ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย สงกรานต์ไทยไร้อุบัติเหตุ
ข้อมูลจาก : งานแถลงข่าว ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” วันที่ 3 เม.ย. 2567 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“เทศกาลสงกรานต์ มาแล้ว” หยุดยาวหลายคนเลือกโปรแกรม เดินทางกลับไปใกล้ชิดกับครอบครัว ตามภูมิลำเนา หรือ ท่องเที่ยว เติมพลังก่อนกลับมาสู้งาน ทำให้ช่วงเวลานี้ จราจรมักหนาแน่น คนใช้รถใช้ถนน ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง และยิ่งบวก “น้ำเมา” ที่มักมาจากวงสังสรรค์ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาปราม หามาตรการป้องกัน
ในการแถลงข่าว ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเทศกาลมหาสงกรานต์ ว่า “ยูเนสโก ยกให้ประเพณีสงกรานต์ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ช่วงวันหยุดยาวหลายหน่วยงานร่วมสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณการใช้รถใช้ถนนเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเข้มข้นมาตรการลดอุบัติเหตุทางถนน ใน ช่วง 7 วัน ระหว่างวันที่ 11- 17 เม.ย.นี้”
ทั้งนี้ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่งจากเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 ที่มีอุบัติเหตุทางถนน 2,203 ครั้ง เสียชีวิต 264 คน บาดเจ็บรุนแรง 2,208 คน จากการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด พบแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกำหนด 33.53% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ รถจักรยานยนต์ 80.46% และมีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตกว่า 90% จากการไม่ได้สวมหมวกนิรภัย ดังนั้น ขับขี่ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย กรณีมีเด็กร่วมเดินทางควรจัดที่นั่งนิรภัย (Car Seat) สำหรับเด็กด้วย
กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะปลายทางของระบบสุขภาพ ได้จัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ ทั้งส่วนกลาง และระดับจังหวัด ประสานและสนับสนุนตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมสนับสนุนงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ในผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในสงกรานต์อีกด้วย
“หากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงชีวิต สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทั้งของรัฐหรือเอกชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤตหรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ. พงศ์เทพ วงศ์วัชไพบูลย์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มองว่า “เรื่องการขับขี่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม ควรอยู่ในสำนึก และเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะผลของสุรา หรือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะตกค้างในร่างกายส่งผลต่อสมอง ยิ่วบวกกับอาการง่วงนอน ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ ง่าย โดยการดูดซึมแอลกอฮอล์ของร่างกาย จะแสดงผลหลังผ่านการดื่มไป 15-30 นาที และตกค้างในร่างกายเป็นวัน”
ข้อมูลของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ วันที่ 11-17 เม.ย. 2566 พบผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับ 4,340 คน ขับล้มเอง 2,319 คน คิดเป็น 53.43% และการเกิดอุบัติเหตุ ในผู้ดื่มที่แล้วขับขี่ที่เป็นเยาวชนต่ำกว่า 20 ปี มีถึง 502 คน
ทั้งนี้เมื่อหลายหน่วยงานมีการขานรับ จัดงานสงกรานต์ 21 วัน เกรงว่า อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ ที่เกิดจากการดื่มเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่า ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมีความสัมพันธ์กับสมอง และสติในการครองตัวรับรู้ แบ่งเป็น ระดับแอลกอฮอล์ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เริ่มมึนงง
- ระดับแอลกอฮอล์ 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ เริ่มเดินเซ
- ระดับแอลกอฮอล์ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้หมดสติได้
- ระดับแอลกอฮอล์ 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ก็ ส่งผลให้ หลับ
“เทียบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ที่กำหนดห้ามเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เท่ากับการดื่มเบียร์ไม่เกิน 2 กระป๋อง หากเป็นสุราพื้นบ้าน ยิ่งมีฤทธิ์แรงกว่าทั่วไป ได้แค่ไม่เกิน 2 แป๊ก เท่านั้น การตอบสนองต่อระดับแอลกฮอล์ในแต่ละคนไม่เท่านั้น แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ ส่งผลต่อสมองและการควบคุม โดยพบอุบัติเหตุมักเกิดขึ้น ภายหลังจากผู้ดื่ม จากจุดที่ดื่มไป เพียง 5 กิโลเมตร เท่านั้น” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒนา รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า “ช่วงสงกรานต์นี้ จะเน้น 5 มาตรการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุ 1.บริหารจัดการตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตั้งด่านชุมชนในการสกัดกั้นลดพฤติกรรมเสี่ยง จัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำ 2.ลดปัจจัยเสี่ยงเรื่องถนน แก้ไขจุดเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ 3.ลดปัจจัยเสี่ยงยานพาหนะ ตรวจสอบรถขนส่ง รถโดยสารสาธารณะ พนักงานขับรถ รณรงค์ให้ตรวจสภาพรถก่อนเดินทาง 4. มีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดกรณีเกิดอุบัติเหตุทุกราย และ 5.ช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ”
ขณะที่ พล.ต.ต.วีรพัฒน์ ศิวะแพทย์ รองผู้บัญชาการ สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า “ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะขับรถเร็วไม่สวมหมวก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การจำกัดความเร็ว เมาแล้วขับ และ ขับรถย้อนศร ซึ่งได้เตรียมปิดจุดกลับรถ ยกเลิกการก่อสร้างถนนชั่วคราว เพื่อคืนผิวการจราจรให้คนใช้รถใช้ถนน พร้อมประสาน อสม. จับตากลุ่มคนในพื้นที่ ที่มักมีพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อเฝ้าระวัง”
“สำหรับการตั้งด่านตรวจ เน้นเปลี่ยนย้ายจุดในแต่ละวัน เพื่อบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และตรวจวัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในผู้ขับขี่ พร้อมตรวจสอบประวัติ หากพบมีพฤติกรรมทำผิดซ้ำซาก ก็อาจเพิ่มโทษ ก่อนส่งพนักงานอัยการทุกครั้ง ในกรณีที่พบ การดื่มแล้วขับในเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีการขยายผลดำเนินคดีกับผู้ขายด้วย ส่วนผู้ขับรถในขณะเมาสุรา อายุต่ำกว่า 18 ปี ให้สอบสวนขยายผลดำเนินคดีกับบุคคลที่ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอม ให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรเช่นกัน” พล.ต.ต.วีรพัฒน์ กล่าว
“ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม ” สร้างจิตสำนึกเพื่อนร่วมทางที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน