ขับเคลื่อนแผนพัฒนาเด็ก-เยาวชน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
พม.เป็นผู้นำเสนอ เพื่อให้ 20 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนให้สอดคล้องกับร่างแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เกี่ยวกับการร่างแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ปี 2560-2564 ที่ทาง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้นำเสนอ เพื่อให้ 20 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนให้สอดคล้องกับร่างแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ รวมถึงการจัดตั้งงบประมาณในการจัดการ โดย พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมเด็กและเยาวชนแห่งชาติ มาตรา 11(1) กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เสนอนโยบายและแผนต่อ ครม. โดยเมื่อปี 2554 ครม.ได้อนุมัติแผนและใช้มาแล้ว 5 ปี ขณะนี้ได้จัดทำแผนต่อเนื่องจากฉบับเดิม คือแผนปี 2560-2564 โดยนำเรื่องที่ประสบความสำเร็จในแผนก่อนหน้าเข้ามาดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่อง และพัฒนาจุดอ่อนที่เกิดขึ้น เช่น สุขภาพของเด็กปฐมวัย อัตราการคลอดบุตรของแม่วัยใสที่ลดลง
สำหรับแผนฉบับนี้ได้กำหนดยุทธศาสตร์ กำหนดสิ่งที่จะต้องต่อยอดให้ประสบความสำเร็จไว้ 5 ข้อประกอบด้วย 1.พัฒนาศักยภาพและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก คือเด็กและเยาวชนทุกกลุ่มจะต้องได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับช่วงวัย 2.การสร้างความเข้มแข็งของกลไกสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สถานบันเทิงที่ไม่ควรอยู่ตามรอบ ๆ สถานศึกษาของเด็ก เป็นต้น
3.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน คือการเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในกระบวนการคิด ในกระบวนการทำกิจกรรมทั้งหลาย 4.ส่งเสริมบทบาท ระดมความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเปิดโอกาสให้ชุมชน องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนได้มีการพัฒนาการที่ดีขึ้นไป 5.การพัฒนานวัตกรรม บริหารการจัดการในการพัฒนาเด็กและเยาวชน คือบุคคลากรที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการในการพัฒนาเด็กจะต้องได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ ให้มีหลักการ ให้มีแนวคิดที่ตรงกันจะได้ทำงานให้สอดคล้องกัน
"นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในที่ประชุมว่า ร่างแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ต่อให้เขียนออกมาดีแค่ไหน ถ้าทุกกระทรวง ไม่นำมาตัวนี้มาออกมาใช้นำมาเป็นตัวตั้ง ไม่ออกมาเป็นแผนงาน ก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ"