ขยายพื้นที่ “สวนผักคนเมือง อาหารปลอดภัย”
ชีวิตนเมืองที่ต้องเร่งรีบ ทุกสิ่งอย่างต้องตื่นตัว จนหลงลืมการดูแลตัวเอง เพราะแต่ละวันคิดแต่เรื่องการทำมาหากิน วางแผนการเดินทาง คิดแต่เรื่องงาน จนเมื่อกลับถึงบ้านก็ไม่มีเวลาทำอาหารกิน จนกลายเป็นแม่บ้านถุงพลาสติก คือซื้อกับข้าวจากร้านค้า หรือปากซอยก่อนเข้าบ้าน หรือต้องกินอาหารจานด่วน หรือแม้แต่ข้าวกล่องที่มีขายอยู่ตามร้านสะดวกซื้อ
สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณภาพชีวิตติดอยู่ในกับดักของการซื้ออาหารตามความสะดวก และการกินที่บางทีลืมนึกถึงว่ามีประโยชน์หรือไม่ จนทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบกินผัก เมื่อผู้ปกครองหลงลืมในเรื่องเหล่านี้ เพราะชีวิตอยู่กับความเร่งรีบ การจะกินอาหารสักมื้อก็เหนื่อยเกินกว่าจะต้องมาคิดว่ามีผลดีหรือเสียต่อสุขภาพอนามัยหรือไม่
“สสส.ในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพอนามัย จึงได้ผนึกกำลังกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน-ไบโอเทค” พร้อมด้วยโรงเรียนและชุมชน เพื่อสร้างพื้นที่คนทำเกษตรในเมือง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนกินผัก อาหารปลอดสารพิษ ด้วยการทำ “สวนผักคนเมือง ลดเสี่ยงอาหารไม่ปลอดภัย” จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ล่าสุดได้ขยายพื้นที่ครอบคลุม 100 กว่าพื้นที่ 3 ภาค พร้อมส่งตรงองค์ความรู้ถึงประชาชนกว่า 3.5 แสนคน
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สสส. ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และภาคีเครือข่าย ได้จัดทำ 2 โครงการ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและเยาวชนกินผัก อาหารปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียวและขยายการทำเกษตรในเมือง ได้แก่ 1.โครงการสวนผักคนเมือง ที่ชุมชนอ่อนนุช 40 ไร่ และ 2.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 5 โรงเรียนวัดลาดบัวขาว
โครงการสวนผักคนเมือง ดำเนินการมา 3 ปีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ปริมณฑล ชุมชนเมืองในจังหวัดภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก รวม 96 พื้นที่ มีศูนย์อบรม 7 แห่ง ซึ่งมีผู้สนใจเข้าอบรมกว่า 1,000 คน และนำไปขยายผลทำเกษตรในเมืองกว่า 3,000 คน ในจำนวนนี้นำความรู้จากการอบรมไปปฏิบัติจริงกว่า 60% ขณะเดียวกันได้ขยายแนวคิดผ่านโซเชียลมีเดีย และจัดกิจกรรมต่างๆ สามารถสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรในเมืองให้แก่ประชาชนได้มากกว่า 350,000 คนแล้ว
ส่วนโครงการนำร่องอาหารปลอดภัยฯ ในโรงเรียน ดำเนินการตั้งแต่ต้นปีนี้ ครอบคลุม 32 โรงเรียน ใน 6 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ 1.เชียงใหม่ 5 โรงเรียน 2.เชียงราย 5 โรงเรียน 3.นครสวรรค์/อุทัยธานี 5 โรงเรียน 4.นครราชสีมา 5 โรงเรียน 5.ฉะเชิงเทรา/นครนายก 5 โรงเรียน และ 6.กทม. 7 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัดขุมทอง โรงเรียนวัดพิชัย โรงเรียนแดงเป้า (สิงสุขบูรณะ) โรงเรียนสุเหร่าใหม่ โรงเรียนสุเหร่าศาลาลอย โรงเรียนศาลาคู้ และโรงเรียนวัดลาดบัวขาว
นายพีรธร เสนีย์วงศ์ ที่ปรึกษากลุ่มโครงการสวนผักคนเมือง ชุมชนอ่อนนุช 40 ไร่ กล่าวว่า หลังย้ายที่อยู่อาศัยจากใต้สะพานมาอยู่บริเวณอ่อนนุช พบว่ามีที่ว่าง 92 ตารางวา จึงร่วมกันกับชาวบ้านปลูกผัก เช่น ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือน และต่อมาได้เพิ่มการเลี้ยงปลา หมู และไก่ด้วย โดยชาวชุมชนประมาณ 80 ครอบครัว มีส่วนร่วมในการดูแลด้วย ส่วนผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดไม่ได้ขาย แต่ให้ชาวบ้านนำขยะ 1 ถุงมาแลกผัก หรือเนื้อสัตว์ที่เพียงพอต่อการบริโภค และคณะกรรมการโครงการจะนำขยะไปขายต่อ เพื่อเป็นทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์ และจัดการโครงการให้ยั่งยืน
ด้าน นางกัลยา หลำเพชร หัวหน้าโครงการนำร่องอาหารปลอดภัย โรงเรียนวัดลาดบัวขาว สำนักงานเขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการนี้เน้นส่งเสริมให้นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความรู้ และลงมือปฏิบัติจริง โดยยึดหลัก “ปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก และทำในสิ่งที่ใช้ ใช้ในสิ่งที่ทำ” โดยทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ปลูกพืชผักสวนครัว และพืชสมุนไพรโดยไม่ใช้สารเคมี เช่น คะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง มะรุม ผักหวาน และมะละกอ ฯลฯ
นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการเป็นนักเรียนระดับชั้นป.4-ป.5 สลับหมุนเวียนกันรับผิดชอบดูแลการทำแปลงผัก รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ ผลผลิตที่ได้นำมาประกอบอาหารกลางวันให้นักเรียน และหากมีผลผลิตมากเกินการใช้ภายในโรงเรียน นักเรียนจะนำไปจำหน่ายราคาถูก ซึ่งนักเรียนมักจะซื้อกลับบ้านฝากผู้ปกครอง เพราะภาคภูมิใจว่าเป็นผักที่ปลูกและดูแลรักษาด้วยตนเองจนได้ผักปลอดสารพิษ
นอกจากนี้มีกิจกรรมนักโภชนากรน้อย ส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคผักและผลไม้ให้แก่นักเรียนในโรงเรียน อาทิ การประกวดทำสลัดผัก แข่งขันทำส้มตำลีลา การพูดเสียงตามสายและประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เห็นคุณค่าของผักผลไม้และประโยชน์ที่นักเรียนจะได้รับ
รวมทั้งกิจกรรม อย.น้อย โดยจัดกิจกรรมการตรวจสอบการประกอบอาหารภายในโรงเรียน โดยให้นักเรียนเป็นหมออาหารทำการตรวจสอบสารปนเปื้อนวัสดุและอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร โดยมีชุดตรวจสอบหาเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอันตรายกับนักเรียน จากการประเมินผลพบว่า สามารถกระตุ้นให้นักเรียนสนใจรับประทานผักและผลไม้มากขึ้น รวมถึงทำให้นักเรียนรู้จักการเลือกรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ สะอาด ปลอดภัย และเป็นประโยชน์ ทำให้มีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก