‘ครอบครัวสุขภาวะ’ พื้นฐานแห่งความสุขของคนในชาติ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจาก สสส.
สังคมไทยวันนี้ เราต้องยอมรับว่า ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นในครอบครัวมากมายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัวแตกแยก, ความรุนแรงในครอบครัว, การตั้งครรภ์วัยรุ่น, การถูกทอดทิ้ง ทั้งในวัยทารก ผู้สูงอายุ ซึ่งทุกปัญหา ล้วนขยายผล กลายเป็นปัญหาของชาติไปในที่สุด
ด้วยเหตุนี้เอง ภาครัฐจึงมิได้ นิ่งนอนใจที่จะยุติปัญหาครอบครัวเสีย ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อมิให้ลุกลามขยายตัวต่อไป ด้วยการสร้างสรรค์ "ครอบครัวสุขภาวะ" ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้แต่ละครอบครัวมีความสามารถในการจัดการดูแลสุขภาวะของตนเอง เป็นเสมือนการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับชุมชนและประเทศชาติให้ยั่งยืนสืบไป
แผนงานที่ภาครัฐวางเอาไว้เพื่อรังสรรค์ให้เกิด "ครอบครัวสุขภาวะ" เพื่อใช้เป็นทางออกสู่อนาคตไทย 4.0 ที่ทุกคนต้องก้าวเดินต่อไป ด้วยการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2560-2564 รวมระยะ 5 ปี เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาสถาบันครอบครัวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงบทบาทการขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะครอบครัวว่า สสส. มีแนวทางการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการขยายฐานครอบครัวอบอุ่น คือ 1) สร้างครอบครัวอบอุ่นในชุมชน นำร่องใน 11 จังหวัด โดยปี 2562 จะยกระดับให้มี 7 จังหวัดต้นแบบครอบครัวอบอุ่น ประกอบด้วย ลำปาง พะเยา เลย กาฬสินธุ์ สุรินทร์ อุบลราชธานี และตรัง โดยใช้กลไกการถอดบทเรียนจากศูนย์พัฒนาครอบครัวระดับตำบล มีคณะทำงานในชุมชนที่เกิดจากคน ในชุมชนลุกขึ้นมาจัดการ ภายใต้ความร่วมมือ ของทุกฝ่ายที่มีเป้าหมายตอบโจทย์ความต้องการของครอบครัวในชุมชน ผ่านการลงพื้นที่เก็บข้อมูลสำรวจครัวเรือนในชุมชน รวมไปถึงพัฒนาหลักสูตรอบรมแก่คณะทำงานในประเด็นที่ครอบคลุม เช่น สอนการ ทำบัญชีครัวเรือน เพิ่มรายรับ ลดรายจ่ายที่เสี่ยงต่อสุขภาพ วิธีการคุยเรื่องเพศกับลูกเชิงบวก แนวทางการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ เป็นต้น ซึ่ง สสส.และภาคีเครือข่ายพยายามร่วมกันหาคำตอบว่าหากครอบครัวในชุมชน มีปัญหาแบบนี้จะต้องป้องกันหรือแก้ไขอย่างไร? 2) สร้างครอบครัวอบอุ่นในสถานประกอบการ เนื่องจาก สสส. มองว่าที่ทำงานจะเป็น Change Agent ที่สำคัญ หากสถานที่ทำงาน ออกแบบนโยบายที่คำนึงถึงการใช้ชีวิต ที่สมดุลของพนักงานระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว หรือสร้าง Work Life Balance ให้พนักงานในองค์กรได้ เช่น บริษัท แพนด้า จิลเวอรี่ จัดตั้งศูนย์เด็กเล็ก ในสถานประกอบการ เพื่อที่หลังจากพนักงานลาคลอดครบกำหนดแล้วสามารถนำลูกมาฝากไว้ที่ศูนย์และตนเองก็สามารถเข้าไปทำงานได้ รวมถึงการมอบทุนการศึกษาให้ลูกของพนักงาน เป็นต้น 3) สร้างการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติจริง เพื่อเป็นการบอกต่อให้ครอบครัวและชุมชนอื่นๆ ได้เรียนรู้แนวทางเพื่อการขยายฐานครอบครัวอบอุ่นให้เพิ่มขึ้น
ศ.ดร.รุจา ภู่ไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินโครงการศึกษาครอบครัวไทยแบบบูรณาการตามวงจรชีวิต ครอบครัว เรื่อง ครอบครัวไทยยุค 4.0 อยู่ดีมีสุข จริงหรือ โดยการเก็บข้อมูล 6,300 ครอบครัว 8 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค ด้วยการทำแบบสอบถาม วัดคะแนนครอบครัวอยู่ดีมีสุข 9 ด้าน ได้แก่ 1) ความร่วมใจและปลอดภัยในชุมชน 2) สัมพันธภาพ 3) บทบาทหน้าที่ 4) เศรษฐกิจ 5) การดำเนินชีวิตแบบพอเพียง 6) ความมั่นคง และพึ่งพา 7) การศึกษา 8) การดูแลสุขภาพ และ 9) การพัฒนาจิตวิญญาณ และศึกษาครอบครัวลักษณะเฉพาะ 100 ครอบครัว (แม่วัยรุ่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ผู้สูงอายุต้องการพึ่งพา ผู้สูงอายุเลี้ยงหลาน ครอบครัวมีผู้พิการ ป่วยเรื้อรัง/ติดเตียง) พบปัญหาครอบครัวแตกแยกและความรุนแรง ในครอบครัว มีปัญหาตั้งครรภ์วัยรุ่นและมีการทอดทิ้งสมาชิกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่า ดัชนีครอบครัวอบอุ่นลดลงคณะเดียวกันครัวเรือนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น มีอัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้นทำให้เด็กอาศัยอยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น มีปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสังคม วิถีชีวิต และค่านิยม ทำให้การทำหน้าที่ของครอบครัวขาดประสิทธิภาพ โดยพบว่าภาคใต้เป็นภูมิภาคที่ให้คะแนนความอยู่ดีมีสุขสูงสุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ และกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่ให้คะแนนความอยู่ดีมีสุขน้อยที่สุด
จากข้อมูลดังกล่าวต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ไม่ทำให้เกิดความสุขแต่อย่างใดเลย ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดการจัดงาน "สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2561" โดยการจัดของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศภายใต้แนวคิดรู้เท่าทันสุขภาพ ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ ซึ่งได้มีการหยิบยกเรื่องครอบครัวไทยมาหารือในวงเสวนาเรื่อง "ชุมชนและรัฐร่วมสร้างครอบครัว สุขภาวะได้อย่างไร" ซึ่งจากการนำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันว่า การส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาให้เกิด "ครอบครัวสุขภาวะ" ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นเรื่องจำเป็นที่ควรกระทำอย่างยิ่ง
ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมกันศึกษาสถานการณ์ในประเด็นด้านครอบครัวพบว่า สิ่งแวดล้อมในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพของมนุษย์ เป็นต้นทุนชีวิตที่สำคัญตั้งแต่ในครรภ์มารดาสู่การลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ที่จะเกิดในอนาคต เช่น ติดเหล้า ติดบุหรี่ หากบ้านหลังหนึ่งสามารถสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นได้ ก็จะสามารถขยายเป็นชุมชนสุขภาวะ ได้ด้วยเช่นกัน
ทุกวันนี้ หากระบบเศรษฐกิจยังดึงคนวัยทำงานออกจากความรับผิดชอบในครอบครัว จนพวกเขาไม่มีเวลา ที่พาลูกไปหาหมอ หรือ มีเวลาที่จะสร้างความอบอุ่นให้กับครอบครัวบ้าง ปัญหาก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นหากภาครัฐและเอกชนสามารถออกนโยบายที่เอื้อแก่พนักงาน เช่น เฝ้าลูกป่วยไปพร้อมๆ กับทำงานที่บ้าน (Work from home) จะเป็นการเกื้อกูลกันและกัน ที่ควรจับตามองเป็นอย่างยิ่ง