คนไทยซดสุราสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 9 เท่า
เปิดประชุมงาน “เหล้าโลก” ครั้งแรก “วิทยา” เผยคนไทยติดอันดับ 5 ของโลก ดื่ม “เหล้ากลั่น” ค่าเฉลี่ยคนไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 9 เท่าตัว ด้านผู้เชี่ยวชาญโรคไม่ติดต่อจากอินเดียพบข้อมูล “เหล้า” มีส่วนให้เกิดโรคมะเร็งกินเหล้าควบบุหรี่ 60% ป่วยโรคเรื้อรัง
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการเป็นประธานประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก (Global Alcohol Policy Conference : GAPC) ภายใต้หัวข้อ “จากแผนยุทธศาสตร์ระดับโลกสู่การปฏิบัติระดับชาติและท้องถิ่น” ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของโลกที่ประเทศไทยร่วมเป็นเจ้าภาพว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (ฮู) ระบุมีประชากรทั่วโลกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก เฉลี่ยดื่มคนละ 6.13 ลิตร ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันตรายและเป็นสาเหตุให้เกิดโรคในประชากรทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนามากกว่า 60 โรค ทั้งนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ปีละ 2,500,000 คน
นายวิทยากล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย พบว่าคนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับที่ 40 ของโลก โดยเฉพาะเหล้ากลั่น ดื่มมากเป็นอันดับ 5 ของโลกโดยมีผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 16.2 ล้านคน เฉลี่ยดื่มคนละ58 ลิตรต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 9 เท่าตัวซึ่งแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรถึงร้อยละ 90 โดยมีผู้เสียชีวิต 26,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานมีการประชุมกลุ่มย่อย เรื่อง “แอลกอฮอล์กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” โดย ดร.ซันดารัม อรุลราช (Dr.Sundaram Arulrhaj) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อของประเทศอินเดีย ให้ข้อมูลว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ทั้งมะเร็ง หัวใจ ปอด เบาหวาน รวมถึงการเผาผลาญอาหารที่ไม่สมบูรณ์ด้วยนั้น โดยพบว่า 60% ที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อพบว่า ล้วนมีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับการสูบบุหรี่ และการบริโภคอาหารขยะ น่าสังเกตว่า อัตราการเสียชีวิตจะพบมากในผู้มีรายได้ต่ำ และพบว่าเพศหญิงมีการดื่มสุรามากขึ้นด้วย จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ฯลฯพบว่าอัตราการเกิดโรคหัวใจมีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์เกิดขึ้นในเพศชาย 23% และเพศหญิง 18% นอกจากนี้ แม้แอลกอฮอล์จะไม่ใช่ปัจจัยหลักของการเกิดโรค แต่มีส่วนทำลายภูมิต้านทานของร่างกายได้ โดยพบข้อมูลว่า ผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 10 เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งได้ เพราะกลไกการบริโภคนั้น จะทำให้เนื้อเยื่อเสียหาย โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่หากได้รับทั้งพิษจากเหล้า และสารนิโคตินร่วมกันอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งด้วย
“สำหรับตัวอย่างการเกิดผลกระทบจากแอลกอฮอล์ในอินเดีย พบว่าผู้ที่ดื่มมากกว่า 5 แก้วต่อวัน จะเกิดโรคเพิ่มขึ้นมากกว่าคนปกติ 2 เท่า และยังพบว่า 1 ใน 5 ของประชากรในอินเดียที่เป็นผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลพบว่ามีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์” ดร.ซันดารัมกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน