คนรุ่นใหม่ ร่วมสะท้อนประเทศไทย
เยาวชนรุ่นใหม่ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม หวังลดปัญหาความขัดแย้ง มุ่งประโยชน์ต่อประเทศชาติ
“บินไปเถิดหนุ่มสาวผู้แรงกล้า ตามแสงแห่งศรัทธาและเชื่อมั่น เรียนรู้โลกใหม่ให้เบิกบาน แล้วสืบสานสร้างสรรค์สังคมไทย” เสียงเพลงดังประสานร้องรับ จุดไฟในใจคนหนุ่มสาว กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ขอเป็นพลังเปลี่ยนแปลงสังคม
ผ่านวันเยาวชนแห่งชาติ 20 ก.ย. ย้อนมาย้ำซ้ำๆ กันทุกปีว่า “กลุ่มคนที่มีพลังอันสำคัญที่สามารถช่วยกันเสริมสร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต เยาวชนควรตระหนักในคุณค่าของตนเองที่ร่วมแรงร่วมใจ สามัคคี และเสียสละส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มีคุณธรรม จริยธรรม และสติปัญญาอันชาญฉลาดในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามแก่สังคม และนำพาประเทศชาติสู่ความเจริญรุ่งเรือง”
เมื่อสังคมเกิดเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ก่อประเด็นปัญหาความขัดแย้ง มุ่งประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประเทศชาติ แตกแยก แตกสามัคคีขาดความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และอยู่ยากขึ้นทุกวัน เด็กและเยาวชนที่อยู่ในสังคมยุคนี้ จึงไม่เคยเฉยนิ่งปล่อยให้สังคมเป็นไปตามยถากรรม
การสร้างจิตสำนึกใหม่ หลักคิด หลักวิเคราะห์ คุณค่าและการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่สังคมสุขภาวะ และปฏิบัติการจิตอาสาเพื่อการเปลี่ยนสังคมในชุมชนชายขอบ คือโจทย์การเรียนรู้โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม หลักสูตรที่ 2 โดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ตั้งโจทย์เพื่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่หาคำตอบลงลึกถึงชีวิตก้นบึ้งของสังคม โดยให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ฯ มีโอกาสเรียนรู้ปัญหาจากพื้นที่จริงใน 6 ประเด็นสังคม 1)คนไร้บ้าน คนจนเมือง ร่วมกิน ร่วมอยู่ ร่วมนอน บทพิสูจน์ทุกคนมีความเป็น “คน” เท่าเทียมกัน 2)เอดส์ งานบริการทางเพศ สิทธิและการเข้าถึงยาของผู้ติดเชื้อ ตะลุยโลกยามราตรีแสงสีของพัฒน์พงศ์ หลากอาชีพหลายชีวิต 3)แรงงานข้ามชาติ สถานการณ์การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ประเด็นปัญหาระดับชาติ 4)ปอดของคนกรุงเทพฯ บางกระเจ้า พื้นที่กระเพาะหมู ความพยายามในการรักษาฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมของชุมชน 5) เด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง บ้านกาญจนาภิเษก ศูนย์รวมไว้ซึ่งทุกปัญหาที่เกิดจากผู้ใหญ่และสังคม และ 6) นักโทษและผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง เรียนรู้เข้าใจประวัติศาสตร์สถานการณ์ทางการเมืองจากอดีตถึงปัจจุบัน
เอ๋ – ศิริพร ฉายเพ็ชร ผู้ประสานงานโครงการฯ เผยว่า กระบวนการเรียนรู้หลักสูตรที่ 2 จุดมุ่งหมายต้องการให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้ง 2 รุ่น กว่า 70 คน ได้สัมผัสความจริงของ “คน” ในสังคมที่ถูกหลงลืม 6 ประเด็น ชีวิตจริงที่ยิ่งกว่าละคร เพราะสังคมมีปัญหาจริงๆ ทุกอย่างจึงมีที่มาเรื่องราว เพื่อมาต่อจิ๊กซอทั้งองคาพยพของสังคม ดังนั้น กระบวนการมีส่วนร่วมถือเป็นหัวใจสำคัญที่ มอส.นำมาใช้ เพื่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ทุกคนใช้พื้นที่ ร่วมคิด-ทำ-ตัดสินใจและรับผิดชอบในกระบวนการทุกขั้นตอนร่วมกัน เพราะเสียงทุกเสียง ความคิดทุกความคิดมีความหมาย ในการนำมาขยับขยายต่อ เพราะโดยพื้นฐานน้องๆ มีหัวใจและพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม
“หากมองพลวัฒน์ของโลก ขณะนี้คือยุคของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความคิดที่ทันสมัยเปิดรับอะไรได้มากกว่า ดังนั้น เมื่อคนรุ่นใหม่มีศักยภาพมีความเป็นพลเมือง แต่โครงสร้างและพลังอำนาจของสังคมไม่มีการปฏิบัติรองรับ จึงต้องจำลองสังคมให้เกิดการปฏิบัติได้จริงตามศักยภาพและสถานการณ์ทางสังคม โดยให้พื้นที่ อำนาจ พลัง และโอกาส เพื่อให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาขึ้นมาฟื้นฟู สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม เฉกเช่นสถานการณ์สากลให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งในสังคมสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ และเชื่อว่าภายในระยะ 4-5 ปี จะมีเครือข่ายร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ด้วยการเปลี่ยนบทบาทให้โอกาสคนรุ่นใหม่ โดยการทำให้สังคมมีศักยภาพเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช้การควบคุม บังคับ หรือไปลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนอื่น โดยเริ่มจากการปรับทัศนคติของรัฐ ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ ตัวบุคคล องค์กรที่เกี่ยวข้องให้เกิดความเข้าใจ ไม่ใช่เพียงการส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณเท่านั้น ซึ่งหากทุกคนยังเชื่อว่าการศึกษาทำให้คนเป็นคนจริงๆ แต่ถ้าไม่ยอมปรับก็ต้องกระจายอำนาจไปสู่คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาโดยเห็นคุณค่าของคนอื่น เนื่องจากที่ผ่านมาเรามีปัญหาเรื่องความคิด ถ้าเข้าใจปัญหาที่เป็นรากเหง้าก็จะแก้ไขได้ เพราะเรื่องการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำคัญว่าเราต้องแยกอำนาจให้ออก” พี่เอ๋ กล่าวย้ำ
ไชยกานต์ เลิศนามเชิดสกุล หรือฟ่อน จากคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และเพิ่งเข้าทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ด้วยความคิดที่ต้องการเสริมสร้างประสบการณ์ ความรู้ ทักษะ การขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ ประเด็นทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม พื้นที่กระเพาะหมู ปอดกรุงเทพฯ ต.บางกระเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ด้วยเพราะเป็นบ้านของตนเอง จึงอยากเรียนรู้วิธีการทำงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้มีประสบการณ์ในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการทำผังเมืองจัดพื้นที่สีเขียวและสีเขียวคาดขาว รวมถึงการต่อสู้ไม่ให้นายทุนมากว้านซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก แต่เมื่อคนในชุมชนร่วมมือกัน มีความสามัคคีและขยายเครือข่ายที่เข้มแข็ง การต่อสู้ก็ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังมีเรื่องที่น่าห่วงเพราะในที่สุดแล้วการทำผังเมืองก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจที่สามารถเปลี่ยนผังเมืองได้ เพราะพื้นที่สีเขียวคาดขาวสามารถมีโรงงานอุตสาหกรรมได้ 5% แต่ พ.ร.บ.ผังเมืองมีอายุเพียง 12 ปีเท่านั้น เมื่อ พ.ร.บ.หมดอายุผู้มีอำนาจก็จะสามารถทำพื้นที่สีเขียวให้เป็นสีเขียวคาดขาวได้ ดังนั้น จึงต้องลงไปสร้างความตระหนัก ความเข้มแข็งให้กับชาวบ้านเกิดความสนใจในพื้นที่ตัวเอง ซึ่งขณะนี้ชุมชนเริ่มตระหนักที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรมากขึ้น เพราะพื้นที่สีเขียวเริ่มลดน้อยลง ฉะนั้น ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่ต้องการเห็นความเท่าเทียมเกิดขึ้นในสังคม ก็จะนำสิ่งที่เรียนรู้ไปปรับใช้ในชุมชนของตัวเอง
