ครอบครัว –ชุมชน ร่วมป้องกันเยาวชนจากบุหรี่
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ผลวิจัยชี้ครอบครัว และชุมชนสามารถป้องกันเยาวชนจากบุหรี่ได้ด้วยการให้ความใกล้ชิด ความห่วงใยและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
ผศ.ดร.ยุพา จิ๋วพัฒนกุล อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการศึกษาโครงการวิจัยเรื่อง การพัฒนาแนวทางในการป้องกันและลดการสูบบุหรี่ในเยาวชนโดยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ปี พ.ศ.2558 สนับสนุนโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยกลุ่มตัวอย่างคือเยาวชนอายุ 13-19 ปี จำนวน 257 คน และผู้เข้าร่วมวิจัยประกอบด้วยเยาวชน พ่อแม่ และเพื่อนบ้านของเยาวชนจำนวน 93 คน ใน จ.สุพรรณบุรี
ผศ.ดร.ยุพา กล่าวต่อว่า ซึ่งผลการวิจัยพบว่า เยาวชนจำนวน 108 คน ไม่สูบบุหรี่เนื่องจากมีพ่อแม่คอยเฝ้าระวัง ดูแลเรื่องการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เยาวชนเพียง 23 คน ที่เห็นร้านค้าตรวจบัตรประชาชนและไม่ขายบุหรี่ให้กับเยาวชนต่ำกว่า 18 ปี ตามกฎหมาย และมีข้อเสนอจากการวิจัยว่า แนวทางการป้องกันและลดการสูบบุหรี่ในเยาวชนครอบครัวต้องมีส่วนร่วม ดังนี้
1.ครอบครัวต้องเฝ้าระวังไม่ให้เยาวชนสูบบุหรี่และห้ามเยาวชนไม่ให้สูบบุหรี่
2.ครอบครัวต้องเป็นแบบอย่างในการไม่สูบบุหรี่ โดยพ่อแม่ที่สูบบุหรี่มักไม่ใส่ใจที่จะห้าม หรือตักเตือนเยาวชนไม่ให้สูบบุหรี่ ซึ่งเยาวชนประมาณ 1 ใน 3 คิดว่าการที่เยาวชนสูบบุหรี่เกิดจากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นต้นแบบในการสูบบุหรี่
และ 3.สร้างครอบครัวอบอุ่น โดยครอบครัวที่มีความขัดแย้งภายในครอบครัวในระดับสูงเสี่ยงต่อการที่จะทำให้เยาวชนเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุน้อยๆ และมีการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ครอบครัวที่มีความอบอุ่น ผูกพันแน่นแฟ้นภายในครอบครัวจะช่วยป้องกันการเริ่มสูบบุหรี่ในเยาวชน
"ส่วนชุมชนสามารถป้องกันและลดการสูบบุหรี่ สำหรับเยาวชนได้ โดยสร้างกฎระเบียบเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในชุมชน สอนสุขศึกษาโทษของบุหรี่ในชุมชน โดยเฉพาะบรรจุหลักสูตรการในโรงเรียน จะช่วยป้องกันการสูบบุหรี่ในเยาวชนได้ และ ส่งเสริมการออกกำลังกาย เพราะเยาวชนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะไม่มีความอยากทดลองสูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่" ผศ.ดร.ยุพา กล่าว