ด้วยมีแนวคิดในการบริหารท้องถิ่น ดูแล ทุกข์สุขของประชาชนในพื้นที่ว่า “ชุมชน ไม่ทอดทิ้งกัน” ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบล ขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับการยกระดับให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ” ในการสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นแก่ท้องถิ่นอื่นๆ
โดยเฉพาะการทำงานเพื่อดูแลผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ที่มักจะถูกมองว่าเป็นปัญหาของสังคม เพราะด้วยความพิการ จึงทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนกับคนปกติ ทำให้ไม่มีรายได้ที่จะเลี้ยงดูตนเองได้ และกลายเป็นภาระของครอบครัวและชุมชนในที่สุด
ด้วยเหตุดังกล่าวทาง องค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเล จึงได้นำแนวคิดข้างต้นมาเป็นหลักในการทำงาน เพื่อสร้างสุขภาวะให้เกิดแก่ชุมชน โดยเฉพาะผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ผ่านการทำ งานร่วมกับผู้นำชุมชน และภาคีเครือข่าย เน้นการมีส่วนรวมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยนำทุนทางสังคมของท้องถิ่น มาปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และรวมเข้ากับนโยบายในการพัฒนาตำบล
จนเกิดเป็นกิจกรรมการบริการด้านสุขภาพที่ครอบคลุมความต้องการของประชาชนในทุกมิติ ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการ “สร้างสุขภาวะจากตำบลขุนทะเล ด้วยการเรียนรู้เพื่อขยายผลสู่ตำบลเครือข่าย” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายโสภณ พรหมแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเล เปิดเผยว่า จุดเด่นของ อบต.ขุนทะเล ในการเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ ก็คือ ระบบการจัดสวัสดิการให้กับชุมชน ด้วยการสร้างให้สมาชิกทุกคนในชุมชนตระหนักว่าอนาคตและความยั่งยืนจะเกิดขึ้นในชุมชนได้นั้น จะต้องเกิดขึ้นจากความคิดและความต้องการคนในชุมชนเป็นสำคัญ ภายใต้แนวคิดชุมชนไม่ทอดทิ้งกัน เกิดเป็นโครงการต่างๆ รวมถึงจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ดูแลสวัสดิการต่างๆ ให้กับสมาชิกในชุมชน นอกจากนี้ ยังได้มีการตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ ให้กับกลุ่มผู้พิการที่เกิดขึ้นจากบริบทพื้นฐานของคนที่อยู่ชายขอบมารวมตัวกันประกอบอาชีพ โดย อบต.และชุมชนร่วมกันสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เขามีชีวิตได้อย่างปกติ มีคุณค่าและไม่ถูกสังคมทอดทิ้ง
“แนวคิดหลักที่จะพัฒนาตำบลขุนทะเลให้เป็นตำบลสุขภาวะนั้น เราเน้นในเรื่องการบริหารจัดการคน โดยเฉพาะคนชายขอบหรือคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข เช่น คนที่พิการ ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ดังนั้น เราจึงเน้นไปที่การดูแลผู้ด้อยโอกาส เพราะกลุ่มนี้ก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม แต่สังคมกลับไม่ได้ให้ความสำคัญและดูแลคนกลุ่มนี้ เราจึงให้ความสำคัญว่าทำอย่างไรให้คนพิการออกสู่สาธารณะ ทำอย่างไรให้เขามีสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้เขาสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี เพราะเมื่อทุกคนในชุมชนมีสุขภาพดี มีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย ใจ สังคมก็จะเข้มแข็งไปด้วย แต่ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ สิ่งที่สำคัญคือคนในชุมชนจะต้องเห็นความสำคัญและมีจิตอาสาที่จะพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง” นายโสภณกล่าว
นางโชติมา ทรายขาว ประธานกลุ่มเพาะเห็ด ผู้พิการมือซ้ายผิดปกติมาแต่กำเนิด เปิดเผยว่า เมื่อก่อนคนพิการในชุมชนไม่กล้าสู้หน้าคนอื่นๆ ในสังคม เพราะกลัวว่าเขาจะรังเกียจ อีกทั้งเมื่อพิการก็ไม่สามารถประกอบอาชีพเหมือนคนปกติได้ ทำให้ถูกมองว่าเป็นภาระของสังคม แต่เมื่อทาง อบต.ขุนทะเลเข้ามากระตุ้น โดยมีอาสาสมัครมาคอยให้กำลังใจ ทำให้กลับมามีความตั้งใจที่จะสู้ชีวิตอีกครั้งหนึ่ง จึงเริ่มตั้งกลุ่มเพาะเห็ดขึ้นมาในปี 2551
“ปัจจุบันกลุ่มเพาะเห็ดมีสมาชิก 10 คน เป็นคนพิการทั้งหมด โดยเฉลี่ยแล้วจะเก็บผลผลิตได้วันละ 10 กิโลกรัม ขายราคากิโลกรัมละ 100 บาท แล้วก็ยังนำเห็ดกลับไปรับประทานที่บ้านได้ ทุกวันนี้ผู้พิการทุกคนมีรายได้และส่วนแบ่งจากการขายเห็ดนางฟ้าและเห็ดภูฐานทุกวัน เมื่อมีรายได้สามารถเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงลูกและครอบครัวได้ ชีวิตก็ดีขึ้น สังคมและชุมชนก็ให้การยอมรับและช่วยกันสนับสนุน” นางโชติมากล่าว
นายสุริยา พันธ์พืช ผู้พิการด้วยโรคโปลิโอจากหมู่บ้านสอ ตำบลขุนทะเล ที่ปัจจุบันหันมาประ กอบอาชีพซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ และมีรายได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นบาทในแต่ละเดือน เล่าให้ฟังว่าเกือบทุกเดือนจะมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมาเยี่ยมเยียนสอบ ถามสารทุกข์สุขดิบและคอยให้กำลังใจอยู่เสมอ ทำ ให้เขาเกิดความรู้สึกว่าน่าจะนำความสามารถที่ตนเองมีอยู่ออกไปช่วยเหลือชุมชนบ้าง
“เวลาที่ทาง อบต.ขุนทะเลจัดกิจกรรมต่างๆ หรืองานสาธารณประโยชน์ก็จะปิดร้านแล้วอาสาไปร่วมกับคนอื่นๆ ในการดูแลซ่อมแซมรถมอเตอร์ไซค์ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ หรือช่วย งานอื่นๆ เท่าที่ช่วยได้ เพราะที่มีอาชีพได้อย่างทุกวันนี้ ก็เพราะว่าได้รับความช่วยเหลือจากอาสาสมัครของ อบต.ขุนทะเลที่มาคอยดูแลและให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ” นายสุริยากล่าว
นางนงลักษณ์ สุตระ หัวหน้ากลุ่มดอกไม้ดินวิทยาศาสตร์ เล่าว่า ในกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 9 คน เป็นผู้พิการ 2 คน การทำดอกไม้ประดิษฐ์จากดินวิทยาศาสตร์นั้นเป็นอาชีพเสริมที่สามารถรับงานไปทำอยู่ที่บ้านได้ พอเสร็จก็นำมาส่งรวมกันไว้ที่กลุ่ม ทำให้คนพิการก็สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้
“ราคาของดอกไม้ที่ทำขึ้นจะแยกเป็นชิ้นต่างๆ แต่ละชิ้นราคาจะอยู่ระหว่าง 7-30 บาท ซึ่งจะนำมารวมประกอบเป็นช่อดอกอีกครั้งหนึ่งตามแบบที่ต้องการ โดยสมาชิกแต่ละคนจะมีรายได้ตกราว 600-700 บาทต่อสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความขยัน ซึ่งผู้พิการก็สามารถทำได้และมีรายได้เท่ากับคนปกติ ทำให้เขามีอาชีพที่สามารถเลี้ยงตนเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระกับคนอื่นๆ”
ชุมชนจะเข้มแข็งได้ ก็ต่อเมื่อสมาชิกทุกคนก็จะต้องมีความเข้มแข็ง ด้วยการบริหารจัดการท้องถิ่น ด้วยแนวคิดชุมชนไม่ทอดทิ้งกันของ อบต.ขุนทะเล จึงเป็นต้นแบบที่น่าสนใจในให้กับชุมชนอื่นๆ ได้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างความเท่าเทียมกันและมองเห็นคุณค่าของประชาชนทุกๆ คนในชุมชน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือชุมชนที่เข้มแข็งและมีสุขภาวะอย่างยั่งยืน
“เราควรให้ความสำคัญกับผู้ด้อยโอกาส เพราะกลุ่มนี้ก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม แต่สังคมกลับไม่ได้ให้ความสำคัญและดูแลคนกลุ่มนี้ เราจึงให้ความสำคัญว่าทำอย่างไรให้คนพิการออกสู่สาธารณะ ทำอย่างไรให้เขามีสวัสดิการต่างๆเพื่อให้เขาสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี เพราะเมื่อทุกคนในชุมชนมีสุขภาพดี มีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย ใจ สังคมก็จะเข้มแข็งไปด้วย” นางนงลักษณ์กล่าว
นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน สสส. กล่าวว่าโครงการสร้างสุขภาวะจากตำบลขุนทะเลฯ เป็นภารกิจหนึ่งของ สสส. ในการออกแบบและสร้างชุมชนหรือตำบลต้นแบบในการดูแลสุขภาวะของชุมชน เพื่อให้ชุมชนอื่นๆ ได้มาเรียนรู้และช่วยกันขับเคลื่อนสิ่งดีๆ จากชุมชนหนึ่งออกไปสู่อีกหลายๆ ชุมชน
“โครงการนี้ สสส.ไม่ได้สนับสนุนเงินงบประมาณไปเพื่อให้ อบต.ทำกิจกรรมต่างๆ แต่เราให้งบประมาณไปเพื่อใช้สำหรับให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้จากชุมชนที่เป็นต้นแบบ ซึ่งในปัจจุบันเรามีศูนย์เรียนรู้ต้นแบบจำนวน 18 ศูนย์จากทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าจะทำให้เกิดศูนย์ในลักษณะเดียวกันนี้เพิ่มขึ้นเป็น 75 ศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศภายใน 3 ปีนับจากนี้ ซึ่งเราเชื่อมั่นในศักยภาพของท้องถิ่นว่าสามารถทำได้ แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้โครงการนี้จะขับเคลื่อนไปได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเห็นความสำคัญของการสร้างสุขภาวะในชุมชนจึงจะสามารถขยายผลการดำเนินงานออกไปได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น” นางสาวดวงพรระบุ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์