คนไทยเป็นโรคอ้วนอันดับ 2 ของอาเซียน
เผยรายงานสุขภาพคนไทยปี 57 พบคนไทยน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 2 ทศวรรษ เทียบ 10 ประเทศในเอเชีย ชายไทยอยู่ในอันดับ 4 หญิงอันดับ 2 หวั่นนำสู่โรคเรื้อรัง ขณะที่คนกรุงเทพฯเสี่ยงโรคอ้วนมากกว่าคนต่างจังหวัด
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เเปิดเผย "รายงานสุขภาพคนไทย 2557" สะท้อนให้เห็นถึงภัยคุกคามสุขภาวะที่สำคัญในปีนี้ คือภาวะ "โรคอ้วน" ที่กำลังบั่นทอนสุขภาพคนไทยมากขึ้น
ดร.ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เกิดจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลง ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลทางร่างกายมากขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อาทิ อาหารฟาสต์ฟู้ด น้ำอัดลม และอาหารที่ขาดคุณค่าทางโภชนาการในโรงเรียน ฯลฯ รวมถึงการมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบแบบคนเมือง มีกิจกรรมทางร่างกายลดลง และการใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากขึ้น เป็นต้น
“ปัญหาขณะนี้คือเรามีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เป็นสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย และสิ่งแวดล้อมไม่ดีในการบริโภคอาหาร ซึ่งต้องปรับปรุงกันอย่างเร่งด่วนต่อไป มิเช่นนั้นปัญหาโรคอ้วนจะมีมากขึ้น เพราะขณะนี้ประเทศไทยพบคนเป็นโรคอ้วน ในอันดับต้นๆ ของอาเซียนแล้ว โดยเฉพาะผู้หญิงจะมีปัญหานี้ได้ง่ายที่สุด"
รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2557 ระบุว่า โรคอ้วนถือเป็นสาเหตุให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวันอันควร จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases : NCDs) อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี โรคซึมเศร้า ภาวะหายใจลำบากและหยุดหายใจขณะหลับ และโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น โดยคนอ้วนมีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้มากกว่าปกติ 2-3 เท่า
นอกจากนี้ ภาวะโรคอ้วนในประเทศไทย มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต จากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายในปี 2552 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมากกว่า 1 ใน 3 อยู่ในภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มขึ้นสองเท่าตัว เมื่อเทียบกับในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 2534-2552) และหากเปรียบเทียบในระดับภูมิภาคพบว่า คนไทยอ้วนสูงสุดเป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 10 ประเทศอาเซียน รองจากมาเลเซียเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ยังพบเด็กอ้วนตั้งแต่ในระดับปฐมวัย (อายุ 1-5 ปี) และวัยเรียน (อายุ 6-14 ปี) ขยายตัวมากจนน่าเป็นห่วง คือเด็กนักเรียนทุกๆ 10 คน จะพบผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนอย่างน้อย 1 คน สถานการณ์โรคอ้วน มีความรุนแรงแตกต่างไปในแต่ละภูมิภาค เพิ่มขึ้นตามระดับการพัฒนาและฐานะทางเศรษฐกิจ โดยอัตราสูงสุดอยู่ในเขต กรุงเทพมหานคร และต่ำสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต