ขับเคลื่อนไอโอดีนยั่งยืนมุ่งสู่เด็กตักสิลา 4.0

ที่มา :  เดลินิวส์


ขับเคลื่อนไอโอดีนยั่งยืนมุ่งสู่เด็กตักสิลา 4.0 thaihealth


แฟ้มภาพ


โรคขาดสารไอโอดีน หมายถึง ภาวะร่างกายได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายเป็นประจำ ซึ่งมีผลต่อการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนทำให้เกิดการเสียสมดุลในการควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่เรียกว่า ความผิดปกติของการขาดสารไอโอดีน


โรคขาดสารไอโอดีนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชากรทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุและเด็กปฐมวัย เนื่องจากไอโอดีนเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ที่จำเป็นต่อการสร้างเซลล์สมองและการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 3 ปี หากขาดสารไอโอดีนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา อาจทำให้ปัญญาอ่อน ประสาทพิการแต่กำเนิด การขาดไอโอดีนตั้งแต่วัยเด็กทำให้พัฒนาการของสมองเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ดังนั้น สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม จับมือร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในจังหวัดมหาสารคาม ประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนการดำเนินงานจังหวัดไอโอดีนยั่งยืนมุ่งสู่เด็กตักสิลา 4.0 (Smart Kids Taksila 4.0) ตั้งเป้ามุ่งให้หญิงตั้งครรภ์มหาสารคาม ได้รับไอโอดีนเหมาะสม เพื่อทารกมีพัฒนาการของสมองที่สมบูรณ์ และระบบประสาทที่แข็งแรง มีเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวสูง


นายเสน่ห์ นนทะโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า ดังนั้นเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานจังหวัดไอโอดีนยั่งยืน มุ่งสู่เด็กตักสิลา 4.0 จึงมีมติให้เป็นวาระจังหวัด และแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ การพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดมหาสารคาม ตอบสนองตามแผนพัฒนาจังหวัดมหาสารคาม พ.ศ. 2561-2564 โดยมีเป้าประสงค์ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตเกลือเสริมไอโอดีนในจังหวัดมหาสารคามให้เป็นที่ยอมรับ มีการกระจายเกลือเสริมไอโอดีนอย่างครอบคลุมให้ทุกครัวเรือน มีและบริโภคอย่างเพียงพอ เพื่อให้เด็กมหาสารคาม เก่ง ดี มีสุข ได้รับการบริโภคอาหารที่จำเป็นและเพียงพอ ได้แก่ ไข่ นม ผัก ส่วนหญิงวัยเจริญพันธุ์เข้าถึงบริการด้านอนามัย เจริญพันธุ์ และการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน ประชาชนในจังหวัดมหาสารคามได้รับความรู้และข่าวสารที่เพียงพอ เพื่อให้เกิดความตระหนัก และมีความรอบรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนมหาสารคาม


 ด้าน นพ.ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า จากการสำรวจระดับสติปัญญาของเด็กประถม ศึกษาปีที่ 1 โดยกรมสุขภาพจิตปี 2559 พบว่า ไอคิวเด็กจังหวัดมหาสารคาม มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และจัดเป็นลำดับที่ 60 ของ ประเทศ โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากภาวะขาดสารไอโอดีน และภาวะทุพโภชนาการ อันส่งผลทำให้พัฒนาการเด็กไม่สมวัย และมีรูปร่างไม่สมส่วน สำหรับจังหวัดมหาสารคาม เป็นจังหวัดนำร่องที่มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานจังหวัดไอโอดีนยั่งยืนของประเทศ (มหาสารคาม, อุดรธานี) มาตั้งแต่ปี  2559 ซึ่งผลการดำเนินงานมีความครอบคลุมการกระจายเกลือไอโอดีน มีกองทุนเกลือทุกหมู่บ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันเป็นอย่างดี และในปี 2561 ทุกภาคส่วนได้มีการดำเนินงานจังหวัดไอโอดีนยั่งยืน ต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสติปัญญาเด็ก สร้างคนมหาสารคามให้เป็นคนที่มีคุณภาพ


นอกจากนี้ยังได้มีการยกระดับความร่วมมือด้านวิชาการของกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ในเขตสุขภาพที่ 7  โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ เด็กเก่ง ดี มีสุข พัฒนาสติปัญญาเด็กทั้งด้านการส่งเสริมเด็กไทยได้รับไอโอดีนที่เหมาะสม เตรียมจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ ว่าด้วย เรื่อง ภาคีร่วมใจ เด็กไทยสุขภาพดี : All for Healthy & Smart Kids ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม 2561 โดยมุ่งเน้นส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน และควบคุมโรค แผนงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกกลุ่มวัย โดยช่วงวัยเด็กจะเป็นช่วงวัยที่ส่งผลถึงศักยภาพทุนมนุษย์ ในช่วงวัยถัดไป ซึ่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนถึงปฐมวัยอีกด้วย.

Shares:
QR Code :
QR Code