“คนกลุ่มเฉพาะ” เสียงที่ควรต้องได้ยิน

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพโดย สสส.



ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคม "ประชากรกลุ่มเฉพาะ" ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ให้นิยามว่าเป็นกลุ่มที่เปราะบาง มีความเสี่ยง และข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตใน 8 กลุ่ม ได้แก่ คนพิการ คนไร้บ้าน ผู้สูงอายุ ผู้หญิง ผู้ต้องขังหญิง แรงงานในระบบ-นอกระบบ ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล/ประชากรข้ามชาติ และมุสลิม ได้รับผลกระทบจาก "ความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพ"


การลดความเหลื่อมล้ำและสร้าง "ความเป็นธรรมทางสุขภาพ"เป็นภารกิจสำคัญที่ต้องอาศัยยุทธศาสตร์การสร้างแนวร่วมสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งปัญหาที่เป็นจุดร่วมกันของคนกลุ่มนี้ ได้แก่ (1) ไร้ตัวตน ถูกมองข้าม (2) ถูกผลักภาระ (3) มีความเสี่ยงสูง (4) ถูกกีดกันออกจากนโยบาย และ (5) มีจิตสำนึกจำยอม หรือยอมจำนน


ถือเป็นความท้าทายของการทำงานให้บรรลุความเป็นธรรมทางสุขภาพ คือลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านปัจจัยทางสังคม สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับวิธีคิดและเชิงโครงสร้าง



สสส. ถือโอกาสครบรอบ 10 ปี ที่ได้ร่วมขบวนการขับเคลื่อนลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จัดเวทีประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ "Voice of the voiceless :   the vulnerable populations" ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 12-13 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา


วัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสื่อสารสาธารณะในประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพประชากรกลุ่มเฉพาะ และมุ่งไปสู่เป้าหมาย พัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะในระยะต่อไป พัฒนาต่อยอดกระบวนการทำงานระหว่างภาคีเครือข่าย เกิดประเด็นการทำงานร่วมที่เป็นรูปธรรม


"การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมต้องขับเคลื่อนประชากรกลุ่มเฉพาะ การสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพผ่านปัจจัยต่าง ๆ จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้สังคม กลุ่มคนชายขอบมีปัญหาหลากหลาย เป็นปัญหาอันท้าทาย…มีความเสี่ยงสูงในการดำรงชีวิต ถูกกีดกันจากนโยบาย จิตสำนึกจึงต้องยอมจำนนในสังคม ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนแปลงเชิงคิด ต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ถือเป็นก้าวสำคัญที่ภาคีเครือข่ายได้มาหลอมรวม จะก่อเกิดเป็นพลังและจะจุดประกายทำให้สังคมเห็นศักยภาพของประชากรกลุ่มเฉพาะ" นพ.วีระ พันธ์ สุวรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพคนที่ 2 ระบุ



ขณะที่ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะภายใต้วิสัยทัศน์ "ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาวะ" ดังนั้นทุกคนบนแผ่นดินไทยจึงหมายรวมถึง "ประชากรกลุ่มเฉพาะ"


"สสส. เข้าใจและรู้ดีว่าทุกคนมีปัจจัยตั้งต้นไม่เท่ากัน และมีกลุ่มที่ขาดเป็นพิเศษ อาจเรียกว่ากลุ่มชายขอบเปราะบาง ได้รับผลกระทบ เกิดความอ่อนแอ แล้วล่มสลายได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น มีความไร้ตัวตนจนกระทั่งไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร หรือมีตัวตนแต่ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง กลายเป็นภาระ ถูกผลักเป็นชนชั้นล่างของสังคม ถูกคุกคามสูงกว่าคนทั่วไป เข้าไม่ถึงสิทธิ หรือเข้าถึงสิทธิน้อยกว่าคนทั่วไป ทั้งหมดนำไปสู่การจำนนจำยอมอยู่ในสังคม ไร้ความหวังและไร้ความสุข ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วไม่มีแม้คนที่จะเป็นแกนนำ ทุกคนค่อย ๆ เกิดขึ้น รวบรวมกัน จะส่งเสริมสุขภาพทุกเรื่อง ให้มีโอกาสเข้าถึง เพื่อความเป็นธรรมทางสุขภาพ นำไปสู่การสร้างเสริม สุขภาพ มาร่วมกันเพื่อจะทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"ดร.สุปรีดา สรุปถึงการทำงานเรื่องนี้



ด้าน ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เล่าว่า เพื่อให้ไม่มีการแบ่งชนชั้นตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) 10 ปีของการทำงานที่ผ่านมามุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลต่อความเป็นธรรมทางสุขภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาระบบกลไกทั้งระดับประเทศ ระดับพื้นที่ จนมีผลงานเชิงประจักษ์หลายเรื่อง ซึ่งเวทีการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 2,400 คน จะนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นพลังสัญญา ทำให้ภาคีเครือข่ายกับกลุ่มประชากรเฉพาะมาสู่เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการทำงานที่เน้นการโชว์ แชร์ และเชื่อมผลงานเข้าด้วยกัน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต


ขณะที่มีเรื่องเล่าที่หลายคนเคยได้ยินได้ฟังแล้วอดขำไม่ได้ ดังที่ หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง แกนนำ ผู้หญิงชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอ เล่าเหตุการณ์จริงเมื่อคนชนเผ่าไปหาหมอว่า พยาบาลบอกคนไข้ "ถอดรองเท้าแล้วชั่งน้ำหนัก" ซึ่งพยาบาลต้องตกใจเมื่อเห็นหญิงชนเผ่าค่อย ๆ บรรจงวางรองเท้าบนเครื่องชั่งน้ำหนัก ซึ่งเพราะความไม่เข้าใจภาษาไทย และมีปัญหาเมื่อต้องไปพบแพทย์ การเกิด "ล่ามชุมชน" ช่วยทำให้ประชากรกลุ่มเฉพาะกลุ่มนี้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง นี่เป็นเพียงตัวอย่างงานที่ สสส. สนับสนุนให้เกิดขึ้น


ฟังแล้วอาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ หรือไกลตัว แต่จุดเล็ก ๆ นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งไม่ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ และ หากเราไม่ดูแลคนในสังคม ปล่อยปละละเลย ปัญหาก็จะยิ่งซับซ้อนจนยากที่จะแก้ไข

Shares:
QR Code :
QR Code