คนเที่ยวป่าระวัง’ไข้รากสาดใหญ่’
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศแนะนำประชาชนที่จะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในป่า ให้ระมัดระวังโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) หรือไข้รากสาดใหญ่
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศแนะนำประชาชนที่จะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในป่า ให้ระมัดระวังโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) หรือไข้รากสาดใหญ่ โรคนี้จะเกิดจากการถูกตัวไรอ่อนกัด ส่วนใหญ่จะถูกกัดบริเวณในร่มผ้า เช่น ขาหนีบ เอว เป็นต้น หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ตาแดง ปวดกระบอกตา ผู้ป่วย ประมาณร้อยละ 50 จะพบแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ บริเวณที่ถูกไรอ่อนกัดลักษณะมีสีแดงคล้ำ เป็นรอยบุ๋ม ไม่คัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ โดยพบประมาณ 1 ใน 5 เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคนี้พบผู้ป่วยได้ตลอดปี มักพบในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน นักท่องเที่ยวที่นิยมเดินป่า ทหาร และผู้ที่ออกไปตั้งค่ายในป่า พบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว โดยตัวไรแก่จะชอบอาศัยอยู่บนหญ้าและวางไข่บนพื้นดิน เมื่อฟักเป็นตัวอ่อน ไรอ่อนจะกระโดดเกาะสัตว์หรือคนที่เดินผ่านไปมาเพื่อดูดน้ำเหลืองเป็นอาหาร สำนักระบาดวิทยารายงานข้อมูลการเฝ้าระวังโรคสครับไทฟัส ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-16 พฤศจิกายน 2557 ทั่วประเทศ มีรายงานผู้ป่วย 8,000 ราย เสียชีวิต 5 ราย พบผู้ป่วยในภาคเหนือมากที่สุด 3,013 ราย รองลงมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,461 ราย ผู้ป่วยเกือบร้อยละ 90 อาศัยในเขตชนบทและป่าเขา ที่สำคัญโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่มียารักษาให้หายได้
นพ.โสภณกล่าวถึงการป้องกันโรคว่า ผู้ที่ไปตั้งแคมป์ในป่าควรทำบริเวณที่พักให้โล่งเตียน ควรแต่งกายให้มิดชิด สวมรองเท้า สวมถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกง ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ และเหน็บชายเสื้อเข้าในกางเกง ทายาป้องกันแมลงกัดตามแขนขา และหลังออกจากป่าให้รีบอาบน้ำให้สะอาด ซักเสื้อผ้าที่สวมใส่ทันที หลังจากกลับมาภายใน 2 สัปดาห์ หากป่วยมีไข้ขึ้นสูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ หรือตรวจพบสะเก็ดแผลที่มีรอยไหม้คล้ายถูกบุหรี่จี้ ที่ผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเข้าไปในป่าให้แพทย์ทราบเพื่อรับการรักษาโดยเร็ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต