คผยจ.อุบลราชธานี เดินหน้าสร้างเครือข่าย เสริมพลังป้องกันเด็กและเยาวชนห่างไกลบุหรี่ไฟฟ้า
ที่มา: คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดอุบลราชธานี
จากการสำรวจเยาวชนไทยช่วงอายุ 13-15 ปี จำนวน 6,700 คน พื้นที่โรงเรียนทั่วประเทศ พบการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยปี 2558 พบร้อยละ 3.3 แต่ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17.6 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 5.3 เท่า และเพศหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมยาสูบมีกลยุทธ์พรุ่งเป้าไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชน พบการโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ตเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จากเดิมร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 48 ส่วนความรู้หรือทัศนคติเด็กและเยาวชน เปลี่ยนแปลงไป เด็กมีความรู้หรือคิดเห็นควันบุหรี่มือสองลดลง เช่น การตัดสินใจเลิกยาสูบลดลงจากร้อยละ 72.2 เหลือร้อยละ 59 เด็กอาจจะเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจปลอดภัยกว่าบุหรี่ หรือควันในบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย และยังพบว่าเด็กรับทราบสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ลดลงทุกช่องทาง ขณะเดียวกัน ยังพบว่าในโรงเรียนพิษภัยที่รับความรู้จากการเรียนการสอนก็ลดลง จากร้อยละ 76.2 ลดลงเหลือร้อยละ 65.8 สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ทุกภาคส่วน จับมือบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า
จังหวัดอุบลราชธานีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความเข้มแข็ง ในการทำงานเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดอุบลราชธานี (คผยจ.อุบลราชธานี) มีนโยบายที่ชัดเจน พร้อมเสริมพลังเครือข่ายในพื้นที่ทุกภาคส่วน ทั้งศึกษาธิการ ตำรวจ สรรพสามิต ชมรมสื่อมวลชนสีขาว เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ฯลฯ ในการช่วยกันขับเคลื่อนงานป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรมและเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง
น.ส.อุษณี แสงสุข ครูประจำโรงเรียนนารีนุกูล ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คผยจ.จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงบทบาทการทำงานของ คผยจ. ว่า เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์เพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบภายในจังหวัด โดยมีเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งประจำตำแหน่งทั้งหมด 13 คน และได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอีก 6 คน มีหน้าที่กำหนดนโยบาย ติดตาม กำหนด ดูแล ประเมินผลในการดำเนินงาน เน้นที่การบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก
สำหรับสถานการณ์การสูบบุหรี่ในจังหวัดพบว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” กำลังเป็นภัยคุกคามสำคัญ เนื่องจากมีนักเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา พกบุหรี่ไฟฟ้าไปที่โรงเรียน แล้วนำส่งข้อมูลผิด ๆ แก่เพื่อน ให้เข้าใจว่าหากสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วจะมีกลิ่นหอม ดูดีกว่าคนอื่น ขณะเดียวนักเรียนที่มีกำลังทรัพย์ เริ่มสร้างค่านิยมในการซื้อบุหรี่ไฟฟ้า เพื่ออยากลองกันมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ซื้อมาจากโฆษณาตามสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิของ คผยจ. อุบลราชธานี ได้ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี (สสจ.อุบลราชธานี) ในฐานะเลขานุการ คผยจ. ได้รายงานสถิติจากที่ได้เก็บข้อมูลมา ส่งต่อให้ คผยจ. ร่วมกันวางแผนในการดำเนินงาน พร้อมกระจายงานไปยังทุกภาคส่วน ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองสิทธิเด็ก และด้านต่าง ๆ ให้ทำงานตามความถนัดของแต่ละภาคส่วนต่อไป
“คผยจ. ได้กำหนดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเผยแพร่ความรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปยังประชาชน ส่วนตัวครูเองก็จะให้ความรู้ภายในโรงเรียน ประสานงานร่วมกับเครือข่ายครูเพื่อการปลอดบุหรี่ ในการทำกิจกรรมในโรงเรียนต่าง ๆ ขณะที่สื่อมวลชนก็จะร่วมมือกันเป็นเครือข่าย “สื่อมวลชนสีขาว” ให้ข่าวเรื่องเกี่ยวกับโทษพิษภัยของบุหรี่ ซึ่งแบ่งการทำงานของแต่ละฝ่ายให้มีความชัดเจน”
ทั้งนี้ จากการที่ได้เข้าไปพูดคุยกับเด็กนักเรียนที่เคยมีภาวะสูบบุหรี่พบว่า เด็กนักเรียนมีความเครียดจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง ทั้งความกดดันเรื่องผลการเรียนจากครอบครัว การแข่งขันในห้องเรียน รวมถึงความต้องการยอมรับจากเพื่อน ขณะเดียวกันในสื่อออนไลน์ ยังมีการให้ข้อมูลที่บิดเบือนว่าหากสูบบุหรี่แล้วจะช่วยลดภาวะเครียดได้ ทำให้ครูต้องพยายามเข้าไปทำความเข้าใจกับเด็กว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อสุขภาพในระยะยาวอย่างไร หากเทียบกับความสุขที่ได้รับเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
ส่วนการปราบปราม ได้ประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สรรพสามิต เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทั้งจับและปรับผู้ที่ขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้ประสานงานไปยังเทศบาลนครอุบลราชธานีในการเข้าช่วยเหลือในการบังคับใช้กฎหมายด้วย ส่งผลให้การทำงานเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คผยจ.จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวด้วยว่าจากการทำงานที่ผ่านมา คาดหวังเป้าหมายหลักคือการลดนักสูบหน้าใหม่ พร้อมกับช่วยให้เยาวชนลด ละ เลิกสูบบุหรี่ให้ได้จริงจัง แต่ปัญหาและอุปสรรคที่พบคือ ผู้จำหน่ายบุหรี่มักจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมาย แต่ก็ยังพบการกลับมาขายซ้ำ ส่วนหนึ่งเกิดจาการบังคับใช้กฎหมาย ที่ยังมีช่องว่างไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจในการจับและปรับทันที แต่จะต้องมีผู้ร้องเรียนก่อน ขณะเดียวกันบริษัทบุหรี่พยายามผลิตเนื้อหาเผยแพร่ที่หลอกลวงเยาวชน ให้หลงเชื่อต่อมายาคติในการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีความอันตรายอย่างมาก และยังพบว่ามีฝ่ายการเมืองบางคนพยายามผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายด้วย ทำให้ต้องนำเสนอข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลเสียหายต่อเด็กและเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตอย่างไรบ้าง
“อยากฝากถึงผู้ใหญ่และนักเรียนว่า บุหรี่ไฟฟ้าคือมายาคติหลอกลวงที่มาท้าทายความเข้มแข็งด้านจิตใจของเรา และบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและอุปสรรคที่เด็ก ๆ ต้องเจอ แต่ความเข้มแข็งทางจิตใจ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี” น.ส.อุษณี กล่าวทิ้งท้าย