“ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว”…กำลังใจคือสิ่งสำคัญ

วอนสังคมเข้าใจอย่าซ้ำเติม

 

“ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว”…กำลังใจคือสิ่งสำคัญ

            หากถามว่าครอบครัวหมายถึงอะไร… หลายๆ คนจะนึกถึงภาพของการมีพ่อแม่ลูกอยู่กันพร้อมหน้า แต่ในปัจจุบันคำว่า ครอบครัว ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่นั้น เพราะสังคมในปัจจุบันยังมี ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่ถึงแม้ว่าจะมีแค่แม่กับลูก หรือลูกกับพ่อ แต่พวกเค้าก็นับว่าเป็นครอบครัวหนึ่งในสังคมไทย

 

           ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีมานานเท่าๆ กับคำว่า ครอบครัว สาเหตุของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการหย่าร้าง การถึงแก่กรรมของคู่สมรส ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นในประเทศไทย หากพ่อหรือแม่ที่อยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวนั้น ขาดกำลังใจอบรมลูกของตนเอง ก็อาจส่งผลให้เด็กและเยาวชนเติบโตมาอย่างขาดความอบอุ่น ทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ขาดคุณธรรม จริยธรรม

 

            สำนักวิจัยเอแบคโพล ได้สำรวจพบว่า มุมมองของประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเป็นเหตุให้เกิดปัญหาสังคม โดยให้เหตุผลว่า เพราะครอบครัวขาดความอบอุ่น ขาดที่พึ่ง ดูแลไม่ทั่วถึง ไม่มีเวลาให้ลูก ทำให้ลูกมีปมด้อย ลูกกลายเป็นเด็กมีปัญหา ซึ่งเมื่อพิจารณาในแง่ของปัญหาสังคมกับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว จะเห็นได้ว่า ประชาชนได้ให้ความสำคัญและแสดงความเป็นห่วงต่อผู้ที่เป็นลูกที่อยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเป็นพิเศษ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจที่ระบุว่า ผู้เป็นลูกที่อยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวจะได้รับผลกระทบมากกว่าพ่อหรือแม่ที่รับภาระเลี้ยงดูลูกตามลำพัง

 

            ข้อมูลรายงานประชากรและสังคมของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าสถิติการจดทะเบียนสมรสของคนไทย ชี้ว่าการแต่งงานของคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มลดลง คนที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน 25-41 ปี จะอยู่เป็นโสดมากกว่าคนรุ่นก่อนที่อายุราว 73 ปีขึ้นไป และถ้าแต่งงานก็มีลูกน้อยกว่าคนรุ่นก่อนถึง 3 เท่าตัว ขณะที่ครอบครัวมีขนาดเล็กลง คืออยู่คนเดียวหรืออยู่เฉพาะพ่อแม่ลูกมากขึ้น และพบร้อยละ 12 ของครัวเรือนไทยยังยากจน มากที่สุดที่อีสานสูงถึงร้อยละ 23 และยังพบ 1.3 ล้านครอบครัวจากจำนวนทั้งหมด 20 ล้านครอบครัว เป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว สาเหตุมาจากการสิ้นสุดชีวิตคู่ใน 4 รูปแบบคือ การละทิ้ง การแยกทาง การหย่าร้าง และการเสียชีวิตของคู่สมรส ซึ่งการหย่าร้างเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของการเพิ่มขึ้นของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ดังสถิติการหย่าที่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากประมาณเกือบ 50,000 คู่ในปี 2536 เพิ่มเป็น 100,000 คู่ในปี 2550 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการไม่จดทะเบียนสมรสก็มีเพิ่มมากขึ้น

 

            นางนภสสร จินนารี อายุ 45 ปี พนักงานแผนกนำเข้าส่งออกสิ้นค้า บริษัท อีทีเอ ประเทศไทยจำกัด ในฐานะคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องเลี้ยงลูกชาย 2 คน เพียงลำพังหลังจากแยกทางกับสามี กล่าวว่า สิ่งที่เธอต้องปรับตัวมากที่สุด คือ การเป็นทั้งพ่อทั้งแม่และเพื่อนในเวลาเดียวกัน จึงต้องอาศัยความอดทน ต้องใส่ใจกับเขาเป็นพิเศษ จะท้อไม่ได้เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบถึงลูกโดยตรง ทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็จะย้อนกลับมาทำให้เราไม่สบายใจ

 

            ด้านนายภรัณ ปักษานนท์ อายุ 45 ปี อดีตดารานักแสดง เป็นคุณพ่อที่น่าทึ่งคนหนึ่งที่มีเทคนิคการเลี้ยงลูกสาวได้อย่างมีคุณภาพ เปิดใจว่า สิ่งแรกที่ทำให้กล้าที่จะยืนหยัดขึ้นมาด้วยความห้าวหาญคือกำลังใจจากลูก ซึ่งเชื่อว่าพ่อหรือแม่ที่มีวิกฤติเช่นเดียวกันนั้นจะต้องหาจุดยืนของตัวเองให้ได้ และสิ่งเดียวที่จะทำให้กล้าที่จะเดินหน้าสู้ต่อไปก็คือ ลูก

 

             บางทีการจะเลี้ยงลูกให้เขาโตขึ้นมาเป็นคนดี เหตุผลอย่างเดียวใช้กับเขาไม่ได้เราต้องให้ความรักด้วย อย่าดูถูกความคิดเด็ก เราต้องเปิดใจและให้ใจเขา ยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อด้วยแล้วยิ่งสำคัญ เราต้องทำให้เขารู้สึกเหมือนกับว่าเราเป็นเพื่อน สามารถคุยได้ทุกเรื่องทุกปัญหา ไม่ใช่ว่าพูดมาก็แย้งไปเสียหมดแบบนี้เด็กก็จะไม่อยากเล่าอะไรให้ฟัง เราต้องนึกย้อนไปว่าเราก็เคยผ่านช่วงวัยรุ่นที่เคยทำผิดพลาดมาแล้วทั้งนั้น หากเขาจะทำอะไรผิดไปบ้าง สิ่งเดียวคือการให้อภัยและไม่ซ้ำเติมนายภรัณพูดด้วยน้ำเสียงที่เด็ดเดี่ยว  

 

            นางทวีผล ม่วงประยงค์ อายุ 36 ปี แม่ค้าขายผักและผลไม้ในตลาดไทย คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องอดทนต่อคำสบประมาทจากสังคมหลังจากที่สามีเสียชีวิต กล่าวว่า “ไม่อยากให้สังคมมานั่งตีกรอบว่าการที่ไม่มีครอบครัวที่สมบูรณ์ลูกต้องกลายเป็นเด็กมีปัญหา แต่อยากให้ทุกคนร่วมมือกันและเข้าใจช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตา แนะนำสิ่งดีๆ ให้เด็กและบุคคลที่ประสบปัญหาการเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวให้มีกำลังใจต่อสู้ แม้ทุกวันนี้จะมีคนพยายามเข้มแข็ง ไม่แคร์สังคม แต่ก็ต้องยอมรับว่าสังคมมีผลกระทบมากจริงๆ จึงขอวอนให้สังคมอย่าตอกย้ำในความที่เป็นครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์อีกเลย

 

            หันมาฟังเสียงสะท้อนจากฝ่ายลูกบ้างว่า รู้สึกน้อยใจหรือไม่ที่ต้องอยู่ในครอบครัวเดี่ยวซึ่ง แอน เด็กหญิงปิติรัตน์ ช่างให้ อายุ 14 ปี บอกว่าการจะอยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวหรือครอบครัวที่สมบูรณ์ก็ไม่แตกต่างกัน หากเด็กทำหน้าที่ลูกให้ดีที่สุด คือ การเป็นคนดี เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากผู้ใหญ่ ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องแก้ปัญหาด้วยการดูแลลูกให้ดีที่สุด โดยเฉพาะโลกยุคไอที ข้อมูลที่ต่างๆ เข้าถึงเด็กได้ง่าย หากปล่อยปะละเลยเด็กอาจกจะโดนชักนำไปในสิ่งที่ไม่ดีโดยง่าย และตัวเด็กเองนั้นก็อย่าเอาปมด้อยของตัวเองมาเป็นเครื่องมือที่ทำให้ตัวเองเป็นคนไม่ดี แต่เราต้องทำหน้าที่ของการเป็นลูกที่ดี ให้กำลังใจพ่อหรือแม่ของตัวเองและช่วยกันประคองชีวิตไปพร้อมๆ กัน  

 

            สถาบันครอบครัวถือเป็นเป้าหมายหลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 มุ่งเน้นจะสร้างให้ครอบครัวไทยเป็นครอบครัวที่อบอุ่น มั่นคง ดังนั้น จึงควรหาแนวทางแก้ไขและรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการสร้างสถาบัน ครอบครัวให้เข้มแข็ง ด้วยการร่วมระดมความคิดร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาความเสื่อมของสถาบันครอบครัว เพื่อให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและหล่อหลอมให้สมาชิกในครอบครัวมีความแข็งแกร่งทั้งทางกาย จิตใจ และผสานเป็นหนึ่งเดียวกัน จะส่งผลให้การพัฒนาประเทศมีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : ภราดร เดชสารTeam content www.thaihealth.or.th

 

 

 

 

 

Update 23-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : ภราดร เดชสาร

 

Shares:
QR Code :
QR Code