ขับร้อง ‘ความหวัง’ คอนเสิร์ตบรรเลงสุข
“ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิต เป็นเสรีภาพของมนุษย์ เป็นเพื่อนที่ช่วยขจัดความทุกข์และความเจ็บปวดระหว่างวันได้ ไม่มีอุปกรณ์ใดรักษาเราได้ดีเท่าดนตรี” รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานเปิดคอนเสิร์ตคุณธรรมนำปัญญา ครั้งที่ 6 จัดขึ้นที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านมุทิตา ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นคร ปฐม
งานนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการที่มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ใช้ดนตรีเป็นสื่อนำทาง นำครูและนักเรียนดนตรีเข้าไปให้ความรู้ ฝึกอบรมและทำกิจกรรมร่วมกับเยาวชนในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหลายแห่งที่อยู่ในความดูแลของกรมพินิจและคุ้ม ครองเด็กและเยาวชน ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 ด้วยหวังว่า อานุภาพแห่งดนตรีจะมีส่วนช่วยให้เยาวชนที่เคยกระทำความผิดและต้องอาศัยอยู่ในศูนย์ต่างๆ มีโอกาสพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ทักษะทางอารมณ์และผ่อนคลายความตึงเครียดจากข้อจำกัดในชีวิตที่กำลังเผชิญอยู่ได้
‘วงเพอร์คัสชั่น’ เป็นการรวมตัวของเด็กจากศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนบ้านสิรินธร ใช้อุปกรณ์จากวัสดุเหลือใช้ทั้งกลอง ถัง กะละมัง เก้าอี้ ถาด มาเป็นเครื่องตีกระทบ สร้างจังหวะประกอบเรื่องราวได้อย่างสนุก สนานและน่าสนใจ จากนั้นเยาวชนจากศูนย์ฝึก รวมถึงบ้านปรานีและศูนย์บ้านมุทิตา มาในเพลง ‘รางวัลแด่คนช่างฝัน’ โชว์พลังขับร้องประสานเสียงร่วมกับการบรรเลงกีตาร์โปร่งของเยาวชนจากศูนย์ฝึกบ้านกาญจนา ศูนย์ฝึกบ้านอุเบกขาและวงขลุ่ยรีคอร์เดอร์จากนักเรียนชั้นประถมศึกษา โรงเรียนวัดสุวรรณาราม
นอกจากนี้ วงร้องประสานเสียงยังร่วมกับวงดนตรีคลาสสิคเยาวชน ‘ด๊อกเตอร์แซ็ก แชมเบอร์ ออเคสตร้า’ อีกหลายเพลง อาทิ live and learn, รัก, เธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ, สักวันหนึ่ง, นักเดินทาง, จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน เพลงพระราชนิพนธ์ ใกล้รุ่ง และเพลง ‘ความหวัง’ เป็นไฮไลต์สำคัญ เพราะเป็นเพลงที่เยาวชนจากศูนย์บ้านสิรินธร ได้ปล่อยของ แสดงความสามารถในการแต่งเนื้อเพลงขึ้นเอง
‘แม้ชีวิตฉันจะเป็นอย่างไร จะร้ายดีหรือไม่ ไม่เสียใจ เพราะที่ผ่านมาทำให้ฉันเข้าใจ รับรู้ความเป็นไปและไม่หวั่นไหว พร้อมจะอดทน พร้อมสู้ต่อไป ไม่กลัวสิ่งใด ฉันนั้นแน่ใจ ฉันจะขอบคุณทุกเรื่องที่ผ่านมา ทำให้ฉันรู้ว่าสิ่งดีสิ่งร้ายคืออะไร ฉันจะเป็นคนที่ดี ไม่ให้ใครต้องเสียใจ ขอให้เธอมั่นใจฉัน’
เนื้อเพลงใช้คำง่ายๆ ทว่าตรงไปตรงมาและสะท้อนความรู้สึกนึกคิด การมีความหวัง ความเข้มแข็ง และกำลังใจของเด็กๆ ที่อยากจะได้รับโอกาสและพื้นที่ยืนในสังคมอีกครั้งหนึ่งได้เป็นอย่างดี น้องนัท จากศูนย์บ้านสิรินธร เคยมีประสบการณ์ร้องหมอลำมาตั้งแต่เด็กๆ เล่าว่าหลังจากร่วมโครงการทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคการร้องที่ถูกต้อง การใช้เสียง จังหวะลมหายใจ ความรู้เรื่องตัวโน้ตและทักษะการแต่งเพลง
“การร้องเพลงช่วยคลายทุกข์ คลายความเหงา ทำให้ใจเราสนุกสนานและไม่พะวักพะวงถึงสิ่งอื่น เชื่อว่าทุกคนหากเปิดใจก็สามารถพบกับความสุขและได้ความคิดดีๆ กลับคืนมา นอกจากนี้ การฝึกร้องเพลงยังได้ใช้เวลาร่วมกันกับเพื่อน เสริมสร้างความสามัคคี และที่สำคัญที่สุด คือ ได้ออกมาแสดงในที่สาธารณะได้พบปะผู้คนใหม่ๆ ได้ออกมาเปิดโลกกว้างทำให้คนที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมอย่างเรามีกำลังใจขึ้นมา”
ด้าน น้องแนน สมาชิกในคณะนักร้องประสานเสียง ตัวแทนจากศูนย์บ้านปรานี บอกว่าทำกิจกรรมกับโครงการนี้หลายครั้ง กระทั่งค้นพบความถนัดและรู้ตัวว่าตัวเองชอบการร้อง ดนตรีและเสียงเพลงช่วยให้มีความสุข กล่อมเกลาจิตใจและปลดปล่อยความทุกข์ที่มีไปกับเสียงเพลง
รศ.ดร.สุกรีกล่าวย้ำว่าดนตรีช่วยปรุงแต่งจิตใจได้มากกว่าขอบเขตที่กักกัน และมนุษย์นั้นถึงแม้ว่าจะทำผิดไปแล้วแต่เชื่อว่ายังคงมีเสรีภาพหากมีเพื่อน มีศิลปะและมีดนตรีในชีวิต แต่ปัญหาของสังคมเราคือเด็กที่ด้อยกว่าไม่มีใครช่วยเหลือ ส่วนจะช่วยอย่างไรนั้น การศึกษาและการสร้างโอกาสเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้องสร้างพลังข้างในให้เขาอยู่ได้ด้วยตัวของเขาเอง
ความคาดหวังของเราคือทำให้เด็กมีความสุขส่วนตัว และดนตรีสร้างสิ่งเหล่านั้นได้ ทั้งยังให้ความสุขส่งต่อไปยังคนอื่นๆ ด้วย เด็กที่อยู่ในสถานพินิจ ลึกๆ แล้วมีเขาความทุกข์นะ การร้องออกมาเป็นการขจัดความทุกข์ออกมาทางเสียง เมื่อขจัดออกมาแล้วถูกแทนที่ด้วยความสุข ซึ่งเราจะเห็นได้เลยจากประกายตาและรอยยิ้มของเขา”
นายฐานิส ศรียะพันธ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า โครงการของมูลนิธิอาจารย์สุกรี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมพินิจฯ ในการจัดโปรแกรมบำบัด และแก้ไขพฤติกรรมเยาวชน ซึ่งมีหลายด้านทั้งกีฬาบำบัด ศิลปะบำบัดและดนตรีบำบัด ซึ่งหน่วยงานของกรมพินิจฯ กำลังพัฒนาต่อยอด โดยหวังว่าจะเป็น การเยียวยาจิตวิญญาณ รักษาภาวะความสมดุลร่างกายและจิตใจให้กับเด็กและเยาวชน และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อเด็กสนใจนำความรู้เหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ในอนาคตต่อไป
แม้การแสดงในบางช่วงบางตอนมีสะดุด ผิดคิว ไม่สมบูรณ์แบบนัก แต่กลับเต็มไปด้วยพลังและจบลงด้วยความอบอุ่น และพิสูจน์คำกล่าวที่ว่า “ดนตรีปรุงแต่งจิตใจได้มากกว่าขอบเขตที่กักกัน” นั้นไม่เกินจริงเลย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด โดยปรวรรณ วงษ์รวยดี
ขอบคุณภาพจาก : กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน