ขยายทีม“ผู้ก่อการดี” ป้องกันการจมน้ำ

 ที่มา: กรมควบคุมโรค


ขยายทีม“ผู้ก่อการดี” ป้องกันการจมน้ำ thaihealth


แฟ้มภาพ


กระทรวงสาธารณสุข จัดเวทีมอบโล่รางวัลของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้แก่ทีมผู้ก่อการดีป้องกันการจมน้ำ (ระดับประเทศ) ประจำปี 2561  พร้อมเผย 4 ปีที่ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ทั่วประเทศมีทีมผู้ก่อการดี กว่า 3,400 ทีมแล้ว เด็กได้เรียนว่ายน้ำกว่า 5.7 แสนคน และในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา การเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็ก ลดลงกว่าร้อยละ 50


          นายแพทย์สุวรรณชัยวัฒนายิ่งเจริญชัยอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนา Merit Maker…Drown No More 2018 “สานพลังผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ” และเป็นตัวแทนมอบโล่รางวัลระดับประเทศ แก่ทีมที่ได้รับรางวัลผู้ก่อการดีป้องกันการจมน้ำประเภทต่างๆ ประจำปี 2561


           นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งสูงมากกว่าทุกสาเหตุทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ  กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายดำเนินมาตรการต่างๆ มาตั้งแต่ปลายปี 2549  โดยพบว่าแนวโน้มการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กลดลงอย่างต่อเนื่อง     จนสามารถทำให้การเสียชีวิตลดลงกว่าร้อยละ 50 ในช่วง 11 ปี (ปี 2549 จมน้ำเฉลี่ย 1,500 คน และปี 2560 จมน้ำ 717 คน)


           ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้เรื่องนี้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข (ปี 2560-2564) โดยตั้งเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้ลดลงเหลือ 3.0 ต่อประชากรเด็กแสนคน (ประมาณ 360 คน) ในปี 2564 ซึ่งปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของเด็กอยู่ที่ 6.3 (717 คน)  และเพื่อให้การจมน้ำของเด็กลดลงตามเป้าหมายที่กำหนด เครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วนจึงต้องดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในทุกพื้นที่ โดยใช้กลยุทธ์หลักคือการสร้างทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558


           นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ทีมผู้ก่อการดี (Merit Maker) เป็นการดำเนินการร่วมกันกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน จิตอาสา โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมดำเนินการป้องกันการจมน้ำแบบสหสาขา ต่อเนื่อง และครอบคลุมในทุกมาตรการ รวมทั้งใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ โดยยุทธศาสตร์การสร้างทีมผู้ก่อการดีของประเทศไทย นั้น ทางองค์การอนามัยโลกได้ให้การยอมรับและได้เชิญชวนให้นานาประเทศรวมทั้งสื่อมวลชนจากประเทศต่างๆ เข้ามาร่วมศึกษาดูงานในการประชุมระดับโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา


 


           โดย 4 ปีที่ดำเนินการมา (ปี 2558-2561) เกิดทีมผู้ก่อการดี 3,484 ทีม ครอบคลุม 688 อำเภอใน 76 จังหวัด   ส่วนประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ มีทั้งการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กดำเนินการเพื่อป้องกันการจมน้ำ สถานบริการสาธารณสุข/ชุมชน/โรงเรียนมีการให้ความรู้แก่ประชาชนและเด็กในพื้นที่  นอกจากนี้ ยังเกิดวิทยากรสอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 26,596 คน มีเด็กอายุ 6-14 ปีได้เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 578,187 คน และคนในชุมชนได้ฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) 267,536 คน อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้เกิดผลต่อการลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุด ควรมีการสร้างทีมผู้ก่อการดีเพื่อดำเนินงานป้องกันการจมน้ำในทุกตำบลหรือทุกหมู่บ้าน


          ในการสัมมนาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากทั่วประเทศประมาณ 500 คน ประกอบด้วย ผู้เข้ารับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ ผู้แทนจากหน่วยงานภาคสาธารณสุข ภาคท้องถิ่น ภาคการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และจิตอาสา  โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1.เพื่อมอบรางวัลให้แก่ทีมผู้ก่อการดี เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่เครือข่าย 2.เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ และ 3.เพื่อขอบคุณเครือข่ายที่ร่วมจัด Field Visit เรื่อง MERIT MAKER ในการประชุมระดับโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561   ณ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญและผู้สื่อข่าวเข้าร่วมงาน 21 คนจาก 12 ประเทศ


          สำหรับพิธีมอบโล่รางวัลแก่ทีมผู้ก่อการดี ระดับประเทศ ประจำปี 2561 จำนวน 58 รางวัล ทั้งประเภทประกวดและคัดเลือก โดยทีมผู้ก่อการดี ระดับทอง 6 รางวัล ได้รับโล่รางวัลของท่านนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) และทีมผู้ก่อการดี ประเภทต่างๆ อีก 52 รางวัล ได้รับโล่รางวัลของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร)  นอกจากนั้น ในปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ได้มอบรางวัลหนึ่งทศวรรษของการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ (DADPA: A Decade of Action for Drowning Prevention Award) ให้แก่เครือข่ายที่มีการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี จำนวน 5 รางวัล สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Shares:
QR Code :
QR Code