ขับเคลื่อนไทย สู่การเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


ขับเคลื่อนไทย สู่การเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพ thaihealth


แฟ้มภาพ


รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาวงการแพทย์ของไทยให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาด้านสุขภาพ โดยต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในด้านสุขภาพด้วยการเติมเต็มขั้นพื้นฐานของสุขภาพ ดูแลยกระดับมาตรฐานการดูแลด้านสุขภาพต่างๆ และดูแลสุขภาพในเชิงของการท่องเที่ยว ต่อยอดในการสร้างอาชีพ


ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ในปี 2547 มีการจัดทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพ โดยกำหนดแนวทางการพัฒนา การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ออกเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย


1. เป็นศูนย์กลางบริการด้านเวลเนส (Wellness Hub) ที่เป็นการบริการอย่างครบวงจร โดยมีร้านสปา ร้านนวด ราว 10,500 แห่ง ที่ขึ้นทะเบียนกับ สบส. และที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนอีกจำนวนมาก ผู้ให้บริการที่เป็นพนักงานนวดราว 2 แสนคน


2. เป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) ซึ่งถือเป็น จุดแข็งของประเทศไทยและเป็น จุดหนึ่งที่หลายประเทศเข้ามาใช้บริการ ซึ่งปัจจุบัน มีโรงพยาบาลเอกชน ราว 400 แห่ง คลินิกเอกชนราว 30,000 แห่ง 3. เป็นศูนย์กลางการศึกษาวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) ที่เกี่ยวกับสุขภาพ และ 4) เป็นศูนย์กลาง ยาและผลิตภัณฑ์คุณภาพ (Product Hub) ปีที่ผ่านมาสร้างเม็ดเงินราว 5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการขายในประเทศ


"ในปี 2556 ไทยมีผู้ใช้บริการชาวต่างชาติ เข้ามาใช้บริการด้าน Medical Service Hub มากที่สุดในโลก ประมาณ 1.2 ล้านครั้ง ส่วนในปี 2561 ขยับมาเป็น 3.42 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น กว่า 3 เท่า ด้าน Wellness เมื่อปี 2559 มีผู้ใช้บริการราว 20.5 ล้านครั้ง พอปี 2560 คาดว่าจะขึ้นเป็น 30 ล้านครั้ง จากสถานประกอบการ 10,500 แห่ง


"ดังนั้น กลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คือ "คน" ที่สามารถสร้างข้อได้เปรียบทางด้านการแข่งขัน จุดเด่นของประเทศไทย คือ การบริการ ทำให้ได้เปรียบ ขณะที่การขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์ ต้องอาศัยการบูรณาการทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน เป็นสิ่งที่สำคัญ รวมถึงภาควิชาการ ที่ร่วมขับเคลื่อน เพื่อให้เราเป็นผู้นำด้านคุณภาพอย่างแท้จริง" รองอธิบดี สบส. กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code