“รู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานช่วยเหลือสังคม เพราะไม่เคยเห็นองค์กรที่ทำงานด้านสาธารณประโยชน์จริงๆ อีกทั้ง มีกิจกรรมดีๆ ให้ได้ทบทวน ฝึกฝนตัวเอง เปิดมุมมองใหม่ๆ ทั้งทักษะภายนอกและภายใน จากเดิมที่สนใจแต่กระแสหลัก มองทุกอย่างและตัดสินแค่ภายนอก แต่จากการเรียนรู้ และมองในแง่มุมหลากหลายมากขึ้น ไม่ตัดสินจากสิ่งที่เห็นอีกต่อไป ทำให้สามารถจัดระบบทางความคิด ลำดับความสำคัญก่อนหลังทำให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ เพราะได้มีทัศนคติใหม่ๆ ทั้งนี้ จะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์และนำไปขยายต่อยังชุมชนของตนเอง” ฟ่อน บอกอย่างภาคภูมิใจ
“ผมก็ไม่รู้หรอกว่าตัวผมเองจะทำอะไรให้สังคมได้มากแค่ไหน แต่สิ่งแรกที่จะทำคือการมองทุกคนในสังคมเป็นมนุษย์ที่มีความทุกข์ ความสุข ได้เหมือนๆ กัน ฉะนั้น การปรับความคิด ทัศนคติเดิมๆ แม้เป็นเรื่องยาก แต่ทำได้เพียงยอมรับว่าความรู้เดิมที่เข้าใจมาตลอดนั้นเป็นความรู้ที่ผิด ซึ่งทุกคนก็สามารถปรับความคิดใหม่ให้ถูกต้องได้ เมื่อได้มีโอกาสเรียนรู้ สัมผัสข้อมูลจริง” ทิว – ธีรดลย์ ศรีชาติ คณะครุศาสตร์ มรภ.ร้อยเอ็ด บอกความในใจ และเผยต่อว่า เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้ไปสัมผัสเรื่องราวของผู้ติดเชื้อเอดส์ หญิงขายบริการทางเพศ และอาชีพคนกลางคืนที่ถนนพัฒน์พงศ์ ความหลากหลายของชีวิตที่เป็นสาเหตุเรื่องราวที่ได้เรียนรู้ ลบความคิดเดิมที่เคยเข้าใจผิดมาตลอด ความกลัวเรื่องเอดส์ที่คิดว่าชีวิตนี้คงไม่มีโอกาสได้สัมผัสอย่างแน่นอน แต่ไม่ใช่เลยทุกวันของชีวิตคนที่อยู่รอบข้างทั้งญาติ เพื่อน คนในชุมชน สังคม รวมทั้งตัวของเรา อาจมีเลือดบวกโดยไม่รู้ตัวเอง หรือคนที่เลือกอาชีพขายบริการทางเพศ จุดเริ่มต้นคือความสุขของคนในครอบครัว พ่อแม่ ลูกที่ต้องเรียนหนังสือ ด้วยความยากจน การศึกษาน้อย เพื่อนๆ ในชุมชน หมู่บ้านชักชวนก็ไปทำ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่เลือก แม้เมื่อไปทำจริงๆ แล้วจะรู้ว่าไม่ใช่ความสุขที่คนในครอบครัวต้องการจริงๆ
ทิว เล่าต่อว่า เป็นความโชคดีที่สามารถทำให้ตนเองปรับเปลี่ยนทัศนคติการมองคนใหม่ เมื่อได้ลงไปเรียนรู้ประเด็นจากพื้นที่จริงได้คำตอบทุกอย่างที่อยู่ในใจ เคยสงสัยว่าเพราะอะไรสังคมขณะนี้แบ่งแยกเรื่องเพศ ทั้งที่เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดาพื้นฐานไม่จำเป็นต้องแบ่งแยก ดังนั้น ตนจะนำข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงไปกระจายความรู้ให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนอยากให้เปิดใจ ทัศนคติ อย่าด่วนตัดสิน ซึ่งไม่ยากเพียงเริ่มจากจิตสำนึกที่อยากทำเพื่อคนอื่น ทุกอย่างจะออกมาจากใจที่อยากช่วย สังคมจะยิ่งน่าอยู่มากขึ้น
หยุดนิ่งและคิดตาม 6 ประเด็นเศษเสี้ยวปัญหาร้อยแปดพันเก้าของสังคม บนความเป็นจริงประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น แต่แล้วทำไมเด็กและเยาวชน กลายเป็นอัศวินความหวังของคนทั้งชาติ ตั้งแต่ตื่นลืมตาขึ้นมาอยู่บนโลกที่สังคมเปลี่ยนแปลงเร็ว เพื่อมาแก้ปัญหาที่สะสมจากอดีตและทับทวีคูณในปัจจุบัน เพิ่มความยาก รุนแรง และซับซ้อนกันมาเป็นลำดับขั้น จนปัญหาเปรียบเสมือนเป็นไวรัสที่ดื้อยา ยิ่งแก้เท่าไรยิ่งมัดตัว และทวีความยากขึ้น ….มีเพียงยาขนานเดียวนั่นคือ ทุกคนในสังคมต้องร่วมมือ ร่วมใจ ในการแก้ไขปัญหา ถึงยากอย่างไรก็ต้องทำ
ที่มา: เว็บไซต์อีดูโซน