ขยายเวลา 24 ชม. ตรวจคัดกรองโควิด-19 ผ่านระบบคลินิกเทเลเมดิซีน

ที่มา : ไทยโพสต์


ตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ผ่านระบบ คลิกนิก เทเลเมดิซีน thaihealth


แฟ้มภาพ


ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ อยู่ในระดับตัวเลข 2 หลัก แต่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์  ก็ยังไม่ประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เมือง พื้นที่ จังหวัดต่างๆ เพราะยังไม่ไว้วางใจในสถานการณ์


โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ออกมาให้เหตุผลว่า อาจจะยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งที่ไม่มีอาการป่วย และคนกลุ่มนี้อาจจะแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ โดยยกกรณีศึกษาของประเทศจีน ที่เฝ้าระวังผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการด้วยเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสะสมแยกเป็นรายจังหวัด ก็จะเห็นได้ว่าเป็นการติดเชื้อในเขตกรุงเทพฯ สูงสุด ตามมาด้วย จ.ภูเก็ต ที่มาเป็นอันดับสอง เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติและสถานบันเทิงจำนวนมาก และอันดับ 3 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมาก คือ จ.นนทบุรี และจังหวัดปริมณฑลอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าเขตเมืองนั้นเปรียบเสมือนรังโรค ที่อาจมีผู้ติดเชื้อแอบแฝง เป็นพื้นที่ไม่น่าไว้วางใจ จำเป็นต้องรักษาระยะห่างทางสังคมและห่างต่อบุคคลอื่นๆ และควรหยุดอยู่บ้าน เพื่อหยุดเชื้อ


ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินนโยบายเชิงรุก เร่งรัดค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่โดยเร็ว (Active Case Finding) โดยเฉพาะ ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อที่ไม่ทราบสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงว่ามาจากไหน โดยเน้นไปที่ชุมชนเมืองในกรุงเทพฯ ซึ่งจะเริ่มในเขตบางเขนและคลองเตย อีกทั้งค้นหาในชุมชน หาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยต่อเนื่องในระยะเวลาอย่างน้อย 28 วัน  ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทำในลักษณะเดียวกับการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในจังหวัดภูเก็ตมาแล้ว


อีกทั้งเมื่อไม่นานนี้ ทางสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมมือกับคลิกนิก เทเลเมดิซีน (clicknic Telemedicine) ซึ่งนำเอาระบบเทเลเมดิซีน หรือบริการทางการแพทย์ทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต และการสื่อสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอคอล, แอปแช้ต, แช้ตบอต ฯลฯ  มาใช้ กับการค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งเทเลเมดิซีนนี้กำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรงแบบก้าวกระโดดในช่วงไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด เพราะมีข้อดีตรงที่ทำให้ทั้งแพทย์และผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงการพบปะกันโดยตรง ลดความเสี่ยง และสร้างความความปลอดภัยของทั้ง 2 ฝ่าย


ผู้อาศัยในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่สงสัยว่าตนเองติดเชื้อโควิดหรือไม่ สามารถเข้ารับการคัดกรองเบื้องต้นจาก "คลิกนิก เทเลเมดิซีน" ได้ ผ่านทางแอปพลิเคชันคลิกนิกฟรี โดยทำ 5 ขั้นตอน เริ่มจากการโหลดแอป clicknic เข้าสู่ขั้นตอนที่ 1.คัดกรองด้วยแบบประเมิน Screening Questionnaire 2.Video call กับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ 3.แยกความเสี่ยง 3 ระดับ (หากความเสี่ยงปานกลางและต่ำแนะนำการปฏิบัติตัว ส่วนความเสี่ยงสูงประสานงานเข้ารับการตรวจวัดทางห้องปฏิบัติการ) 4.หากพบผลบวกผู้ป่วยจะได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที และ 5.การติดตามกรณีกลับมาดูอาการที่บ้านด้วยระบบเทเลเมดิซีน โดยผู้ป่วยจะได้รับการติดตามหรือสามารถปรึกษากับแพทย์ หมอสุขภาพจิต และนักสังคมสงเคราะห์ได้ด้วย


นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับในสถานการณ์การตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบันต้องแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ควรได้เข้ารับการตรวจมากที่สุด 2.กลุ่มที่มีความตื่นตระหนกและวิตกกังวล ที่มีหลายรูปแบบ ทั้งการสัมผัสผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง หรือเดินทางในพื้นที่เสี่ยงจากหน่วยงาน สถานประกอบการ ชุมชน หรือการรับฟังข่าวผิดๆ 3.กลุ่มคนที่ต้องการใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันสถานะ โดยสัดส่วนแล้วกลุ่มที่ 2 และ 3 พบว่าเดินทางเข้ามาขอรับการตรวจคัดกรองมาก ซึ่งผลที่ตามมาคือ การมาในโรงพยาบาลกลายเป็นได้รับความเสี่ยงจะติดเชื้อเพิ่มขึ้น เสียค่าใช้จ่ายที่แพง ดังนั้น การเฝ้าสังเกตอาการที่บ้าน หรือการคัดกรองผ่านทางแอปพลิเคชันก็นับว่าเป็นอีกทางเลือกที่ดี


ผอ.สปคม.กล่าวอีกว่า สปคม.ได้ร่วมพัฒนาเทเลเมดิซีนในส่วนที่เป็นข้อมูลประเด็นคำถามการคัดกรอง อาทิ แหล่งการสัมผัส อาชีพที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือบางเคสที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ก่อนจะเข้าสู่การวิดีโอคอล ปรึกษากับแพทย์ ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยทำให้เกิดการประเมินอาการได้ค่อนข้างแม่นยำถึง 80% อีก 10% คือการเข้ารับการตรวจที่ห้องปฏิบัติการ โดยจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการล้วนเป็นจิตอาสา เพราะมีทั้งแพทย์เกษียณ หรือแพทย์ที่ว่างจากการทำงาน โดยในตอนนี้มีประมาณกว่า 80 คน ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ เพราะจะมีแพทย์จากต่างจังหวัด แพทย์ด้านสุขภาพจิต ที่จะมาร่วมให้บริการอีกประมาณ 700 คน นอกจากนี้ ยังมีนักสังคมสงเคราะห์อีก 300 คน ที่จะมาช่วยในส่วนผู้ที่ได้รับการรักษาแล้วและกลับบ้านได้ เพราะถือว่าเป็นอีกส่วนที่สำคัญในการปรับตัวสู่สังคม ที่อาจจะได้รับผลกระทบในส่วนของจิตใจและสภาพแวดล้อมทางสังคม


"สำหรับการขยายเวลาให้บริการเป็น 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยเอื้อในการทำงานของแพทย์ สำหรับการตรวจและเฝ้าดูอาการ สำหรับผู้ป่วยที่พักฟื้นหรือผู้กักตัว ทั้งในพื้นที่ของโรงพยาบาลหรือโรงแรมพักฟื้น" ผู้อำนวยการ สปคม. กล่าว


ด้านนายนีล นิลวิเชียร ประธานกรรมการบริหาร คลิกนิก เทเลเมดิซีน (clicknic Telemedicine) ให้ข้อมูลว่า คลิกนิก เทเลเมดิซีน เป็นบริการทางการแพทย์ที่มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้บริการด้านสุขภาพแบบครบวงจร ซึ่งความแม่นยำของเทคโนโลยีเทเลเมดิซีนที่เป็นเทรนด์ยอดนิยมในยุโรปและอเมริกา จากการสำรวจในปี 2018 มีการเปรียบเทียบข้อมูลในกลุ่มคนที่เป็นโรคทั่วไป กับการเดินทางไปโรงพยาบาลพบกับแพทย์โดยตรง กับการใช้เทเลเมดิซีน พบว่าผลใกล้เคียงกันถึง 97-99% และผู้ใช้ยังพึงพอใจเพราะสะดวก สบาย ดังนั้น การนำเข้ามาใช้ที่ไทย เราอาจจะไม่ใช่เจ้าแรก แต่ได้เปิดให้ใช้บริการการคัดกรองในผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ร้ายแรง ไปจนถึงการพบแพทย์ (แพทย์ทั่วไปไม่ระบุสังกัดโรงพยาบาล) แบบ real time พร้อมรับฝากซื้อยาให้ โดยเสียค่าบริการเริ่มต้นอยู่ที่ 800 บาท ต่อมาได้มีโอกาสร่วมมือกับทางโรงพยาบาลสมุทรปราการ เข้ามาให้บริการผู้ที่มาพบแพทย์ ซึ่งภายในมีผู้เข้ามาใช้บริการจำนวนมาก และมีความแออัด เพื่อลดจำนวนผู้ใช้บริการ และเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาล


นีลกล่าวอีกว่า ในสถานการณ์โควิด-19 จึงได้ต่อยอดในการร่วมพัฒนาฟังก์ชันช่วยเสริมการตรวจคัดกรองเบื้องต้นกับทางโรงพยาบาลสมุทรปราการ ซึ่งการได้ร่วมมือกับภาครัฐถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แอปมีข้อมูลในการคัดกรอง ตลอดจนถึงการเฝ้าติดตามอาการหลังได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน หลังจากได้เปิดใช้ที่ จ.สมุทรปราการมากว่า 1 เดือน มีผู้ใช้บริการประมาณ 60-70 เคส/วัน และมีเพียง 6-7 เคสเท่านั้น ต้องเดินทางมาตรวจเพิ่มที่โรงพยาบาล ซึ่งถือว่าลดการเดินทางมายังโรงพยาบาลได้ค่อนข้างดี และลดความเสี่ยงด้วย ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการที่กรุงเทพฯ ไปเมื่อ 8 เมษายน ก็มีผู้เริ่มใช้บริการมากถึง 30,000-40,000 ราย จากเริ่มต้นวันแรกที่มีคนเข้ามาขอรับการคัดกรองประมาณ 200 เคส


"ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการเตรียมแพทย์รองรับให้เพียงพอ เพื่อการดำเนินการที่คาดว่าในอีก 2 อาทิตย์จะพร้อมให้บริการ 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ถือว่าเป็นการช่วยเสริมกำลังของหน่วยงานรัฐในการรับสายฮอตไลน์ ที่มีผู้ต้องการโทรเข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับโควิด-19 อีกกว่า 3,000 คนที่อาจไม่ได้รับสายอีกด้วย" นายนีลกล่าว

 

Shares:
QR Code :
QR Code