ขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย

ซีรีส์ยาวจากปี 2552 สู่ปี 2553

 

          แผล็บ..แผล็บ..ทั้งๆ ที่ไม่เคยเผลอลืมวันลืมคืน แต่วันนี้..ก็ปาเข้าไปครึ่งทางของเดือนมกราคมปี 2553 แล้วนะครับ

 

          เวลาเหมือนว่าไม่รอใคร เพราะมันมีหน้าที่เดินไปแบบไม่มีวันหยุด แม้จะร้อนจะหนาว ฝนตก แดดออก เกิดเอลนินโญ่ ลานินญ่าหรืออากาศแปรปรวนขนาดไหนเพียงใดก็ตาม

 

ขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย

          เมื่อตระหนักแล้วว่า เวลาไม่รอเรา แล้วเราจะรอเวลาหรือเสียเวลาไปเปล่าๆ ปลี้ๆ กันทำไม ?!?

 

          จำได้ว่า เริ่มต้นเปิดศักราชรับปีขาล ผมเชื้อเชิญเกมชักชวนแถมด้วยการให้กำลังใจขอให้ทุกคนสืบต่อภารกิจขับเคลื่อนทำประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ด้วยกระบวนการแบบอัตตาหิ อัตตาโน นาโถ..ตนนั้นแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

 

          สำรวจตัวเอง แล้วทบทวนว่า ปีที่ผ่านมา เราได้ทำอะไรกันบ้าง และปีนี้เราตั้งใจจะทำอย่างไรให้ฝันเป็นจริง เริ่มจากตัวเอง ครอบครัว ชุมชน ที่ทำงาน องค์กร สถาบัน แล้วก็ขยับขยายไปในระดับที่เป็นวงกว้างๆ ตามอรรถภาพและความสามารถของแต่ละคน

 

          เรียนตามตรงว่า ผมคงไม่มีปัญญาจะไปสำรวจหรอกครับว่าข้อเสนอแนะของผมได้รับการสนองตอบจากใครหรือไม่ เพราะอะไรและอย่างไร เพราะเราไม่ได้มีสำนักโพลอะไรกับใครเขา แต่โชคดีเหลือเกินที่ผมไปพบและได้อ่านบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจสอดคล้องกับสิ่งที่ผมอยากจะเห็นและอยากให้สังคมไทยเดินไปให้ถึงตามเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปประเทศไทยให้ดีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่และเสมือนอยู่บนปากเหวแห่งความหายนะของวัฒนธรรมพี่น้องผองไทย

 

          บทสัมภาษณ์ดังกล่าว เป็นเรื่องราวประเด็นการก้าวสู่ปีที่ 2 กับภารกิจขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย ของ “นพ.สุภกร บัวสาย” ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. หนึ่งในเครือข่ายสถาบันทางปัญญา

 

          คุณหมอสุภกร ระบุว่า แนวคิดการปฏิรูปประเทศให้เป็นสังคมประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก เกิดจากการเห็นร่วมของทุกฝ่ายว่าบ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤตที่คนไทยไม่อาจนิ่งเฉย จึงมีการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มาจากสถาบันการศึกษา นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้ที่ปฏิบัติงานในท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญ หัวหน้าเครือข่าย ผู้แทนเครือข่ายต่างๆ ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งวัตถุประสงค์ที่วางไว้ในปีแรก คือ เรื่องการปฏิรูปประเทศไทยมีคนให้ความสนใจและเข้ามาร่วมเสวนาร่วมคุยกันถือได้ว่าประสบความสำเร็จในขั้นหนึ่ง ทุกครั้งที่ประชุมจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญระดับชาติ

 

          โจทย์ใหญ่และความสำคัญของการปฏิรูปประเทศไทยใช้รูปเจดีย์ของหมอประเวศ วะสี เป็นภาพร่าง โดยให้ความสำคัญ 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่ ตัวฐานของพระเจดีย์ คือ องค์กร ชุมชนต่างๆ ประชาชน องค์พระเจดีย์ คือ การเชื่อมโยงระบบต่างๆ และยอดเจดีย์ คือ จิตสำนึกของประชาชนแต่ละคน

 

          การดำเนินการขั้นตอนแรกคือต้องทำความรู้ให้มีความชัดเจนก่อน และสร้างการมีส่วนร่วมของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ความรู้ความเข้าใจของคนที่สนใจจะนำไปสู่การผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงการตัดสินในระดับรัฐบาลหรือรัฐสภาต่อไป แต่ตรงนั้นยังไปไม่ถึงส่วนนี้เรียกว่าองค์พระเจดีย์

 

          คุณหมอสุภกร ที่เป็นเสมือน “คีย์แมน” คนสำคัญของงานการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทยให้น่าอยู่ ชี้ว่าปี 2553 นี้จะเป็นส่วนการปฏิรูปที่ “ฐานพระเจดีย์” เพราะประชาชนที่อยู่ตามท้องถิ่นชุมชนต่างๆ เป็นหัวใจของการปฏิรูป เหนืออื่นใด ถ้าเราปฏิรูปเฉพาะตัวระบบตัววิชาการมาผลักดัน ชวนนักการเมืองมาทำใช้อำนาจรัฐมาผลักดันก็ไม่ยั่งยืน การเข้าไปร่วมงานให้เกิดประเด็นปฏิรูปในพื้นที่ เช่น อาจจะไปชวนตั้งคำถามว่าจะทำให้จังหวัดของแต่ละคนน่าอยู่ที่สุดจะทำอย่างไร คำถามอย่างนี้ถ้าทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันตอบ มีวิสัยทัศน์เพื่อจะให้จังหวัดของเขาเป็นอย่างไรก็จะเกิดการเรียนรู้มีทิศทางร่วมกัน เมื่อเอาทุกจังหวัดรวมกันทั้ง 76 จังหวัดก็คือประเทศไทย นี่คือโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยน่าอยู่ที่สุด

 

          อีกระดับหนึ่งคือ ยอดเจดีย์ ซึ่งก็คือจิตสำนึกของประชาชนคุณหมอเล่าว่า จากที่ได้เสวนาร่วมลงมือทำถ้าไม่ซึมลึกลงไปในจิตสำนึกก็ไม่เกิดสัมมาทิฐิ คือ อยากให้คนอื่นมาทำให้แต่ตัวเองไม่รู้ว่าจะปฏิรูปอย่างไรต้องเปลี่ยนแปลงความคิดอย่างไร ถ้าทำให้คนไทยส่วนใหญ่ได้กลับมาถามตัวเองว่า ถ้าจะทำให้ประเทศไทยน่าอยู่ที่สุดตัวเองจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะทำให้การปฏิรูปครบทั้ง 3 ระบบ ทั้งระดับฐาน องค์พระเจดีย์ และยอดเจดีย์

 

          แปลไทยเป็นไทย ย่อมหมายความว่า การปฏิรูปประเทศไทยให้ยั่งยืนได้นั้น คนในสังคมไทยต้องเข้าใจ และตระหนักถึงหัวใจของปัญหา รู้เหตุแห่งปัญหา จึงจะสามารถหาทางแก้ปัญหา เพื่อสัมฤทธิ์ผลที่สอดคล้องต่อความต้องการนั่นเอง

 

          ครับ…ผมเห็นด้วย เพราะจำได้ว่าเรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมานับสิบฉบับ แต่วันนี้ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถเดินสู่จุดหมายของการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว คงเนื่องมาจากคนบนหอคอยงาช้าง หรือส่วนกลางเขียนแผนลงไปให้คนในชุมชน หรือชนบทเดินตาม โดยไม่เคยไถ่ถามถึงความต้องการของพวกเขา

 

          ภารกิจขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยในปี 2553 อาจจะเหมือน แตกต่าง หรือเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่เริ่มรับรู้ และเข้าใจถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงแล้ว สิ่งสำคัญก็ยังคงอยู่ที่ความต่อเนื่อง ซึงคุณหมอสุภกรก็ชี้ไว้ชัดเจนว่า ถามว่าจะใช้เวลาเท่าไรในการขับเคลื่อนการปฏิรูปคงตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้นึกถึงมิติของเวลา แต่ต้องทำไปเรื่อยๆ เหมือนอย่างที่หมอประเวศ ได้ยกตัวอย่างเล็กๆ ให้เห็นว่า อย่างการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ มีคนทำงานไม่กี่คน และแต่ละคนไม่ได้ใหญ่โต ไม่ได้มีอำนาจ แต่ได้ทำงานอย่างทุ่มเทกับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องและเห็นความก้าวหน้ามาโดยตลอด เชื่อว่ากระบวนการวิธีทำงานแบบนี้ก็น่าจะใช้ได้กับการปฏิรูปประเทศไทย ถ้ามีการทำงานแบบนี้อีกประมาณ 20-30 กลุ่มน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่น้อย

 

          ฉะนั้น ต่อให้การปฏิรูปประเทศไทยจะต้องเป็นซีรีส์ยาวแบบหนังเกาหลี ข้ามภาพข้ามชาติ ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นความล้มเหลว แต่มันเป็นการพบหนทางใหม่ๆ เพื่อการพัฒนา และยังเป็นการให้เวลาแก่การขยายเครือข่าย สร้างองค์ความรู้จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 และเป็นร้อยเป็นพัน และล้านในที่สุด … จริงไหมครับ

 

          อย่าท้อแท้..หากอยากเห็นประเทศไทยน่าอยู่ที่สุดในโลก..สู้โว้ย!

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

Update 08-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code