รู้ว่าเป็นตำรวจอยู่หรอกครับ แต่พอมาตอนหลังเขาเริ่มรู้ว่าตำรวจกลุ่มนี้ ไม่จับเขา เป็นเพื่อนเขา เขาก็เริ่มเข้ามาหา การทำงานก็เริ่มง่ายขึ้น ทีนี้เขาก็จะบอกต่อๆ ไปว่า ‘ที่หัวลำโพงมีตำรวจอยู่ชุดนึง เขาไม่จับพวกเรา ชุดนี้เลยครับ’
สถานที่สอนเด็กเร่ร่อน
ตอนแรกสอนที่หัวลำโพงเลย ใช้ชานชาลาเป็นที่เรียนที่นั่ง ทีนี้พอสอนไปสอนมาเนี่ย เด็กๆ พวกนี้บางคนก็มีอาชีพเก็บขวดพลาสติกขาย ตอนที่เวลารถไฟวิ่งเข้ามาก็จะขออนุญาตไปเก็บขวดพลาสติกบนรถก่อน ซึ่งผู้บังคับการตอนนั้นท่าน พล.ต.อ จรัมพร สุระมณี (อดีต ผบก.รฟ) ตอนที่เป็นโครงการท่านได้รับมอบหมายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปี 2540 ให้ทำโครงการนี้ ท่านไปเห็นพวกผมสอนอยู่ที่ชานชาลา แล้วมันอันตรายมาก ก็เลยคิดว่าน่าจะหาสถานที่เพื่อที่จะให้เด็กมีความปลอดภัยและจะได้สอนกันได้ เลยให้ที่ด้านข้างสถานีตำรวจ นพวงศ์ เอาโบกี้เก่าๆ มาทำเป็นห้องเรียน ตกแต่ง ทาสีให้ดูน่ารัก พอเด็กเขารู้ว่า อ๋อ..ตรงนี้ก็คือที่เรียนของเขา ที่กินของเขา ที่นอนของเขาๆ ก็เริ่มทยอยเข้ามา ตอนแรกจากประมาณ 10 – 20 กว่าคน ปัจจุบันนี้ตั้งแต่เปิดโครงการมา 200 กว่าคนครับ พอเขามาหาเราก็จะถ่ายรูปทำประวัติ แล้วสอบถามสาเหตุที่เขาออกจากบ้าน ซึ่งเกิดจากครอบครัว บางคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ที่แท้จริง อยู่กับพ่อเลี้ยงมั้ง อยู่กับแม่เลี้ยงมั้ง ไม่พอใจก็ตี เด็กทนไม่ได้ก็ออกจากบ้านครับ และที่เด็กเร่ร่อนเพิ่มขึ้นเพราะพวกเขาจะบอกต่อๆ กันว่าที่หัวลำโพงเนี่ย ถ้าพวกเอ็งไปๆ หาครูตำรวจเขามีโบกี้รถไฟสอน มีข้าวให้กิน และก็มีสนามกีฬาให้เราเล่น ก็หมุนเวียนกันไป
มีเด็กเร่ร่อนที่ประสบความสำเร็จจากโครงการนี้ไหม?
ก็มีหลายคน ถ้านับเป็นรุ่นไม่นับอายุมีประมาณสัก 4 รุ่น แล้วแต่ละรุ่นที่จบไปก็ได้งานที่ดี เพราะเรามีเครือข่ายที่ดี เวลาเรามีเด็กเยอะๆ เครือข่ายเขาก็จะพาเราไปเข้าค่ายทำกิจกรรม พอหลังจากทำกิจกรรมเสร็จแล้วก็จะมีองค์กรที่ 3 ที่เป็นโรงแรมบ้าง ที่เป็นโรงซ่อม โรงเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์ ฯลฯ เขาก็จะมาดูเด็กพวกนี้ เขาจะมาถามว่าสนใจไปดูฟาร์มรีดโคนมไหม? หรือจะไปอยู่โรงแรมเป็นเชฟทำอาหารไหม? ถ้าหากใครอยากจะกลับบ้านเราก็จะไปส่ง พูดถึงเด็กที่ประสบความสำเร็จหลายคนได้งานได้การทำ เขาก็โทรมาบอก ‘พ่อโจ่ยยังมีเด็กน้องๆ ไหมจะเอาไปทำงานด้วย’ ผมเลยบอกว่าถ้ามีเดี๋ยวพ่อจะบอก ให้ไปทำงานกับเอ็ง แล้วตอนนี้เอ็งอยู่ไหน ตอนนี้ผมอยู่บริษัทขายก๊อกน้ำ เขาต้องการน้องมาช่วย ตอนที่เขาเป็นเด็กเร่ร่อนเขาขาดโอกาส พอเขามีโอกาสก็อยากเอาโอกาสนั้นมาช่วยเด็กๆ บางคนทำงานโรงเหล็กใกล้ๆ แถวนี้เพราะแถวหัวลำโพงจะมีร้านขายพวกเหล็กเยอะ เขาก็ไปเป็นลูกจ้าง พอเขาเสร็จงานก็จะแวะมาหาเรา เราก็จะถามว่าครอบครัวเป็นยังไง ส่งเงินไปให้พ่อแม่ไหม มีคนนึงอยากไปเป็นทหาร ผมก็พาไปหาสัสดีเขาก็ล็อกชื่อไว้แล้วบอกปีหน้ามาสมัครเลยนะ เขาก็เป็นทหารสองปี ช่วงที่เป็นทหารก็เขียนจดหมายมาบอกว่า ‘การที่เรียนห้องสมุดกับพ่อเป็นแค่เศษเสี้ยวของการเป็นทหาร แต่ก็ยังดีที่ได้เรียน เพราะตอนเช้าออกกำลังกาย ที่พ่อสอนเป็นพื้นฐานและได้ระเบียบวินัย’ หลังจากจบการเกณฑ์ทหาร เขาได้บรรจุเข้ารับราชการก็มาหาผมในเครื่องแบบ ผมก็กอดและถ่ายรูปคู่กันครับ (เล่าไปยิ้มไป) ก็ดีใจกับเขาครับ
จากที่ทุ่มเทให้ได้อะไรตอบแทน
เราได้ความภูมิใจครับ อย่างน้อยตำรวจก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้เด็กเร่ร่อนเหล่านี้ไปเดินในทางที่ถูกที่ควร ที่ผมได้ยินเครือข่ายเขาพูดกันว่า เด็กเร่ร่อนหรือเด็กข้างถนนเป็น 100 คนเนี่ย ถ้าเราทำให้เขาประสบความสำเร็จสักคนสองคนนี่ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ผมก็ถามขนาดนั้นเลยเหรอ แต่ผมทำได้หลายคนแล้วๆ เขาก็บอกครูโจ่ยทำดีแล้ว จากที่ทำมาภูมิใจอันดับแรก คือเด็กเร่ร่อนพวกนี้ เขาเรียกตำรวจโดยเฉพาะครูเป็น ‘พ่อ’ พวกเราดีใจมาก ทีมของผมมีอยู่ 7 ท่าน และตอนนี้เกษียณไปท่านนึง เหลืออยู่ 6 ท่าน ก็ดีใจแล้วครับว่าเด็กเร่ร่อนที่บางคนเขามองว่าเป็น ‘ขยะสังคม’ แต่จริงๆ แล้วพวกเราจะดูแลเขาเหมือนกับลูกเรา เหมือนกับหลานเรา ให้ความรักกับเขาอีกสักนิดถ้าเด็กพวกนี้เขามีความรัก ปัญหาอาชญากรรมที่เขาเคยอยากจะก่อเขาอาจจะเปลี่ยนแปลงได้นะครับ เราป้องกันตรงนี้ ช่วยเหลือเขา สุดท้ายเลยก็คือ การให้อภัยเขาครับ โดยเฉพาะครอบครัวนะครับ เราต้องให้อภัยซึ่งกันและกัน ให้ความรักอย่างเดียวไม่พอต้องมีการให้อภัย ถึงแม้ว่าเขาจะทำผิดครั้งนึง เราลองให้อภัยเขาสิ ให้โอกาสเขาอีกสักครั้งนึงซิ เขาอาจจะกลับตัวได้ การให้อภัยนี้ดีที่สุดครับ (ยิ้ม)
เหตุผลที่นำมายากลมาสอนเด็กเพราะ?
เด็กไปดูคอนเสิร์ตและเห็นเขาเล่นมายากล เขายุให้ผมไปเรียนมายากลเพื่อมาสอนพวกเขาจะได้มีอาชีพติดตัวไม่ต้องเร่ร่อน ผมเลยได้ไอเดีย รุ่งขึ้นผมเลยไปเรียนโรงเรียนฟิลิป ฟิลิปเขาก็ไม่รู้ว่าผมเป็นตำรวจและบอกว่าต้องเรียน 4 คอร์สๆ หนึ่งหมื่นบาทรวมทั้งสิ้นสี่หมื่นบาท ผมตกใจเลยบอกกับฟิลิปว่าผมเป็นครูตำรวจรถไฟ เด็กเขาอยากให้ผมมาเรียนมายากล ตอนแรกอาจารย์ยังไม่เชื่อ สมัยก่อนยังไม่มีกล้องดิจิตอล ผมก็ถ่ายรูปและอัดไปให้อาจารย์ดู อาจารย์ฟิลิปถึงเชื่อ เลยให้ทีมงานเอาอุปกรณ์มายากลเบื้องต้นเอามาให้ผมๆ เอาไปเรียนที่บ้านพร้อมเทปวีดีโอ อาจารย์ให้มาฟรีครับ ผมก็ดูและศึกษาอยู่ 2 วันก็มาโชว์เด็กๆ หัวเราะกันใหญ่เลย ผมก็สงสัยว่าทำไมต้องหัวเราะขนาดนั้น เด็กๆ บอกที่พ่อเอามาโชว์เนี่ยนะเป็นของเด็กๆ พ่อต้องไปเรียนตัดตัวตัดคอแบบนั้น (เล่าไปหัวเราะไป) ไอ้กลของพ่อมันเด็กๆ ทั้งนั้น ผมก็คิดว่าเขาขำในความหัศจรรย์ จากนั้นผมเลยไปเรียนที่ชมรมวิทยากลแห่งประเทศไทย ซึ่งเขารวมตัวเป็นชมรมผมเลยเข้าไปเป็นสมาชิก เขาก็จะให้นักมายากลที่ดูแลสมาชิกใหม่มาสอบถามผมและรู้ว่าผมสอนเด็กเร่ร่อนก็เลยให้เรียนกลแบบนี้ บางครั้งประธานชมรมไปต่างประเทศดูโชว์มาบอกว่าต่างประเทศเล่นแบบนี้เราสามารถเอาแนวทางนี้ไปเล่นได้ โดยส่วนตัวผมก็เริ่มชอบแล้ว และหลังจากเรียนไปเรียนมาเด็กเขาก็บอกว่า ครูโจ่ยนะดีแล้ว เริ่มดีแล้ว เริ่มเป็นมืออาชีพแล้วล่ะ เราก็เลยเอามายากลถ่ายทอดให้กับเด็ก 2-3 คนที่เขาอยากเรียน และกลที่เด็กๆ ชอบให้ผมเล่นมากคือ เสกกระดาษเป็นแบงค์ บางทีเด็กถือกระดาษมาบอกพ่อเสกเป็นแบงค์ร้อยสองใบ ทุกวันนี้มายากลที่ผมเรียนก็มีคนมาจ้างไปออกงาน ได้ค่าจ้างก็ไม่ได้มาก ก็แบ่งมาให้เป็นค่าอาหารพวกเด็กๆ ครับ
งบประมาณการใช้จ่ายกับเด็กเร่ร่อนมาจากไหน?
ไม่มีเลยครับ เราไม่ได้รับทุนจากไหน ข้าวให้เด็กทานตอนนั้นมีเด็กประมาณ 20 กว่าคน เราไปขอมูลนิธิ ปอเต็กตึ้ง เขาอนุเคราะห์ข้าวให้เด็กเดือนละกระสอบ พอถึงเดือนปุ๊บเขาก็จะบอกให้ครูโจ่ยไปเอานะ ตรงนั้นมีคนมาบริจาคเยอะเลย และมีคนใจบุญเขาก็บริจาคเสื้อผ้ามาเราก็จะมาแยก มีผู้ใจบุญบริจาคบะหมี่สำเร็จรูป น้ำดื่ม แล้วเราก็มาเตรียมไว้ให้เขา ตอนนั้นเราออกสื่อมากเขาก็รู้ว่ามีตำรวจรถไฟดูแลเด็กเร่ร่อนอยู่ ช่วงนั้นจะได้รับบริจาคเยอะ ช่วงนี้น้อยลงบางครั้งมีควักกันเอง แต่ตอนนี้เด็กก็น้อยลงมาก จากที่เรามีโครงการนี้เด็กตามท้องถนนและเด็กด้อยโอกาสก็น้อยลง เพราะเด็กรุ่นเดิมๆ อายุมากขึ้น มีอาชีพเลี้ยงตัวเองแล้วจากที่มาอยู่กับเราครับ แต่เราก็ยังต้องการปัจจัยจากผู้ใจบุญช่วยบริจาคกับโครงการครูตำรวจข้างถนน แม้เด็กตามท้องถนนหมดแล้ว แต่เราก็นำจะปัจจัยที่ได้รับบริจาคไปทำงานต่อในเชิงลุก โดยเข้าไปในชุมชนเพื่อเป็นแนวป้องกัน ไม่ให้เกิดเด็กเร่ร่อนอีก ถ้าท่านผู้ใจบุญจะบริจาคได้ที่ ศูนย์วิทยุ นพวงศ์ 02-222-2169 ครับ
ปัญหาเด็กเร่ร่อนน้อยลงแล้วไปดูแลตรงไหนต่อ?
พอเด็กน้อยลงไปเราก็รู้ปัญหาว่าที่ออกมาจากบ้านมาสู่ท้องถนนเพราะปัญหาเขาคือ ครอบครัว เราก็เข้าไปทำงานในชุมชนเลยครับ ชุมชนที่เรารับผิดชอบอยู่ โดยเฉพาะ ชุมชนบางซื่อที่เป็นเขตของเรารับผิดชอบ ที่นั่นก็จะมีเด็กไม่ใช่เด็กเร่ร่อนแต่เป็นเด็กชุมชนที่ยากจน พ่อแม่ขี่ซาเล้ง โดยเฉพาะถ้าเป็นตรงข้ามหัวลำโพง วัดเทพศิรินทร์ ก็จะเป็นสลัมตรงข้างๆ คลอง ผมก็จะเข้าไปตรงนั้น จะเข้าไปดู พูดคุยกับพ่อแม่เขา ตัวเขา จะบอกเขาว่ายังไงคนเราต้องให้อภัยซึ่งกันและกัน ผมก็บอกเด็กว่าพ่อแม่จะตีเรานิดหน่อยเพราะเขารักเรา หนูก็ถ้าพ่อแม่เครียดเรื่องงานมาเราก็อย่าไปดื้อ เกเร ปัญหาเรื่องเด็กออกจากบ้านก็จะน้อยลง เหมือนกับเราไปทำกำแพงไว้ไม่ให้เด็กออกมาเหมือนประมาณนั้นเลยนะครับ
ฝากถึงพวก ‘ปิดทองหลังพระ’
อันดับแรกก็คือ ในฐานะที่เราเป็นตำรวจ พวกเรายอมรับเลยนะครับว่า องค์กรของเราเนี่ย พูดถึงความนิยมชมชอบเนี่ย น้อยมาก (เน้นเสียง) ตำรวจถ้าพูดง่ายๆ เลยนะ ประชาชนเขาชอบตำรวจแบบแทบจะลบมากๆ เลย ทีนี้ตำรวจมีทำงานอยู่หลายด้านหลายหน้าที่ บางด้านสืบสวนสอบสวนก็ทำงานของเขาไป บางด้านบริการก็ทำงานหน้าที่บริการไป โดยเฉพาะงานมวลชนสัมพันธ์ของตำรวจที่ทำอยู่นะครับ เป็นงานที่คิดว่าไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร เป็นงานที่เรามีแต่ให้นะครับ ที่เราอยากจะฝากสังคมไทยว่า ‘ตำรวจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด’ ในส่วนที่เขาทำงานเพื่อสังคมก็มีมาก เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ออกสื่อออกข่าวไป แล้วก็คำสาบานของตำรวจยุคใหม่เลยนะครับ ‘เราจะเป็นมิตรที่ดีกับประชาชน’ ถึงแม้ประชาชนจะเกลียดตำรวจยังไง เราก็ไม่ว่า จะด่ายังไงเราก็ไม่บ่น แต่สมมติว่ามีเหตุอะไรให้เรียก‘ตำรวจก่อนเลย’ ครับ ตำรวจก็จะไปถึงที่เกิดเหตุเร็วที่สุด เพื่อที่ภาพบวกของตำรวจจะได้อยู่ในใจของประชาชนต่อไปนะครับ
คิดว่าจะทำอีกนานแค่ไหน?
ตอนนี้ผม 57 แล้วเหลืออีก 3 ปีผมก็เกษียณ ผมคิดว่าช่วงที่เราเกษียณไปแล้วเรามีเรี่ยวมีแรงก็อยากทำไป คนที่สูงวัยตอนนี้ 60 แล้วผมว่ายังทำงานได้อยู่นะครับ ทุกวันนี้เราทำ เราก็ไม่ได้หวังที่เงิน เราหวังความสุขใจ เราหวังว่าอย่างน้อยๆ เด็กเร่ร่อนพวกเนี่ย ที่เรียกตำรวจว่า ‘พ่อ’ ทุกวันนี้วิ่งเข้ามาหา ตำรวจ ลืมบอกไป เมื่อปีที่แล้วผมขี่รถไปทางสามย่าน มีเด็กขายพวงมาลัยเป็นเด็กเร่ร่อนอยู่แถวนั้น เขาเคยมาเรียนที่นี้ รถผมไปติดไฟแดงตรงสามย่านเขาเห็นผม เขาจำได้ เขาตะโกนถาม‘พ่อไปไหน’ แล้วก็ตะโกนบอกกันว่า‘เฮ้ย! พ่อโจ่ยมา’ เขาก็วิ่งกรูกันมาหาผม มาถามพ่อไปไหนๆ ผมก็บอก พ่อจะไปธุระตรงนี้ ชาวบ้านบนรถเมล์เขาเห็น ในสายตาชาวบ้านที่มองผม ผมอ่านสายตาพวกเขาออกว่า ‘ไอ้ห่านี่ น่าจะเป็นหัวหน้าแก็งเด็กเร่ร่อนแน่เลยล่ะ’ แต่จริงๆ แล้วเขาไม่รู้ว่ามันเป็นความรักระหว่างตำรวจกับพวกเด็กๆ ที่มีต่อกันครับ กับโครงการนี้แม้ผมจะปลดเกษียณ ‘ผมจะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีแรงทำแล้วครับ’