ขยายโอกาส ‘สูงอายุ’ ใส่ฟันเทียมทั่วไทย

 /data/content/24909/cms/e_acglmqrtvy48.jpg


         กรมอนามัยเผยผู้สูงอายุไทยเพิ่มขึ้น คาดกว่า 2 แสนรายทั่วประเทศต้องใส่ "ฟันเทียม" ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี คืนรอยยิ้มแก่ผู้สูงวัย


          เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 57 ทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธานงานรณรงค์ฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ โรงแรมสองพันบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ว่า โครงการฟันเทียมพระราชทานและการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากครั้งล่าสุดในปี 2555 พบว่า ผู้สูงอายุมีการสูญเสียฟันทั้งปากลดลงจากร้อยละ 8.2 เหลือร้อยละ 7.2 ความต้องการใส่ฟันเทียมทั้งปากลดลงจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 แต่จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุ เมื่อคิดเป็นจำนวนผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากจึงยังสูงถึง 236,000 ราย ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิโอสถสภาเป็นภาคีเครือข่ายหนึ่งที่ให้การสนับสนุนงบประมาณสำหรับการใส่ฟันเทียมแก่ผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันทั้งปากหรือเกือบทั้งปากจากการจัดบริการปกติของภาครัฐ จังหวัดละ 100 ราย มาโดยตลอด สำหรับจังหวัดสุพรรณบุรีนับเป็นจังหวัดที่ 19 ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณรวม 596,000 บาท


          ทันตแพทย์สุธา กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยได้ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุไทยมีฟันใช้เคี้ยวอาหารเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นภายใต้ 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) การใส่ฟันเทียมแก่ผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันทั้งปากหรือเกือบทั้งปาก 2) การสนับสนุนให้ผู้สูงอายุดูแลอนามัยช่องปากด้วยตนเองในกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก และ 3) พัฒนาการจัดบริการส่งเสริม ป้องกัน รักษาใกล้บ้านในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งจากกิจกรรมดังกล่าวทำให้ผู้สูงอายุที่มี ฟันแท้ใช้เคี้ยวอาหาร 20 ซี่ขึ้นไปตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 58 ในปี 2555 และในปี 2557 กรมอนามัยได้ขยายการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ โดยเริ่มพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพช่องปากในกลุ่มผู้สูงอายุที่พบโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการสูญเสียฟัน และการติดเชื้อไปสู่ระบบอื่น ๆ ของร่างกาย รวมทั้งป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ปอดอุดกั้นจากการสำลัก เป็นต้น โดยดำเนินการตามนโยบาย 3 อ 2 ส และ 1 ฟ เพื่อปรับพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกรมอนามัย โดย 3 อ คือ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ 2 ส คือ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา และ 1 ฟ คือ การดูแลสุขภาพเหงือกและฟัน ทั้งนี้ เบื้องต้นมีพื้นที่ร่วมพัฒนารูปแบบและคุณภาพบริการรวม 28 จังหวัด


          "สำหรับการจัดกิจกรรมจังหวัดสุพรรณบุรีในครั้งนี้ นอกจากจะมีพิธีมอบฟันเทียมพระราชทานแก่ผู้สูงอายุ ทั้ง 100 รายแล้ว ยังมีการมอบโล่รางวัลให้ชมรมผู้สูงอายุที่ชนะการประกวดชมรมผู้สูงอายุดีเด่นด้านงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากระดับจังหวัด ปีงบประมาณ 2557 การแสดงเพลงอีแซวที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากโดย ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ รวมทั้งบรรยายให้ความรู้ด้านสุขภาพช่องปากแก่ประชาชนด้วย" รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว.


 


 


          ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code