คนแก่ไทยไร้เงินออมยังทำงานเลี้ยงตัว
เน้นให้ผู้สูงอายุทำงานตามช่วงวัย
ผศ.ดร.นงนุช สุนทรชวกานต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการสร้างโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ กล่าวถึงผลการศึกษาการสร้างโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ สนับสนุนโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.)
ปัจจุบันมีผู้สูงอายุจำนวนมากไม่มีบุตรหลานเลี้ยงดู เป็นที่พึ่ง รวมทั้งไม่มีเงินออมที่จะใช้ดำรงชีวิตในวัยชรา จึงต้องทำงานหารายได้เลี้ยงดูตนเอง ซึ่งจากการสำรวจสภาวะการทำงานของประชากร ณ ไตรมาส 3 ในปี พ.ศ.2552 พบว่า ร้อยละ 37.9 ของจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปยังอยู่ในกำลังแรงงาน ยังมีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 ที่ต้องยังชีพด้วยการทำงาน โดยร้อยละ 70 ของกลุ่มผู้สูงอายุชายอายุ 60-65 ปี และร้อยละ 65 ของกลุ่มผู้สูงอายุชายอายุ 65 ปีขึ้นไป ต้องทำงานต่อเนื่องเพราะเป็นรายได้หลักของครอบครัว ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุเพศหญิง มีอยู่ร้อยละ 60 นอกจากนี้ยังมีผู้สูงอายุอีกร้อยละ 30 ที่ต้องการทำงานแต่ว่างงาน และยังพยายามหางานทำอยู่
ผศ.ดร.นงนุชกล่าวว่า จากผลการศึกษาโครงสร้างการทำงานของผู้สูงอายุ พบว่าอุตสาหกรรมที่แรงงานสูงอายุทั้งชายและหญิงกระจุกตัวมากที่สุด ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมการขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน 2.อุตสาหกรรมการผลิต 3.อุตสาหกรรมโรงแรมและภัตตาคาร ส่วนลักษณะงานและอาชีพที่มีผู้สูงอายุทำมากที่สุด ได้แก่ 1.อาชีพการบริการ 2.อาชีพพื้นฐาน 3.ความสามารถทางฝีมือ “ผู้สูงอายุที่มีระดับการศึกษาสูง ที่ยังคงทำงานอยู่นั้นมีอยู่ไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษาหรือมีการศึกษาต่ำกว่าประถมและมีรายได้ต่ำ จึงไม่สามารถเก็บสะสมเงินออมไว้เพียงพอสำหรับเลี้ยงชีพในวัยชรา และจำเป็นต้องทำงานต่อไป” ผศ.ดร.นงนุชกล่าว
ผศ.ดร.นงนุชกล่าวต่อว่า รัฐควรสร้างโอกาสการทำงานให้ผู้สูงอายุได้ทำงานที่เหมาะสม ควรแก้กฎหมายเอื้อให้คนแก่ทำงานได้มากขึ้นและควรยกเลิกระเบียบเกษียณ 60 ปี แต่ให้ทำงานต่อ หากสุขภาพร่างกายแข็งแรง
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
update: 05-02-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร