ของเล่นเด็กอันตราย
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
ของเล่นชิ้นเล็กเป็นอันตรายต่อเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ขวบ เด็กอายุ 4 เดือน จะเริ่มเอามือทั้ง 2 ข้างมาจับกุมกันตรงกลางแล้วเอาเข้าปากดูดอม ต่อมาจะไขว่คว้าเอาของเข้าปากได้ เด็กทารกจะเรียนรู้สิ่งแวดล้อมโดยการใช้ปากเป็นหลัก ของเล่นที่มีความกว้างน้อยกว่า 3.71 เซนติเมตร จึงไม่ควรให้เด็กเล่นหรือหยิบได้ถึง เพราะหากเด็กเอาเข้าปากแล้วสำลัก จะทำให้ติดคอจะอุดตันทางเดินหายใจได้
กุ๊งกริ๊งเป็นของเล่นเขย่าเสียงดัง (Rattle) เป็นของเล่นคู่กับเด็กมานาน เมื่อเด็กอายุได้ 4 เดือนจะสามารถใช้มือกำแล้วเขย่าไปมา จะเกิดเสียงกุ๊งๆ กริ๊งๆ กุ๊งกริ๊งมีหลายแบบทั้งแบบวงกลม วงแหวน มีด้ามถือ หรือเป็นเส้นสายยาวที่ใช้ผูกเปลนอนสำหรับเด็กเล็กเพื่อให้คุณหนูใช้มือตบไปมาแล้วจะเกิดเสียงกุ๊งๆ กริ๊งๆ ในมุมตรงข้ามนอกจากคุณประโยชน์ที่ได้ในการฝึกพัฒนาการเด็กแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หลาย ประการซึ่งพ่อแม่พึงรู้ไว้คือ
- การอุดตันทางเดินหายใจ กุ๊งกริ๊งที่ถูกออกแบบมาไม่ถูกต้องมีชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็ก หรือ ถูกผลิตโดยที่มีความแข็งแกร่งไม่เพียงพอ เกิดการแตกหักง่ายกลายเป็นวัสดุชิ้นเล็กๆ ได้ ซึ่งเมื่อเด็กนำเข้าปากจะเกิดการสำลักและอุดตันหลอดลมได้โดยง่าย
- วัสดุที่มีขนาดเล็กกว่า 3.71 เซนติเมตร (1.25 นิ้ว) และมีความยาวสั้นกว่า 5.17 เซนติเมตร (2.25 นิ้ว) เมื่อเด็กนำเข้าปากและสำลักสามารถก่อให้เกิดทางเดินหายใจ อุดตันได้
- การอุดตันทางเดินหายใจจะทำให้สมองขาดออกซิเจนอย่างกะทันหัน ซึ่งมีเวลาเพียง 4-5 นาที ที่สมองจะคงทนอยู่ได้ ถ้านานกว่านี้จะเกิดภาวะสมอง ตายซึ่งไม่สามารถรักษาให้กลับคืนสู่ปกติได้
กุ๊งกริ๊งที่เป็นด้ามยาวเพื่อให้เด็กกำถือเขย่า ถ้าปลายด้ามมีขนาดเล็กในขนาดที่เด็กเอาเข้าปากได้ จะสามารถแทงรบกวนคอเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในท่านอนราบที่เอาด้ามกุ๊งกริ๊งเข้าปากจะทำให้อาเจียน สำรอกเอาอาหารที่กินเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหารออกมาและก่อให้เกิดการสำลักเข้าหลอดลมอุดตันทางเดินหายใจได้
อันตรายจากสีที่ใช้ในการผลิตกุ๊งกริ๊ง
กุ๊งกริ๊งที่ผลิตจากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับการควบคุม โดยมาตรฐานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็น การผลิตแบบท้องถิ่น และถูกวางขายในตลาดหรือร้านค้าเล็กๆ ทั่วๆ ไป อาจถูกผลิตโดยวัสดุที่มีสารพิษ ใช้สีที่มีสารตะกั่ว สังเกตได้ง่ายว่ากุ๊งกริ๊งแบบนี้จะมีราคาค่อนข้างถูก สีสดใสมาก ลักษณะของสีหลุดลอก ง่าย เอาเล็บขูดดูจะพบว่ามีสีติดเล็บออกมา หรือมีสีลอกเป็นแผ่นๆ พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงกุ๊งกริ๊งแบบนี้ให้ลูก
การเลือกกุ๊งกริ๊งที่ปลอดภัย
- เลือกกุ๊งกริ๊งที่ไม่มีชิ้นส่วนขนาดเล็กกว่า 3.71 เซนติเมตร และสั้นกว่า 5.17 เซนติเมตรที่สามารถหลุดออกจากโครงสร้างหลักได้
- หากกุ๊งกริ๊งไม่มีชิ้นส่วนเล็กๆ ต้องดูด้วยว่ากุ๊งกริ๊งนั้นมีความแข็งแกร่งคงทน ไม่แตกเปราะง่ายหรือไม่ เพราะหากแตกเปราะได้ง่ายก็จะกลายเป็นชิ้นส่วนเล็กที่สามารถอุดตันทางเดินหายใจได้อยู่ดี
- ไม่มีด้ามยาว หรือถ้ามีด้ามยาวปลายด้ามต้องใหญ่พอที่เด็กจะไม่สามารถเอาเข้าปากได้ วิธีทดสอบ อีกวิธีหนึ่งคือปลายด้ามทั้งสองข้างต้องไม่สามารถลอดช่องซึ่งมีขนาด 3.5-5 เซนติเมตรได้
- ไม่ผลิตโดยวัสดุมีพิษ ไม่มีสีที่หลุดลอกง่าย และที่สำคัญคือต้องผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานการผลิตโดยกระทรวงอุตสาหกรรม