ขอนแก่น Zero Waste เมืองต้นแบบจัดการขยะ เพื่อสิ่งแวดล้อม
เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก งาน ลงพื้นที่การบริหารจัดการมลพิษทางสิ่งแวดล้อม (มลพิษทางอากาศ มลพิษจากขยะมูลฝอย) ณ จ.ขอนแก่น
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
รู้หรือไม่! สถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศไทยปี 2564 มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นกว่า 24.98 ล้านตัน ในจำนวนนี้ 6.23 ล้านตัน หรือ 25% ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในวงกว้าง หากรู้แบบนี้แล้ว ถึงเวลาที่เราทุกคนต้องหันมาให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กลับคืนมา ขับเคลื่อนไทยสู่สังคม Zero Waste
การจัดการขยะมูลฝอยเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ สสส. ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย ด้วยการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง ส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะ ลดมลพิษเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ริเริ่มโครงการสานพลังเครือข่ายขับเคลื่อนการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทางอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2562 โดยมีจังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองต้นแบบการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ได้รับการยกระดับให้เป็นเมืองท่องเที่ยวสะอาด ตามข้อกำหนดของอาเซียน 7 ด้าน โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ติดโผลเมืองน่าอยู่อันดับต้น ๆ ของอาเซียน
แล้วทำไมต้องเป็น “ขอนแก่น” ก็เพราะว่าจังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองที่มีปริมาณขยะตกค้างอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอันดับ 8 ของประเทศ การเจริญเติบโตของเมืองได้ส่งผลต่อสถานการณ์การเกิดขยะในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทศบาลนครขอนแก่นจึงได้ร่วมกับ ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน พัฒนาศักยภาพในการจัดการขยะมูลฝอยด้วยการบูรณาการร่วมกัน มีพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนมีการจัดการขยะมูลฝอยอย่างเป็นระบบ เป็นต้นแบบที่ดีของการแก้ปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่เขตเมือง
นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลจากการลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นในครั้งนี้ว่า “สสส. ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ได้ริเริ่มโครงการสานพลังเครือข่ายขับเคลื่อนการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทางอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้เกิดการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทาง เกิดพลังขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการจัดการขยะเพื่อสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ ซึ่งชุมชนมีต้นทุนในการบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมสุขภาวะเชิงพื้นที่ด้วยตนเอง การลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นของ สสส. ในครั้งนี้ จะนำตัวอย่างบทเรียนการจัดการขยะระดับชุมชนไปขยายผลในพื้นที่เขตเมือง ร่วมกับกรุงเทพมหานครต่อไป”
ไปเยือนเมืองขอนแก่นครั้งนี้ พาทุกคนไปกันที่ชุมชนโนนชัย 1 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ชุมชนต้นแบบด้านการจัดการขยะ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ และประสบความสำเร็จในการจัดการขยะที่เข้มเข็ง
นางพรรณา อรรคฮาต ประธานชุมชนโนนชัย 1 เล่าถึงการจัดการขยะในพื้นที่ให้ฟังว่า ชุมชนโนนชัย 1 ร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะขึ้นในชุมชน หลังจากชุมชนได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2563-2565 ผลลัพธ์ที่ได้ คือชุมชนสามารถลดปริมาณขยะได้ 5 เท่า หรือคิดเป็นร้อยละ 74 ลดค่าใช้จ่ายการเก็บขน กำจัดขยะให้เทศบาล 394,309.5 บาท/ปี ช่วยลดปริมาณคาร์บอนได้ 624,412 Kg Co2/ปี และตั้งเป้าที่จะเป็นชุมชนปลอดถังขยะ (Zero Waste) ต่อไป
“เรารณรงค์ให้คนในชุมชนมีหัวใจไร้มลพิษ ให้ทุกบ้านคัดแยกขยะตามประเภท และให้ความรู้กับคนในชุมชนถึงข้อดีของการคัดแยกขยะ โดยยึดหลักการคัดแยกแบบ 3R คือ Reuse Recycle และ Reduce ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกคนในชุมชน เรามีการจัดการขยะอย่างเป็นระบบผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ชุมชนสามารถลดประมาณขยะที่เกิดขึ้นได้ถึง 5 เท่า” นางพรรณา กล่าว
คัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อสิ่งแวดล้อม ด้วยหลัก 3 R
R ที่ 1 Reuse การใช้ซ้ำ ผ่านโครงการของเก่าเอามาเล่าใหม่ เปลี่ยนขยะรีไซเคิลให้เป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ต่าง ๆ
R ที่ 2 Recycle นำกลับมาใช้ใหม่ ผ่านโครงการกองทุนฌาปนกิจเปลี่ยนขยะเป็นบุญ โครงการหอพักคัดแยกขยะ โครงการปลูกอยู่ ปลูกกิน สวนผักชุมชน
R ที่ 3 Reduce ลดการใช้ ผ่านโครงการครอบครัวลดโลกร้อน (Low Carbon Family) โครงการงานวัด งานบุญปลอดขยะ โครงการร้านอาหารงดใช้โฟมและพลาสติกบรรจุอาหาร และตู้รับริจาคบุญทวีไซเคิล
แนวทางการจัดการขยะของชุมชนโนนชัย 1 จ.ขอนแก่น
- ขยะอินทรีย์ เกิดขึ้น 675 กก./วัน หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ สามารถกำจัดได้ 578 กก./วัน โดยการรณรงค์ให้ครัวเรือนคัดแยกขยะอินทรีย์และไปทำเป็นน้ำหมักชีวภาพใช้เอง นำไปเลี้ยงสัตว์ และทำบ่อหมักขยะอินทรีย์เพื่อนำไปใช้ปลูกผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือนและส่งเสริมให้งานบุญประเพณี งานเทศกาลต่าง ๆ เป็นงานบุญปลอดขยะ ปรับปรุงภูมิทัศน์ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน
- ขยะรีไซเคิล เกิดขึ้น 153 กก./วัน กำจัดได้ 109 กก./วัน โดยการรณรงค์ให้ครัวเรือนคัดแยกขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งมีครัวเรือนที่เข้าร่วมกว่า 194 ครัวเรือน หอพัก 11 แห่ง จัดตั้งกลุ่มกองทุนฌาปนกิจขยะเป็นบุญ รับซื้อขยะจากสมาชิกเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ผลิตกระถางและกระเป๋า เพื่อสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตแก่คนพิการในชุมชน
- ขยะทั่วไป เกิดขึ้น 320 กก./วัน หลังจากเข้าร่วมโครงการและชุมชนทำการคัดแยะขยะ ทำให้สามารถกำจัดได้ 147 กก./วัน แกนนำชุมชนจะแจกถุงดำให้ครัวเรือนใส่ขยะทั่วไป กำหนดเวลาทิ้ง-เวลาเก็บที่แน่นอน ตั้งเป้าเป็นชุมชนปลอดถังขยะ
- ขยะพิษ/ขยะอันตราย ตั้งถังขยะรวบรวมขยะพิษ/ขยะอันตรายในพื้นที่กลางชุมชน ส่งผลให้เป็นชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) นำไปสู่การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
การคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ไม่ใช่เรื่องยาก ทุกคนสามารถทำได้ เพียงแค่เราให้ความสำคัญและใส่ใจ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ คัดแยกก่อนทิ้ง เพื่อร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี
เมืองปลอดขยะสร้างได้ สสส. และภาคีเครือข่ายรณรงค์ให้ทุกคนลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะก่อนทิ้ง สร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอยอย่างเป็นระบบ เชิญชวนทุกคนมาร่วมเป็นพลังเล็ก ๆ ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมปลอดขยะ เพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะที่ดี